ใครที่เคยติดตั้ง Google Tag Manager แล้ว น่าจะทราบดีว่าเวลาติดตั้งจะมี script อยู่ 1 ชุดที่เราต้องนำไปไว้ในส่วนของ <body> แท็กบนหน้าเว็บไซต์ของเรา แต่เมื่อไม่นานนี้ทาง Google ได้มีการปรับ script เล็กน้อยจากเดิม 1 ชุด แยกออกมาเป็น 2 ชุด โดยที่ชุดแรกวางไว้ในส่วนของ <head> แท็ก และชุดที่สองวางไว้ในส่วนของ <body> tag แต่คำถามคืออยู่ดีๆ ทำไมถึงต้องมีการปรับสคริปท์ แล้วของเดิมที่ติดอยู่ไว้จะต้องทำอย่างไร มีอะไรที่ต้องแก้ไขหรือเปล่า บทความนี้มีคำตอบ

script แบบเก่าและใหม่ต่างกันอย่างไร
ไม่ต่างกันเลย ในส่วนของ scritp นั้นเป็นแค่เพียงเอาของเดิมมาแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วน <script> และ <noscript> ซึ่งแต่ก่อนแค่มันถูกรวมกันไว้ใน script เดียวเท่านั้นเอง ส่วนแรกตามกรอบสี่เหลี่ยมด้านบนคือส่วนที่ต้องติดไว้ใน <head> ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นสคริปท์หลักในการทำงาน ส่วนชุดที่สองตามกรอบสี่เหลี่ยมด้านล่างเป็นสคริปท์ที่ต้องติดตั้งไว้ในส่วน <body> แท็กและจะทำงานก็ต่อเมื่อเครื่องของยูสเซอร์ไม่อนุญาติให้รับ javascript (ซึ่งมีน้อยมาก) เอาจริงแล้ว ถ้าไม่ได้ซีเรียสกับกลุ่มยูสเซอร์ที่ไม่รัน javascript แล้วสคริปท์ชุดที่สองนี้จะไม่ติดตั้งก็ได้
เว็บที่ติด script แบบเก่าต้องทำอย่างไรบ้าง
ไม่ต้องทำอะไร เพราะอย่างที่บอกสคริปท์นั้นไม่ต่างกันเลย ยกเว้นเสียแต่กรณีที่เราใช้งาน Optimize Tool ซึ่งเป็นโปรดักส์อีกตัวหนึ่งของ Google กรณีนี้แนะนำว่าควรจะต้องใช้ script และวิธีการติดตั้งแบบใหม่นี้ เนื่องจากมันจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น ความเห็นส่วนตัวของผมแนะนำว่าถ้าปรับเป็นแบบใหม่ได้ก็ควรทำ สุดท้ายในอนาคตมันต้องมีเหตุจำเป็นให้ต้องทำอยู่แล้วละครับ
ถ้าติดตั้งแบบเก่าอยู่ อยากจะทำการอัพเดทการติดตั้ง Google Tag Manager เป็นแบบใหม่จะทำได้ไหม
ทำได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังไว้คือ เมื่อเราติดตั้งแบบใหม่ script หลักจะถูกย้ายไปไว้ในส่วน <head> (แบบเก่าจะอยู่ในส่วน Body) หากเราได้เคยทำเรื่องของ data layer ไว้ก่อนแล้ว เราจะต้องย้ายสคริปท์ส่วนที่เป็น data layer นั้นขึ้นมาด้วย และที่สำคัญคือต้องวางไว้ก่อน script หลักอีกที
ใครที่อ่านบทความนี้แต่ยังไม่เคยติดตั้ง Google Tag Manager อ่านวิธีการได้ที่ วิธีการติดตั้ง Google Tag Manager อย่างถูกต้อง เข้าใจง่าย ทำได้เอง
Happy Analytics 🙂