เรื่องเข้าใจผิดเรื่องเดิมๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ จนทุกวันนี้ก็ยังเข้าใจผิดกันอยู่พอสมควร คือเรื่องของวิธีการนับ Session ใน Google Analytics และเรื่องของ Bounce Rate ว่ามีวิธีการคิดอย่างไร เอาจริงๆ แล้วเรื่อง Bounce นี่ผมเองก็เคยเขียนมาหลายรอบแล้ว แต่ที่ยังต้องเอามาเขียนครั้งนี้อีก เพราะเมื่อไม่นานนี้ก็ยังเห็นโพสต์ถามตอบใน Facebook Group ที่เกี่ยวกับ Digital Marketing ยังมีการตอบกันอย่างผิดๆ อยู่ ซึ่งผมเห็นแล้วคิดว่าควรต้องเขียนเรื่องนี้อีกสักรอบกันให้กระจ่าง เพราะเป็นเรื่องที่น่ากังวล (เป็นการส่วนตัว) ที่เห็นว่ายังมีการถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ถูกต้องกันต่อไปอีกเรื่อยๆ ดังนั้นบทความนี้จะตอบคำถามหลักๆ 3 คำถามที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกันอยู่ ได้แก่
Google Analytics มีวิธีการนับจำนวน Session อย่างไร?
Bounce Rate มีวิธีการคิดที่ถูกต้องอย่างไร?
Bounce Rate ต่ำเกิดจากอะไร ทำไมไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจ?
แต่ก่อนจะตอบคำถาม 3 คำถามนี้ เรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจกันเสียก่อนก็คือเรื่องของ Hit และ Interaction ใน Google Analytics
Hit ใน Google Analytics คืออะไร
Google Analytics Hit คือกลุ่มหรือชุดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ User’s Behavior หรือพูดง่ายๆ ก็คือสิ่งที่ User กระทำบนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งเรียกกันว่า Interaction และโดยพื้นฐานแล้ว Interaction ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างน้อยก็จะต้องมี การดูหน้าต่างๆ บนเว็บไซต์ ซึ่งการดูหน้าเว็บไซต์จะทำให้เกิดข้อมูล Interaction ที่เรียกกันว่า Pageview เมื่อเกิด Pageview ขึ้น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pageview ทั้งหมดก็จะถูกรวบรวมและทำการ Packaged อยู่ในรูป Http Request ที่มี Query String ที่เป็นข้อมูลเหล่านี้ต่อท้ายจำนวนมากมาย ซึ่งข้อมูลที่ถูก Packaged นี้แหละ ที่เราเรียกกันว่า Hit และแต่ละ Hit ที่เกิดขึ้นจะถูกส่งไปที่ Server ของ Google นั่นเอง
แต่ Pageview ที่กล่าวมาก็เป็นเพียงแค่ Hit Type หนึ่งของ Google Analytics เท่านั้น ซึ่ง Google Analytics ยังมี Hit Type แบบอื่นๆ อีก 3 แบบ ได้แก่ Event Tracking Hit, Social Interaction Tracking Hit และ E-commerce Tracking Hit อ่านจากชื่อคงพอจะนึกภาพออกว่าเป็นข้อมูลแบบไหนบ้าง ขออนุญาติยังไม่ลงรายละเอียดเรื่อง Hit Type แบบต่างๆ ในบทความนี้นะครับ ทีนี้พอเข้าใจเรื่อง Hit แล้ว เรามาทำความเข้าใจเรื่องที่เข้าใจผิดสามเรื่องที่กล่าวมากันนะครับ
Google Analytics มีวิธีการนับจำนวน Session อย่างไร
คำตอบที่ผิด และผมมักจะอ่านเจอจากกระทู้ต่างๆ ก็คือ Session นั้น Google Analytics จะนับเมื่อมีการเข้ามาที่เว็บไซต์และใช้เวลาระยะหนึ่งแล้ว อันนี้ขอตอบชัดๆ ว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก วิธีการนับ Session ของ Google Analytics นั้น จะนับเมื่อมีการเกิด Interaction แค่เพียง Interaction เดียว พูดง่ายๆ ก็คือเมื่อเกิด Pageview ขึ้นแล้วนั่นเอง และ Pageview ที่ว่านี้เกิดทันทีที่มีการโหลดหน้าเว็บ ซึ่งไม่จำเป็นต้องโหลดครบทั้งหน้าก็ได้ เพราะมาโดยปกติแล้ว โค้ด Google Analytics เรามักจะวางกันที่ Header บนหน้าเว็บ ซึ่งนั่นหมายความว่า Hit Type ประเภท Pageview ถูกส่งไปที่ Google ทันทีที่มีการเริ่มโหลดหน้าเว็บ เรียกว่าเกิด Session ภายในช่วงเสี้ยววินาทีเลยแหละครับ ดังนั้นใครที่เข้าใจหรือไปฟังมาผิดๆ ขอให้ทำความเข้าใจกันใหม่นะครับ เพิ่มเติมอีกนิดก็คือ แม้กระทั่งหน้า 404 Error เองกรณีที่ทำเป็น Custom 404 ส่วนมาก็จะมีการติดโค้ด Google Analytics กัน กรณีเช่นนี้การเข้าไปเจอหน้า 404 บนเว็บไซต์ นั่นก็นับ Session เช่นกันครับ
