Http และ Https มีผลอย่างไรกับการเก็บข้อมูลของ Google Analytics

referral and direct traffic

แม้คำว่า Https อาจเป็นศัพท์ที่ดูจะเทคนิคอลเสียหน่อยสำหรับนักการตลาดทั่วไปที่ไม่ใช่ dev แต่คำนี้ก็น่าจะเป็นคำที่หลายคนคงเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกันมากขึ้นบ้างแล้ว เพราะน่าจะได้ยินได้ฟังกันมาพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อสองสามปีก่อนที่มีข่าวจาก Google ว่าใครไม่เปลี่ยนไปใช้เว็บไซต์แบบ Https นั้น Google Chrome จะขึ้นคำว่า Not Secure บน URL bar ซึ่งทุกวันนี้เราก็คงจะได้เห็นกันแล้วบน URL bar เมื่อเข้าเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ Https

ถามว่าแล้วถ้ายังไม่ได้ใช้ Https จะเป็นอะไรไหม ถ้ามองในมุมการใช้งานของยูสเซอร์ที่เข้ามาในเว็บนั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกอย่างยูสเซอร์ก็ยังสามารถใช้งานได้ปกติ เพียงแต่จะเห็นคำว่า Not Secure แสดงอย่างชัดเจนที่ URL bar ซึ่งก็คงจะดูไม่ดีเท่าไรนัก ในช่วงนั้น หลายๆ เว็บที่ยังเป็น Http จึงเริ่มมีการเปลี่ยนไปใช้ Https กัน ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้ Https นั้นมีข้อดีอื่นๆ ด้วย และอย่างที่หลายคนทราบกันว่า Https นั้นเป็นปัจจัยหนึ่งใน Ranking Factor ของ Google มานานแล้ว รวมถึงเมื่อไม่นานก็ยังมีการย้ำเรื่องนี้ในตอนที่ประกาศเรื่อง “Core Web Vitals” ที่เป็นปัจจัยการจัดอันดับใหม่ล่าสุดที่รวมเอา Https เข้ามาด้วยโดยเรียกรวมกันว่า “Page Experience” ดังนั้นก็เปลี่ยนเป็น Https กันเถอะครับ

แล้วถ้าเว็บยังเป็น Http อยู่ มีผลอย่างไรกับการเก็บข้อมูลใน Google Analytics หรือเปล่า?

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องเข้าใจสำหรับเว็บไซต์ที่ยังเป็น Http อยู่ เนื่องจากวิธีการเก็บข้อมูลและการบันทึกข้อมูลในรีพอร์ท Channel นั้น อาศัยส่ิงที่เรียกว่า Referrer ที่อยู่ใน HTTP Request (งงไปใหญ่) เอาเป็นว่าขอสรุปแบบภาษาคนทั่วไปดังนี้คือ การที่เว็บๆ หนึ่งส่งทราฟฟิคไปที่เว็บอีกเว็บหนึ่งผ่านลิงค์บนหน้าเว็บ เช่น เราอ่านเว็บไซต์ A แล้วเราคล้ิกลิงค์จากเว็บไซต์ A ไปเว็บไซต์ B การขอข้อมูลจากเว็บไซต์ B นั้น ในส่วนข้อมูลที่ส่งขอไปจากเว็บ A จะมีการบอกว่าขอมาจากเว็บ A นะ ประมาณนี้ และใครที่พอเข้าใจเรื่อง Channel ใน Google Analytics จะทราบดีว่า GA ในเว็บไซต์ B จะบันทึกข้อมูลว่ามี ทราฟฟิคหนึ่ง Session มาจากเว็บ A และจะนับ Session นี้อยู่ใน Referral Channel โดยที่ GA จะอ่านค่า Referrer ที่ส่งมานี่แหละครับ

แล้วเกี่ยวอะไรกับ Http / Https ?

