3 เหตุผลหลักที่นักการตลาดยุคนี้ควรจะต้องเป็นนักสถิติด้วย
ขยายความสักเล็กน้อยนะครับ การเป็นนักสถิติในที่นี้หมายถึง ควรจะต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องเหมาะสม และนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงแคมเปญทั้งที่กำลังรันอยู่ หรือรันจบแล้วเพื่อที่จะสามารถนำไปปรับปรุงแคมเปญถัดไป ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ว่ากันด้วยเรื่องของตัวเลขล้วนๆ ใครที่ไม่ชอบตัวเลขคงต้องพยายามชอบให้มากขึ้นนะครับ 🙂
- เหตุผลแรก การทำการตลาดที่ดีควรจะต้องมีข้อมูลสถิติที่ผ่านมา มาช่วยในการตัดสินใจ และกำหนดกลยุทธ์สำหรับแผนการตลาดใหม่ๆ ไม่ใช่การทำแบบลองสุ่ม เดาสุ่มหรือใช้ความรู้สึก ยกตัวอย่างเช่น
- หากได้รับโจทย์ให้ทำ mobile application ขึ้นมาสัก app หนึ่ง คำถามคือจะทำ app สำหรับ iOS หรือ andriod ? หรือทำมันทั้งสองอย่าง? คำตอบก็คือ ทำไมเราไม่เข้าไปดูข้อมูลใน google analytics ล่ะ ว่าที่ผ่านมา คนที่เข้าเว็บไซต์ของเราเข้าผ่านมือถือระบบปฏิบัติการ iOS หรือ andriod มากกว่ากัน และมากพอที่จะลงทุนทำหรือไม่ (ถ้าเงินเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ)
- การส่ง EDM ฉบับไหน content ลักษณะใด วันไหน ดีไซน์แบบไหน ให้ goal conversion ที่ดีกว่ากัน (goal convesrion อาจจะเป็น sale, traffic หรือ register เป็นต้น) การมีข้อมูลเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจจะช่วยให้การยิง EDM แต่ละครั้งมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ส่งพร่ำเพรื่อจนเกิดความรำคาญ
- เหตุผลที่สอง การมอนิเตอร์แคมเปญที่กำลังดำเนินอยู่ จะช่วยให้ปรับแผนงานได้ทันท่วงทีหากว่าแคมเปญไม่เป็นไปตาม KPI ที่ตั้งไว้
- สำหรับ online media การปรับเปลี่ยนจะทำได้ง่าย เช่นการซื้อโฆษณาออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น facebook ad, google adwords และ banner ในเว็บไซต์ต่างๆ หากการมอนิเตอร์พบว่า ctr ต่ำ, จำนวนคนที่คลิ้กเข้าเว็บไซต์น้อยลง หรือ คลิ้กแล้วไม่ converse เป็น sale หรือ goal ที่ตั้งไว้ อาจจะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เช่น ปรับเปลี่ยนดีไซน์แบนเนอร์, ปรับเปลี่ยนคำโฆษณา, ปรับ landing page หรือกระทั่งปิดแคมเปญนั้นไปเลยแล้วสร้างแคมเปญใหม่ ซึ่งหากเป็นสื่อโฆษณาในแม็กกาซีนย่อมไม่สามารถทำได้
- แล้วการมอนิเตอร์สื่อ offline media ด้วย online marketing tool ล่ะทำได้อย่างไร? จริงๆ แล้วทุกวันมีเครื่องมือที่เรียกว่า social monitoring อยู่มากมายให้ใช้ การที่เรารันแคมเปญผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือ POV ต่างๆ แน่นอนว่าเราต้องการให้คนรับรู้ และพูดถึง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรับรู้และพูดถึงนั้นเป็นไปในแง่บวก หรือแง่ลบ ซึ่ง tools ที่ว่านี้จะตามไปเก็บข้อมูลตามเว็บไซต์ social ต่างๆ เช่น facebook, pantip และเว็บบอร์ดหลักๆ ได้ว่ามีคนพูดถึงแคมเปญของเรามากน้อยแค่ไหน และพูดถึงในแง่ใด ซึ่งนอกจากจะทำให้เราวัดผลได้แล้ว ยังสามารถเข้าไปแก้ไขตอบปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
- เหตุผลสุดท้าย การวัดผลแคมเปญแต่ละแคมเปญว่าประสบความสำเร็จในแง่ ROI คุ้มค่ากับลงทุนหรือไม่ แคมเปญไหนเวิร์ค แคมเปญไหนไม่เวิร์ค ซึ่งหาก objective หรือ goal ของแคมเปญเป็น sale แล้วการวัดผลคงไม่ยากอะไร แต่หากเป็น traffic , register หรือ awareness แล้ว การจะวัดผลได้ต้องกำหนด value ให้แต่ละ goal conversion ยกตัวอย่างเช่น การ register ต่อ 1 คนมีมูลค่า (ในอนาคต) เท่าใด ซึ่งจะทำให้เราสามารถคำนวนหาค่า ROI ได้เมื่อแคมเปญจบลง ส่วนรายละเอียดวิธีการคำนวนหา Value of conversion ขอนำมากล่าวถึงอีกครั้งในบทความถัดไปนะครับ