Google Trends จัดเป็นหนึ่งในเครื่องมือฟรีที่ดีที่สุดสำหรับการรีเสิร์ซหาข้อมลแนวโน้มของตลาด และเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่คนส่วนใหญ่น่าจะต้องเคยใข้งานกันมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก ควรจะต้องทำความรู้จักอย่างจริงจังนะครับ ผมใส่ลิ้งค์ไว้ให้ในท้ายบทความนี้แล้ว แม้ว่าจะไม่ใช่เครื่องมือที่ให้ข้อมูลเชิงลึกจำนวนมากมาย แต่ด้วยข้อมูลง่ายๆ พื้นฐานที่ได้มานั้นนับมาเป็นประโยชน์อย่างสูงทีเดียว
ที่ต้องนำเรื่อง Google Trends มาเขียนซ้ำนั้นอีกครั้ง แม้ว่าจะเคยเขียนไปแล้วก็เพราะมีกรณีศึกษาน่าสนใจที่เป็นการนำข้อมูล Google Trends มาทำนายผลลัพธ์ในอนาคต (Prediction) ได้แม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อมาเล่าให้ฟัง เคสน่าสนใจนี้ผมได้ฟังจาก คุณบี๋ อริยะ พนมยงค์ ในช่วงคุณบี๋ที่ยังทำงานเป็น Country Head of Google Thailand มาพูดในงาน CEO Forum ของเครือ Central Group (ตอนนั้นผมเองก็ยังทำงานอยู่ใน Central Group) ซึ่ง Google Trends เป็นหนึ่งในสไลด์ที่น่าสนใจที่ผมรู้สึกว่ายังก็ต้องนำมาแชร์ให้ทุกๆ คนฟังกันต่อ โดยเฉพาะเรื่องของเทรนด์บนโลกออนไลน์ที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องโดยตรงกับเทรนด์ในโลกออฟไลน์ Case Study ที่ทาง Google นำมายกตัวอย่างน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ซึ่งก็คือเรื่องของการแข่งขันร้องเพลงในรายการ The voice Thailand season 3 มาดูกันครับว่า เราจะใช้ Google Trends เพื่อทำนายผลลัพธ์อย่างแม่นยำกันได้อย่างไร
กราฟด้านบนเป็นการแสดงจำนวนการค้นหาคำว่า หนุ่ม the voice, อิมเมจ the voice, บิว the voice และ บอม the voice ซึ่งที่ใช้สี่คำนี้ในการดูข้อมูล Google Trends นั้น เพราะทั้ง 4 ท่าน คือคนที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันในรอบสุดท้าย และเราก็ต้องการดึงข้อมูลทั้งหมดออกมาว่าตั้งแต่เริ่มซีซั่น คนสนใจของคนดูและทำการค้นหาชื่อของนักร้องทั้งสี่คนนี้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร
ทีนี้ก่อนที่จะวิเคราะห์กันต่อไป เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความถูกต้องมากขึ้น ผมจะเปลี่ยนจากข้อมูลการค้นหาแบบ Web Search เป็น Youtube Search แทน เนื่องจากคนที่ดูรายการ The Voice ถ้าชื่นชอบใครก็มักจะต้องไปค้นหาใน Youtube เพื่อดูรีรันเพลงของนักร้องคนโปรดมากกว่า วิธีง่ายๆ ที่ทำให้เราเปลี่ยนการดูข้อมูลการค้นหาบนแพลต์ฟอร์มต่างๆ ของ Google ก็คือ ให้ไปเลือ Youtube Search จาก Drop-down menu ตามภาพด้านล่างนี้ หลายคนอาจจะยังไม่เคยใช้ฟังชั่นนี้ซึ่งจริงๆ มีประโยชน์มาก เราสามารถเลือกเป็น Google Shopping, News Search หรือ Image Search ก็ได้เช่นกัน
ซึ่งพอเลือกเสร็จแล้วระบบก็จะพล็อตกราฟเทรนด์การค้นหาเฉพาะที่เกิดบน Youtube ออกมาเท่านั้น ซึ่งถ้าสังเกตแล้วก็พบว่า เทรนด์การค้นหาบน Youtube ก็ค่อนข้างจะสอดคล้องกับเทรนด์การค้นหาแบบ Web Search อยู่ค่อนข้างมาก