ต้องเข้าใจก่อนว่าเว็บไซต์ที่เป็น Https นั้น การส่งข้อมูลออกไปจะมีการเข้ารหัสเพื่อป้องกันการขโมยอ่านข้อมูล (S ย่อมาจาก Secure) ดังนั้น Referrer หรือแหล่งที่มาจากถูกเข้ารหัส ซึ่งจะต้องเป็นเว็บที่เป็น Https ด้วยกันถึงจะถอดข้อมูลออกมาได้ ดังนั้นปัญหาก็คือ หากมีการคลิ้กลิงค์จากเว็บ A ไปที่เว็บ B สมมุติว่าเว็บ A เป็น Https ส่วนเว็บ B ยังเป็น Http อยู่ ส่ิงที่เกิดขึ้นคือเว็บ B จะไม่สามารถรู้ได้ว่าทราฟฟิคที่เข้ามานั้นมาจากเว็บ A ดังนั้น GA ก็จะบันทึกว่า Session การเข้ามาครั้งนี้เป็น Direct Channel เนื่องจากไม่มีค่า Source นั่นเอง

เหตุการณ์หนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเคยเกิดขึ้นกับบางเว็บก็คือ อยู่ดีทราฟฟิคจาก Referral Chanal ก็ตกวูบ ขณะเดียวกันทราฟฟิคจาก Direct Channal ก็พุ่งสวนขึ้นทันที เหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่มักเกิดจากมีเว็บไซต์เว็บหนึ่งที่เคยส่งทราฟฟิคมาที่เว็บเราแบบ Referral เป็นจำนวนมาก มีการปรับเว็บจาก Http เป็น Https ส่วนเว็บของเรายังเป็น Http อยู่ เคสนี้จึงเหมือนกับกรณีที่ผมได้ยกตัวอย่างไปแล้วนั่นเอง ถ้าหากมองกันแต่ Total Traffic จำนวน Session ก็ไม่ได้ลดลง เราก็อาจจะไม่ทุกข์ร้อนอะไร เพราะทราฟฟิคแค่ย้ายจาก Channel หนึ่งไปอีก Channel หนึ่ง แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่ควรให้เคสนี้เกิดขึ้นเพราะ Direct Traffic ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ Direct Traffic ที่แท้จริง เดี๋ยวเราก็จะไปตีความผิดว่า คนเข้าเว็บเราตรงๆ เยอะขึ้นมาก แสดงว่าจดจำแบรนด์เราได้ มี loyalty สูง ทำนองนั้น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ใครที่ยังเป็นเว็บแบบ Http อยู่ควรจะปรับเปลี่ยนเป็น Https กันได้แล้วนะครับ

ส่วนรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการส่งทราฟฟิคข้ามไปมาระหว่าง Http และ Https โดยสรุปสามารถเกิดขึ้นได้ 4 รูปแบบตามนี้ คือ

  • http to http – จาก Http ส่งไป Http เคสนี้ Google Analytics จะบันทึกเป็น Referral Traffic
  • http to https –จาก Http ส่งไป Https เคสนี้ Google Analytics จะบันทึกเป็น Referral Traffic
  • https to https – จาก Https ส่งไป Https เคสนี้ Google Analytics จะบันทึกเป็น Referral Traffic
  • https to http – จาก Https ส่งไป Http เคสนี้ Google Analytics จะบันทึกเป็น Direct Traffic

จะเห็นว่ามีเคสเดียวเท่านั้นที่จะเกิดปัญหาการบันทึกข้อมูลของ GA ที่เกิดการบันทึก Referral เป็น Direct Channel นั่นก็คือกรณีที่เว็บเราเป็น Http นั่นเอง ในส่วนของ Direct Channel ซึ่งฟังดูเหมือนง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายอย่างที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจอีกเยอะ ตัวอย่างที่เล่าในบทความนี้ก็เป็นเคสหนึ่ง เอาไว้ผมเขียนอธิบายเรื่อง Direct Traffic แบบลงลึกในบทความถัดไปนะครับ

Happy Analytics 🙂

Leave a Reply