Google Analytics ทำงานได้ใน Incognito Mode หรือเปล่า?

google-analytics-in-incognito-mode

คำถามชวนสงสัยนี้เป็นอีกคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ แล้วถ้ามีคนใช้ Incognito Mode เยอะๆ เราจะเชื่อตัวเลขใน GA ได้มากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าเปิดฟีเจอร์ DNT (do not track) ใน Chorme หรือ Browser ตัวอื่นๆ มีผลกับ Google Analytics อย่างไร บลา บลา บลา

จริงๆ แล้วส่วนตัวผมไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องนี้ เพราะเอาเข้าจริง ตัวเลขใน GA นั้น มันไม่มีทางถูกต้อง 100% อยู่แล้ว และการดู Data เพื่อทำงาน โดยเคสส่วนใหญ่เราก็มักจะดูกันเป็นเทรนด์ของคนกลุ่มใหญ่ มากกว่าที่จะดูระดับคนๆ เดียว และถึงแม้เคสนี้จะไม่ใช่เคสที่กระทบตัวเลขรีพอร์ทเท่าไรนัก แต่การเข้าใจเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนที่ใช้งาน Google Analytics ทุกคน แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ เราควรจะต้องเข้าใจการทำงานของ Google Analytics อย่างย่อๆ สักนิดนึงก่อน

Google Analytics ทำงานอย่างไร? (ย่อ)

Google Analytics เป็นจาวาสคริปต์ชุดหนึ่งที่ถูกติดตั้งบนเว็บไซต์ของเรา หลักการทำงานอย่างย่อๆ ของมันคือ เมื่อมีคนเข้าเว็บไซต์ จาวาสคริปต์นี้จะเขียนข้อมูลบางอย่างลงในเครื่องของคนที่เข้าเว็บไซต์ ซึ่งเราเรียกมันว่า “Cookie” หลังจากนั้นมันจะส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าดูและใช้งานเว็บไซต์ไปที่ Server ของ Google โดยมีการอ้างอิงข้อมูลใน Cookie ไปด้วยว่า แต่ละ action ที่เกิดขึ้น ใคร(Client ID)เป็นคนสร้างขึ้นมาเท่านี้เอง อันนี้เป็นขบวนการโดยย่อ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือ เครื่องของ User จะต้อง 1) Allow Cookie คือยอมให้มีการเขียนและอ่าน 2) enable javascript คือยอมให้รันจาวาสคริปต์ ซึ่งสองอย่างนี้เป็นความต้องการพื้นฐานสำหรับการ implement แบบปกติทั่วไป ถ้าขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง Google Analytics จะ Fail ในการส่งข้อมูลทันที !

หลายคนพอเข้าใจสิ่งที่กล่าวมาอยู่แล้วบ้าง แต่มักจะมีคำถามที่น่าสงสัยตามมาต่อว่า แล้วการเปิดเว็บไซต์ด้วย Private Mode หรือ Incognito Mode จะเกิดอะไรขึ้นกับการทำงานของ Google Analytics เพราะส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า Incognito Mode จะปกปิดทุกสิ่งที่เราทำบนหน้าเว็บนั้นได้ ซึ่ง…

เป็นความเข้าใจที่ผิด!

เปล่าเลย Private Mode ไม่ได้หมายความว่ามันจะส่วนตั๊ว ส่วนตัว ขนาดนั้น ต้องกล่าวว่าโดยมาก Private หรือ Incognito Mode นั้นสำหรับ End user ทั่วไปมักจะใช้เพื่อป้องกันเรื่องการ Track ข้อมูลไปใช้เพื่อทำโฆษณาพวก Remarketing มากกว่า รวมถึงไม่ให้ใครเห็น History การใช้งานใน Browser ย้ำ ใน browser เท่านั้น ดังนั้นใครแอบดูเว็บที่ไม่เหมาะสมในเวลางาน ถึงแม้จะดูด้วย Incognito Mode ก็ไม่รอดจากการถูกแทร็คของฝ่าย IT บริษัทนะครับ – -” และเรื่องถัดไปที่ต้องเข้าใจให้ถูกคือ

ใน Incognito Mode เมื่อเราออกจากเว็บไซต์แล้ว (Temporary) Cookie ที่สร้างขึ้นจะถูกเคลียร์ออกทุกครั้ง

Temporary Cookie นั้นจะเป็น cookie คนละตัวกับการเข้าเว็บไซต์ด้วย Normal Mode นั่นหมายความว่า ถ้าเราเข้าเว็บไซต์ Googleanalyticsthailand.com ด้วย Normal Mode เราก็จะมี Cookie ไฟล์หนึ่ง แล้วถ้าเราเข้าด้วย Incognito Mode เราก็จะได้ Temporary Cookie อีกไฟล์หนึ่ง ซึ่ง Temporary Cookie นี้จะถูกลบออกทันทีที่เราออกจากเว็บไซต์นั้น ส่วน Cookie ใน normal mode ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นอะไรที่บันทึก ที่เราถูกแทร็คไว้ก็จะยังอยู่ใน Cookie ของ Normal Mode เราก็ยังโดนโฆษณาแบบ Remarketing หลอนกันต่อไป กลับเข้าเรื่องต่อดีกว่า แล้ว Google Analytics ล่ะ ยังแทร็คข้อมูลใน Incognito Mode ได้ไหม?

Google Analytics ยังทำงานได้ตามปกติใน Incognito Mode

เพราะมันยังมี Temporary Cookie อยู่ แต่สิ่งที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ การใช้ Temporary Cookie นั้น GA จะสร้าง Client ID ใหม่ขึ้นมา โดยไม่อ้างอิง Client ID จาก Normal Mode ทำให้คนใช้ Incognito Mode จะเป็น New User ในรีพอร์ท GA ทันที แม้ว่าคนๆ นั้นจะเคยเข้าเว็บนั้นมาแล้วด้วย Normal Mode และส่ิงที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกคือ เมื่อเราออกจากเว็บนั้นไปแล้ว Temporary Cookie จะถูกลบทิ้งไป หลังจากนั้นถ้าเราเข้าเว็บนั้นด้วย Incognito Mode อีกครั้ง เราก็จะเป็น New User ใหม่อีกรอบ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นั่นเอง กล่าวโดยสรุปคือใน Incognito Mode Google Analytics ยังแทร็ค Sessions และ Events รวมถึง interaction อื่นได้ตามปกติ แต่ส่งที่กระทบกับข้อมูลในรีพอร์ทจะเป็นเรื่องของตัวเลขของ New Users นั่นเอง

อย่างที่บอกครับ เข้าใจที่มาที่ไป แต่อย่าไปซีเรียสกับมันจนเกินไปนะครับ

Happy Analytics 🙂

Leave a Reply