พูดถึงเครื่องมือ Google Trends ในวันนี้อาจจะฟังดูเชยไปเสียหน่อย เพราะคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยใช้งานกันมาบ้างแล้ว บทความแรกที่ผมเขียนเรื่อง Google Trends นั่นก็ต้องย้อนกลับไปปี 2015 เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามตลอดหลายปีมานี้ Google Trends ก็มีการปรับแต่งหน้าตา และเพิ่มเติมฟีเจอร์เล็กๆ น้อยๆ อยู่บ้าง ซึ่งก็มีฟีเจอร์หนึ่งที่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้กัน แต่สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ดีมากโดยเฉพาะกับคนที่ต้องทำ Marketing และทำโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ออกไปหลายๆ ประเทศ ที่จำเป็นจะต้องเข้าใจพฤติกรรมการค้นหา และความต้องการของคนในแต่ละประเทศ เพื่อให้การสื่อสารออกไปนั้นตรงกับเวลาที่เหมาะสมจริงๆ พูดง่ายๆ คือ ต่อให้เรา ทำ Targeting ไปตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำแล้ว (Right People) แต่ถ้าทำไม่ตรงกับช่วงเวลาที่ถูกต้องก็ย่อมจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก (Right Time) ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่า
คนในแต่ละประเทศมีพฤติกรรมการค้นหาคำบางคำที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมมุติเรามีโปรดักส์ใหม่เป็นพัดลมที่สามารถทำความเย็นได้เหมือนแอร์และมีราคาถูกกว่าแอร์ครึ่งหนึ่ง (ผมซื้อคนแรกเลย) เราต้องการขายสินค้านี้ออกไปหลายๆ ประเทศ เราก็เลยซื้อโฆษณาผ่าน Platform ต่างๆ ใช้งบการตลาดอย่างเต็มที่ ออกทุกสื่อที่มี โปรโมทออกไปพร้อมๆ กัน 20 ประเทศ คำถามคือ 20 ประเทศนี้อาจจะไม่ได้มีหน้าร้อนตรงกันสิครับ ถ้าเราโฆษณาออกไปที่ประเทศที่อากาศยังไม่ร้อน เราคิดว่าเขาจะสนใจหรือเปล่า? เรื่องนี้แหละครับ ที่เราต้องรู้ เพื่อให้การสื่อสารออกไปตรงกับเวลาที่เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งก็จะมีโอกาสช่วยให้เกิดการขายสินค้า เกิด Conversion ได้ง่ายกว่าจริงไหมครับ โอเค เข้าใจละ
แล้วจะใช้ Google Trends อย่างไรให้เข้าใจพฤติกรรมคนในแต่ละประเทศ
ง่ายที่สุดก็ทำไปทีละประเทศอย่างที่เราเคยทำกันมานั่นแหละครับ ใครยังไม่เคยใช้ Google Trends อ่านได้จากบทความ Google Trends คืออะไร วิธีการวิเคราะห์ใช้งานสำหรับผู้เริ่มต้น ตัวอย่างเช่นภาพด้านล่างนี้ เราอยากรู้ว่าคนค้นหาคำว่า Air Conditioner ในประเทศอินเดียมีแนวโน้มอย่างไร เราก็จะเห็นภาพกราฟที่ spike ขึ้นเป็นจังหวะซ้ำๆ ซึ่งเกิดขึ้นในหน้าร้อนของประเทศอินเดีย คือประมาณเดือน เมษายน
ทีนี้ถ้าเราอยากดูประเทศอื่นละ คนส่วนใหญ่ก็จะไปคลิ้กที่ dropdown ตรงคำว่า India เพื่อเลือกประเทศใหม่ถูกไหมครับ ก็ทำได้แหละครับ แต่นั่นยังดูไม่คูลเหมือนมือโปร อีกอย่างคือถ้าเราทำแบบนั้น เราจะไม่สามารถเปรียบเทียบสองประเทศหรือสามสี่ประเทศไปพร้อมกันได้ อ้าววว แล้วต้องทำยังไงละ? ก็ใส่ keyword ที่อยากรู้เข้าไปแล้ว เลือกประเทศก็เลือกได้ทีละประเทศไง จะให้ทำยังไง จริงๆ แล้วตรงช่องใส่ Search Term มันไม่ได้จำเป็นต้องใส่ Search Term ให้แตกต่างกันเหมือนที่เราเคยทำกันมาเวลาอยากเปรียบเทียบเทรนด์ของคำสองคำเสียหน่อยนี่ครับ ลองดูตามภาพตัวอย่างด้านล่างนี้
ให้ลองใส่คำว่า Air Conditioner ซ้ำเข้าไปอีกรอบหนึ่ง แต่สังเกตว่า กราฟเส้น น้ำเงินและแดงจะซ้อนทับกันเป็นเส้นเดียวเนื่องจากเงื่อนไขคือประเทศอินเดียเหมือนกัน ส่ิงที่เราจะต้องทำเพื่อเปรียบเทียบระหว่าง India กับอีกประเทศหนึ่งให้เราเอาเมาส์ไปวางที่คำว่า Air Conditioner คำที่เราเพิ่งจะเพิ่มเข้าไป เราจะเห็นเมนูจุดสามจุดแสดงออกมาให้กดไปที่ตรงนั้นแหละครับ เพื่อสร้างเงื่อนไขเฉพาะของคำที่สองนี้ แล้วก็เลือกที่ Change Filters แล้วเลือกประเทศที่เราต้องการเปรียบเทียบได้เลย ตัวอย่างผมเลือก Philipines นะครับ
เสร็จแล้วเราจะได้กราฟสองเส้นที่เปรียบเทียบคำเดียวกันแต่คนละประเทศ คืออินเดียกับฟิลิปปินส์ สังเกตว่าแนวโน้มการค้นหาคำว่า Air Conditioner ในสองประเทศนี้มีเทรนด์ไปในทิศทางเดียวกันคือ จะมีปริมาณการค้นหาสูงสุดทุกเดือน เมษายน (ตามภูมิศาสตร์จะน่าจะอยู่ละติจูดใกล้ๆ กัน ก็เลยมีหน้าร้อนช่วงเดียวกัน) เห็นไหมครับ เราสามารถเปรียบเทียบแบบนี้ก็ได้ด้วย แทนที่จะเป็นคำค้นหาที่แตกต่างกัน
ทีนี้ลองทำแบบเดิมอีกครั้งครับ แล้วลองเลือกประเทศออสเตรเลียดูบ้าง สังเกตภาพด้านล่างนี้ก็จะเห็นว่ากราฟของประเทศออสเตรเลียเหลื่อมกันกับสองประเทศแรกอย่างชัดเจน และแนวโน้มการค้นหาคำว่า Air Conditioner ของประเทศออสเตรเลียจะมีปริมาณสูงสุดทุกๆ เดือนมกราคม ซึ่งคงจะเป็นหน้าร้อนที่นั่น (ปล ผมไม่เคยไปที่นั่นนะครับ) พอเราเห็นภาพนี้แล้ว ก็น่าจะพอเข้าใจพฤติกรรมการค้นหามากขึ้นแล้ว ว่าแต่ละประเทศค้นหาคำนี้ มากน้อยต่างกันที่เดือนอะไร การทำการตลาดก็จะง่ายขึ้น สามารถเลือกเวลาที่เหมาะสมในแต่ละประเทศได้ ไม่ต้องเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์
เห็นไหมครับว่าคำๆ เดียวกัน พฤติกรรมการค้นหาก็มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ดังนั้นการทำการตลาด การทำโฆษณาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดนั้นก็ควรจะต้องเข้าใจและมีข้อมูลตรงนี้ประกอบด้วยเช่นกัน สำหรับแบรนด์ใหญ่เรื่องสำคัญแบบนี้ยังไงก็คงจะมีทีมรีเสิร์ซทำกันเป็นเรื่องเป็นราวอยู่แล้ว แต่สำหรับคนส่วนใหญ่เครื่องมือนี้พอจะเป็นข้อมูลสำหรับการทำงานเบื้องต้นได้ค่อนข้างดีทีเดียว ลองเล่นกันดูนะครับ ใส่ประเทศไทยดูก็ได้ บางทีอาจจะเห็นกราฟพล็อตออกมาเป็นเส้นตรง คือการค้นหาสูงตลอดทั้งปีก็ได้ครับ เพราะตอนนี้เราเหลือกันแต่หน้าร้อนแล้ว แฮร่ “- -”
Happy Analytics !