เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เชื่อว่าทุกเว็บไซต์ต้องมีแผนในการออกแบบเว็บใหม่ทั้งหมด หรือไม่ก็ Redesign บางส่วนบางหน้าเพื่อให้สวยงามและใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น เกริ่นก่อนว่าบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงกระบวนการขั้นตอนออกแบบ การทำ User Research การออกแบบ UX/UI แต่จะเป็นการกล่าวถึงการนำข้อมูลจาก Google Analytics มาเป็นตัวตั้งต้นในการใช้ทำ Brief ให้กับทีม in-house desginer หรือเอเจนซี่ เพื่อนำไปทำงานต่อได้ในขั้นตอนการทำงานที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น
หลายคนอาจจะไม่เคยคิดว่าจะออกแบบเว็บใหม่ต้องใช้ข้อมูลจาก GA ด้วยหรือ ก็แค่ Brief ตามความต้องการไปเท่านั้น Desginer ก็ทำต่อได้แล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมากๆ เพราะหลายครั้งข้อมูลจาก Google Analytics มักจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Quick Win Solution อยู่เสมอ เพียงแต่เราไม่เคยตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบจากข้อมูลที่ Google Analytics ให้มากันนั่นเองแหละครับ มาลองดูตัวอย่างกัน
ควรจะให้ความสำคัญก่อนหลังอย่างไรดีกับหน้าจอ Desktop Tablet และ Mobile?
ถ้าเอาตามความเป็นจริงแล้วก็ต้องพูดว่าสำคัญทุกหน้าจอ เพราะพฤติกรรมของ User จะเป็น Cross-device คือสลับใช้งานไปมา แต่หากต้องจัดลำดับความสำคัญแล้ว Google Analytics มีรีพอร์ทที่สามารถบอกได้ว่า Device ไหนที่ถูกใช้งานเข้าเว็บไซต์มากที่สุด (Session สูงสุด) และสร้างยอดขายให้สูงที่สุด (Revenue สูงสุด) โดยสามารถเข้าได้ตามนี้
Audience>Mobile>Overview
รีพอร์ทนี้จะแสดงข้อมูลของ Device Category โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ Desktop Tablet และ Mobile จากรูปนี้จะเห็นว่ามีการใช้ Desktop อยู่ประมาณ 60% และสร้างยอดเกือบจะ 100% จากยอดขายทั้งหมด ข้อมูลนี้ช่วยย้ำให้เราต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบบนหน้าจอ Desktop ให้มากเป็นพิเศษนั่นเอง จริงไหมครับ คำถามถัดไปคือ
หน้าจอ Desktop ก็มีตั้งหลายขนาด แล้วควรให้ความสำคัญที่ขนาดความกว้างหน้าจอที่เท่าไรดี?
คำถามนี้สามารถหาคำตอบได้จากรีพอร์ทนี้ Audience>Technology>Browser & OS แล้วเลือกที่ dimension > screen resolution
จากภาพก็จะเห็นว่าขนาดหน้าจอ Desktop ที่เข้าใช้งานเว็บไซต์ของเรามีขนาดอะไรบ้างเรียงตามปริมาณการใช้งาน ข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในขั้นตอนของกระบวนการออกแบบ รวมไปถึงขั้นการในการ UAT หรือเรียกง่ายๆว่าขั้นตอนการตรวจสอบใช้งานของยูสเซอร์ หมายความว่าเวลาจะทดสอบก็ให้ใช้ขนาดหน้าจอต่างๆ ในการทดสอบก่อนปล่อยใช้งานจริงกับยูสเซอร์ทั่วไป จากตัวอย่างขนาดหน้าจอ Desktop 1366 x 768 เป็นความละเอียดหน้าจอที่ใช้งานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งนั่นเอง
ถ้าต้องการปรับเปลี่ยนบางหน้าของเว็บไซต์จะเลือกปรับหน้าไหนก่อนดี?
มาดูกันที่หน้านี้ครับ Behaviour > Site Content > All Pages รีพอร์ท All pages นี้จะเป็นรีพอร์ที่แสดงลิสต์ชื่อหน้าเว็บไซต์ที่ถูกเรียกดูทั้งหมดในช่วงเวลาหนึ่ง หน้าที่มี Pageviews สูงที่สุดคือหน้าที่มีการเข้าชมสูงสุดนั่นเอง
ดังนั้นแล้วสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในขั้นตอนการออกแบบหรือรีดีไซน์ก็คือหน้าที่มีคนเข้าดูเยอะๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำ Wireframe Design การใช้งาน รวมไปถึงการทำข้อความ Call-to-action ต่างๆ เพราะถ้าหากเกิดความผิดพลาดอะไรกับนี้เหล่านี้ก็ย่อมจะส่งผลกระทบค่อนข้างสูงกว่าหน้าอื่นๆ
เมทริคหนึ่งที่สำคัญในรีพอร์ทนี้คือ Page Value (คอลัมน์สุดท้าย) หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับเมทริคนี้เลย แต่ย้ำตรงนี้ว่า เมทริคนี้เป็นอีกตัวหนึ่งที่สำคัญทีเดียว เพราะจะเป็นตัวเลขที่จะบอกเราให้รู้ว่าหน้าไหนมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าหน้าไหนมีมูลค่าสูงแสดงว่าหน้าๆ นั้นมีส่วนช่วยนำไปสู่ยอดขายได้ดีนั่นเอง (ขออนุญาติไม่กล่าวถึงวิธีคำนวนนะครับ) ดังนั้นแล้วนอกจากจะมองว่าหน้าๆ ไหนมีคนเข้าดูเยอะแล้ว อย่าลืมดูค่า Page Value ประกอบไปด้วยนะครับ เพราะบางทีหน้าที่มีมูลค่าสูงๆ อาจจะไม่ได้มี Session ที่สูงที่สุดก็ได้
Bonus : ถ้าจะทำ Mobile App ควรเริ่มที่อะไรก่อนดี IOS หรือ Android?
ปิดท้ายด้วยคำถามนี้สำหรับคนที่กำลังจะคิดทำ Mobile App ซึ่งราคาค่าทำก็ไม่ใช่จะถูกๆ เสียด้วย ถ้าจะเลือกทำสักหนึ่ง OS เนื่องด้วยงบประมาณที่จำกัด แนะนำให้เข้าไปดูข้อมูลที่รีพอร์ทนี้ Audience>Technology>Browser & OS แล้วเลือกที่ dimension > Operating System
ตามตัวอย่างนี้ก็จะเห็นว่ายูสเซอร์มีการใช้งาน Andriod มากกว่า iOS (แม้ว่าจะต่างกันไม่มากนักก็ตาม) การเลือกทำ Andriod ก่อนก็อาจจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมกว่าในช่วงเวลานี้
ปล. อย่าลืมดู Conversion Rate และ Revenue ประกอบด้วยนะครับ
สำหรับบทความนี้ขอยกตัวอย่างรีพอร์ทที่เราสามารถหาข้อมูลได้ง่ายๆ เท่านี้ก่อน ซึ่งก็น่าจะช่วยให้สามารถใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับงานออกแบบและรีดีไซน์เว็บไซต์ได้แล้วทั้งในขั้นตอนการออกแบบและตรวจสอบ ไว้บทความถัดๆ ไปจะเขียนเพิ่มเติมให้อีกทีนะครับ
Happy Analytics 🙂