Bounce Rate มีวิธีการคิดที่ถูกต้องอย่างไร
Bounce Rate เป็นอีกหนึ่งค่าที่มีความเข้าใจผิดกันมาก แม้กระทั่งคนที่ใช้ Google Analytics มานานหลายคนก็ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง และหลายครั้งก็หลงดีใจไปกับค่า Bounce Rate ต่ำๆ ทั้งๆ ที่ในบางกรณีนั้นเกิดปัญหาจากการ Tracking ที่ผิดพลาด การคิด Bounce Rate นั้น จะคิดจากการนำจำนวน Session ที่เป็น Bounce หารด้วยจำนวน Session ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน โดย Google ให้นิยามไว้ดังนี้
Bounce rate is single-page sessions divided by all sessions, or the percentage of all sessions on your site in which users viewed only a single page
ซึ่ง Bounce Session เช่นก็คือ Session ที่มีเพียง 1 Pageview (หรือ 1 interaction) นั่นหมายความว่าจริงๆ แล้ว Session ที่นับเป็น Bounce ไม่เกี่ยวข้องกับเวลาเหมือนที่หลายคนเข้าใจผิดกันว่า เป็น Session ที่อยู่ไม่เกิน X วินาที ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมาก ย้ำ นะครับ Bounce ไม่เกี่ยวข้องกับเวลาเลย แต่ Bounce จะนับจาก Session ที่อยู่เพียง 1 หน้าบนเว็บไซต์เรา ซึ่งหมายความว่าอาจจะใช้เวลาในการอ่านเนื้อหาในหน้านั่น 5 นาทีก็ได้ แต่ถ้าอ่านหน้าเดียวแล้วออกจากเว็บไซต์ กรณีเช่นนี้ก็นับเป็น Bounce เช่นกัน
ส่ิงหนึ่งที่หลายคนหลงดีใจเกี่ยวกับ Bounce Rate ก็คือ เมื่อมีค่า Bounce ที่ต่ำกว่า 10% ก็คิดว่าเราทำเว็บดี ทำ Content ดี ซึ่งกรณีที่ค่า Bounce Rate ต่ำกว่า 10% นี้อยากให้ทำความเข้าใจให้ถูกก่อนนะครับว่า Bounce ที่ต่ำได้ขนาดนี้โดยทั่วไปถือว่า “ผิดปกติ”
ทำไม Bounce Rate ต่ำจึงไม่ควรดีใจ
อย่างที่บอกไปว่า Bounce นับจาก Session ที่เกิดเพียง 1 Interaction หรือ 1 Pageview ดังนั้น Session ใดก็ตามที่มี 2 Interaction ขึ้นไป Session นั้นจะไม่นับเป็น Bounce ซึ่งถ้าเกิด 2 Interaction จาก User แบบปกติก็ถือว่าถูกต้อง เหมาะสม เช่น การเปิดดูเว็บไซต์ 2 หน้า แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า กรณีที่ต่ำกว่า 10% มักจะเกิดความไม่ปกติ ยกตัวอย่างเช่น มีการติดโค้ด Google Analytics ซ้ำ 2 ชุดในหน้าเดียว เคสนี้ต่อให้เข้ามาอ่านหน้าๆ เดียวจริงๆ แต่ Pageview จะถูกส่งไป 2 Pageview เพราะโค้ดแต่ละชุดนั้นจะส่งไป 1 Pageview และนี่เป็นที่มาว่าทำไม่ Bounce Rate ถึงต่ำมากอย่างน่าตกใจ (ไม่ใช่น่าดีใจ)
แต่ในบางกรณี เมื่อตรวจเช็คแล้วก็พบว่ามีการติดโค้ดชุดเดียวถูกต้องอยู่แล้ว ทำไม Bounce Rate ถึงต่ำกว่า 10% ได้ล่ะ เคสลักษณะนี้มักจะเกิดจากการส่ง Event Tracking Hit ไปพร้อมกับกับ Pageview ซึ่งโดยมากเว็บที่มีการ Tracking แบบแอดวานซ์หน่อยมักจะทำเรื่อง Event Tracking กันเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นกรณีนี้ก็ใช่ว่าจะดีใจได้ที่ Bounce Rate ต่ำนะครับ เคสลักษณะนี้ควรจะไปปรึกษากับทางทีม Developer ว่า Tracking อะไรอย่างไรบ้าง ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหลายกรณีมีการส่ง Event ที่ไม่จำเป็น และไม่ได้เซ็ตค่าไว้อย่างเหมาะสม
น่าจะเข้าใจเรื่อง Session และ Bounce กันมากขึ้นแล้วนะครับ 2 เมทริคนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ถ้ายังเข้าใจผิดอยู่ก็ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้ Google Analytics กันแล้วละครับ
Happy Analytics:)
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE OA : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด