เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้ google analytics ที่จะต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของ account เพราะหากไม่เข้าใจแล้วอาจจะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่นการให้สิทธิ์ (permission) ที่ผิดพลาด ทำให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลที่ไม่อนุญาติได้ ดังนั้นบทความนี้จะนำเรื่องโครงสร้าง account มาอธิบายให้เข้าใจกันได้ดีมากยิ่งขี้น ก่อนจะอ่านต่อไป ถ้าใครยังไม่มี analytics account ขอให้เข้าไปสร้าง account ที่นี่ก่อนนะครับ http://www.google.com/analytics
โครงสร้างหลักของ analytics account แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
- Account
- Property
- View
ซึ่งในแต่ละส่วนของโครงสร้างจะมีส่วนจัดการ user permissions อยู่ด้วยดังรูป
Account
เป็นโครงสร้างระดับบนสุดของ Google Analytics ใช้เพื่อแบ่งแยกการทำ Analytics ในระดับธุรกิจ โดยมากนิยมแบ่งตามบริษัท ซึ่ง account สามารถมีได้มากกว่า 1 account และภายใต้ account จะต้องระบุ Property ที่ต้องการจะ track ข้อมูล
Property
เป็นโครงสร้างระดับรองลงมาจาก Account ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ Account อีกที Property นั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างเพราะเป็นส่วนที่จะระบุรหัสเฉพาะ (Tracking ID) ของแต่ละเว็บไซต์หรือโมบายล์แอปพลิเคชั่นเพื่อที่จะนำไปใช้เก็บข้อมูลเพื่อนำมาออกรีพอร์ทผ่าน View ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น Account ของบริษัท ABC อาจจะมีได้ 2 properties คือ Website และ Mobile app ซึ่งแต่ละ property จะมี Tracking id คนละหมายเลขเพื่อให้กูเกิ้ล track ข้อมูลแยกออกจากกัน หลังจากมีการเซ็ต property แล้ว Google Analytics จะสร้าง view ขึ้นมา view หนึ่งโดยอัติโนมัติ โดยที่เรายังสามารถสร้าง view เพิ่มเติมได้อีกตามความต้องการ
View
เป็นโครงสร้างระดับสุดท้ายของ Google Analytics ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้แสดงข้อมูลและรีพอร์ทของแต่ละ property โดยปกติ View จะถูกสร้างโดยอัติโนมัติมาพร้อมกับต้องสร้าง Property ให้ 1 view แต่ตามคำแนะนำของ Google แล้วอย่างน้อยที่สุดเราควรจะต้องมี 3 view ดังนี้คือ
- Unfiltered view สามารถใช้ view ที่ระบบสร้างขึ้นอัติโนมัติได้เลย view นี้ใช้เป็น backup เผื่อกรณีฉุกเฉิน
- Master view เป็น view ที่เราต้องสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น view หลักในการเข้าดู report ต่างๆ
- Test view เป็น view ที่เราสร้างขึ้นสำหรับใช้เทสต์การสร้าง filter ต่างๆ ก่อนจะนำไปใช้ใน master view เนื่องจากว่าเมื่อ google analytics ทำการประมวลผล(processing)แล้ว ข้อมูลที่ได้จะไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้แล้ว จึงจำเป็นต้องทำการทดสอบก่อนใช้งานจริง
แต่ทั้ง 3 views ที่กล่าวมานั้นถือว่ายังไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพของ view อย่างเต็มที่ ซึ่งที่จริงแล้ว view มีประโยชน์มากกว่านั้นมาก หากเราเข้าใจการใช้งาน filter ใน view ด้วย ตัวอย่างเช่น เราสามารถสร้าง view เพื่อแยกข้อมูลตาม traffic ที่มาจากประเทศต่างๆ ได้ โดยที่ view ของแต่ละประเทศ เราจะให้สิทธิ์แก่พนักงานขายที่ดูแลยอดขายของประเทศนั้นๆ เท่านั้น พนักงานขายแต่ละคนจะไม่สามารถเห็นข้อมูลและยอดขายของประเทศอื่นได้ เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การสร้าง view โดยแบ่งตาม traffic channel เพื่อให้การดู report ง่ายขึ้น เช่นการสร้าง view เพื่อดูข้อมูลเฉพาะส่วนที่มากจาก social network เป็นต้น
ส่วนเรื่องการให้สิทธิ์ (permission) แก่บุคคลอื่น สามารถให้ได้ที่ระดับ account, property หรือ view ก็ได้ หากให้ที่ระดับ property ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุก view ภายใต้ property นั้น แต่หากให้ที่ระดับ account ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุก property และทุก view ภายใต้ account นั้น ดังนั้นแล้วควรพิจารณาให้ดีก่อนการให้สิทธิ์บุคคลอื่น ถ้าจะให้ดูข้อมูลแค่บางส่วน แนะนำว่าควรให้สิทธิ์ที่ระดับ view เท่านั้น เพราะจะสามารถเข้าถึงได้แค่ view นั้น view เดียวไม่สามารถเข้าถึง view อื่นได้ ในระดับของสิทธิ์ยังสามารถระบุได้อีกว่าให้สามารถแก้ไขจัดการได้หรือให้แค่ดูข้อมูลอย่างเดียว ตรงนี้แล้วแต่วัตถุประสงค์ครับ สามารถเลือกให้ได้ตามความเหมาะสม
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจโครงสร้างของ google analytics account มากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างถูกต้องเหมาะสมนะครับ 🙂