เปลี่ยนเว็บไซต์ HTTP เป็น HTTPS มีเรื่องอะไรบ้างที่คนทำ SEO ต้องระวัง

https-and-seo

บทความที่แล้วพูดถึงเรื่องที่ Google พยายามบอกให้ทุกเว็บไซต์เปลี่ยนจาก HTTP เป็น HTTPS เว็บไซต์ เพราะไม่เช่นนั้นใน Chrome เวอร์ชั่น 56 ขึ้นไปจะแสดงคำว่า “Not Secure” บน URL bar ในหน้าที่มีการส่งข้อมูลออก ซึ่งตอนนี้หลังจากที่ผมลองอัพเดท Chrome (Version 56.0.2924.87) ปรากฎว่าเป็นไปตามคำมั่นสัญญาจริงๆ ครับ “Not Secure” ขึ้นทันทีกับหน้า Login และหลายบทความทั้งไทยและเทศกล่าวทำนองเดียวกันว่าในอนาคต “Not Secure” จะถูกใช้กับทุกๆ หน้าที่ไม่เป็น HTTPS และที่สำคัญอาจจะขึ้นเป็นตัวอักษรสีแดงกันเลยทีเดียว (ตอนนี้สีเทา)

เชื่อว่าหลายๆ เว็บไซต์ที่ยังไม่ได้เป็น HTTPS คงเริ่มมีแผนในเรื่องนี้กันแล้ว ซึ่งเว็บที่ผมเป็น consult ให้นั้นก็กำลังจะเริ่มทำเรื่องนี้เช่นกัน ก็เลยต้องพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการทำงานและถือโอกาสนำข้อมูลที่น่าสนใจมาแชร์ไว้ในบล็อกนี้ด้วย ซึ่งปัญหาที่พบคือ การทำ HTTPS นั้นไม่ใช่แค่ว่าเปลี่ยนเสร็จแล้วจบงานกันไป เพราะการเปลี่ยน HTTPS นั้นมีผลกระทบและเกี่ยวพันกับการทำ SEO อยู่ในหลายๆ ประเด็น บทความนี้จึงขอสรุปเรื่องที่ต้องทำหลังจากมีการเปลี่ยนเป็น HTTPS แล้ว เพื่อให้คนที่ทำ SEO ได้อ่านไว้เป็นแนวทางการทำงานต่อไป

ก่อนจะมาว่ากันถึงสิ่งที่ต้องทำ อย่างแรกที่ควรต้องเข้าใจและถือว่าเป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ หน้าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเดียวกัน แต่เข้าได้ทั้ง HTTP และ HTTPS นั้น Google มองว่าเป็นคนละหน้า และมันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า Duplicated Content ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการทำ SEO และเรื่องนี้ก็ไปเกี่ยวโยงกับอีกหลายเรื่องซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่คนทำ SEO มีความจำเป็นต้องเข้าไปแก้ไขให้เรียบร้อย

เรื่องที่ต้องตรวจสอบแก้ไขเมื่อมีการเปลี่ยนเว็บไซต์เป็น HTTPS

  1. แก้ไข Internal Link ทั้งหมดบนเว็บไซต์
    สิ่งที่ต้องทำสำหรับเรื่องนี้คือการตรวจสอบลิงค์ทุกลิงค์บนทุกหน้าเว็บไซต์ แล้วทำการเปลี่ยน http เป็น https ทั้งหมด (กรณีที่ลิงค์นั้นเป็น absolute url) เพราะหากไม่เปลี่ยนแล้วจะเกิด duplicated content อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
  2. แก้ไข Canonical Tag
    สำหรับข้อนี้ จริงๆ แล้วไม่ต่างจากในข้อแรกนัก วิธีการก็ทำเช่นเดียวกันคือเปลี่ยน http ใน canonical tag ให้เป็น https เท่านั้นเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ Google ไม่เกิดความสับสนในการจัดทำ index
  3. การทำ  301 redirect
    เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องทำเพื่อที่จะส่งลิงค์ที่เชื่อมโยงจากภายนอกที่ยังชี้มาหน้าที่เป็น http ให้ไปที่หน้า https แทน และเป็นการแจ้งให้ Google ทำการจัดเก็บหน้าที่เป็น https แทนหน้าเดิม
  4. สร้าง property ใหม่ใน Google Search Console
    Google แนะนำว่าควรจะต้องสร้าง Property ใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่ง Property สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซต์ที่เป็น https โดยเฉพาะ
  5. อัพเดท Sitemaps ใน Google Search Console
    ให้ทำการอัพเดทไฟล์ Sitemaps ใหม่ในเวอร์ชั่น https รวมไปถึงการอัพเดทไฟล์ sitemap ใน Robots.txt ไฟล์ด้วย
  6. แก้ไข Default URL ใน Google Analytics
    การแก้ไข Default URL จะอยู่ในส่วนของ Property Setting ภายใต้ส่วน Admin โดยให้ทำการเปลี่ยนจาก http เป็น https
  7. อัพเดท Social Share Count
    ปกติการเปลี่ยนแปลง URL จะส่งผลให้พวกตัวเลข Social Share Count อย่าง Facebook Share หายไป ซึ่งถ้าต้องการจะเก็บตัวเลขเหล่านั้นไว้ แนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Social Network แต่ละแพลตฟอร์ม
  8. อัพเดท URL ทั้งหมดที่ใช้ในการทำ Advertising และ Marketing
    ให้เปลี่ยนไปใช้ https กับ URL ทั้งหมดในใช้กับการซื้อโฆษณา เช่น Google Adwords, Facebook Ads และ Publisher ต่างๆ รวมถึง email marketing ที่ทำด้วย
  9. อัพเดท Tools ต่างๆ ที่ใช้กับเว็บไซต์ทั้งหมด
    อย่าลืมที่จะตรวจสอบเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้กับเว็บไซต์ เช่น A/B testing tools, Heat map tools และอื่นๆ ว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไข URL ให้เป็น https หรือไม่

Happy Optimaization

Leave a Reply