ถ้าใครได้ดู The Voice ซีซัน 3 และยังจำได้ จะเห็นว่ากราฟทั้ง 4 เส้น หนุ่ม(เส้นสีฟ้า) อิมเมจ(เส้นสีแดง) บิว(เส้นสีเหลือง) และ บอม(เส้นสีเขียว) น่าสนใจมากตรงที่เทรนด์การค้นหาใน Youtube สอดคล้องเทรนด์ความสนใจของฝั่งออฟไลน์มาก เพราะบิวและอิมเมจ นั้นเป็น 2 นักร้องที่มีกระแสมาแรงมากตั้งแต่เปิดซีซัน จนกระทั่งช่วงวันที่ 7 ธันวาคม เส้นกราฟของ บอม(เส้นสีเขียว) และหนุ่ม(เส้นสีฟ้า) เพิ่มขึ้นอย่ารวดเร็ว ซึ่งเป็นช่วงกลางซีซันที่ทั้งสองคนนี้มีการพัฒนาทั้งเรื่องการร้องและการแสดงได้ดีจนเกิดกระแสขึ้น โดยเฉพาะของหนุ่ม(เส้นสีฟ้า) ที่เป็นการโตแบบก้าวกระโดดมากหลังจากวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่เขาร้องเพลง “หลงตัวเอง” ของอนันต์ บุญนาค และทำให้เขาได้รับความสนใจอย่างสูง คราวนี้มาดูภาพถัดไปซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่าเดิม
ภาพนี้แสดงให้เห็นค่า Search Interesting Value ซึ่งคำนวณจากระบบของ Google Trends เห็นได้ว่าในวันที่ 13 ธันวาคม ก่อนการแข่งในรอบ Final 1 วัน ผลที่ออกมานั้นตรงกับผลโหวตและอันดับการแข่งขันในวันจริง! ซึ่งหนุ่ม(เส้นสีฟ้า) ได้อันดับที่ 1 อิมเมจ(เส้นสีแดง)ได้อันดับที่ 2 ส่วนบิว และบอมได้อันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ (ในส่วนของ บิวและบอม วันที่ 13 อาจจะมีตัวเลขคลาดเคลื่อนเล็กน้อย แต่ถ้าดูโดยรวมแล้ว ข้อมูลอันดับการค้นหาระหว่างวันที่ 7-13 ธค. ส่วนใหญ่ก็มีลำดับตรงกับผลการแข่งขันทั้งหมดเช่นกัน ข้อมูลวันที่ 14 ธค ผมไม่นำมาใช้นะครับ เพราะถือว่าส่วนหนึ่งเป็นการค้นหาหลังการแข่งจบลงซึ่งจะมีผลการค้นหาเพิ่มเติมแต่ไม่มีผลกับอันดับแล้ว) และสังเกตุเพิ่มเติมในส่วนกราฟแท่งด้านซ้ายมือนะครับ ส่วนนี้เป็นการแสดงค่าเฉลี่ยทั้งหมดในช่วงเวลาที่ดูกราฟ(ดูที่ความสูงของกราฟแท่งนะครับ แท่งไหนสูงแสดงว่ามีค่าเฉลี่ยสูง) ซึ่งค่าเฉลี่ยที่ได้ก็มีอันดับตรงกับผลการการแข่งขันในรอบชิงเช่นกัน
น่าสนใจใช่ไหมครับ อย่างที่บอกครับข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์นั้นไม่ได้ใช้แค่วิเคราะห์เทรนด์หรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เท่านั้น เพราะเราสามารถใช้คาดการณ์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นบนโลกออฟไลน์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจ ecommerce ที่เป็นโมเดลแบบ Brick & Click คือมีทั้งหน้าร้าน และเว็บไซต์ขายของ การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันจากทั้งออฟไลน์และออนไลน์จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น เพราะ Sales Conversion ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็น Online to Offline Conversion หรือ Offline to Online Conversion ก็ได้ เห็นด้วยไหมครับ 🙂
ใครยังไม่เคยใช้ Google Trends แนะนำให้อ่านบทความ Google Trends ที่ผมเคยเขียนไว้ตามลิงค์นี้นะครับ
Google Trends คืออะไร วิธีการวิเคราะห์ใช้งานสำหรับผู้เริ่มต้น
ใช้ Google Trends แบบมือโปร ฟีเจอร์ที่คนทั่วไปไม่เคยรู้
Happy Analytics! 🙂
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด