แบบทดสอบ SEO 50 ข้อ ที่คนทำ SEO ควรต้องลอง

อยากเป็น Expert ด้าน SEO ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง
ภาพ Pixabay

SEO เป็นความรู้ที่ว่ากันตามตรงแล้วทุกคนสามารถศึกษาเองได้ไม่ยากนัก ถ้าพอมีพื้นฐานด้านการทำเว็บไซต์มาบ้างก็จะทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น หรือหากจะย่นย่อระยะเวลาการเรียนรู้ก็อาจจะลงเรียนคอร์ส SEO ที่เปิดสอนกันอยู่หลายๆ ที่ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพรวมการทำ SEO เบื้องต้น และสามารถศึกษาต่อเองได้ง่ายขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการสอน SEO พื้นฐานนั้น โดยมากมักจะมีเนื้อหาหลักการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก และเป็นหลักการที่อิงบนพื้นฐานไกด์ไลน์จากเอกสารของ Google และสื่อเว็บ SEO จากต่างประเทศ แต่สิ่งที่แตกต่างกันมักจะเป็นเรื่องของการเอาประสบการณ์จริงการทำ SEO ของผู้สอนมาถ่ายทอดร่วมด้วย ซึ่งก็เป็นการช่วยย่นย่อระยะเวลาการลองผิดลองถูกของผู้ที่เร่ิมทำ SEO ได้อย่างดี

ส่วนตัวผมเอง เวลาที่มีบรรยายเรื่อง SEO บ้างตามวาระโอกาสต่างๆ นั้นก็เช่นกัน ก็จะต้องหยิบยกเคสกรณีศึกษาต่างที่เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าให้ฟัง อย่างไรก็ตามผมก็จะบอกกล่าวผู้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า การทำ SEO ไม่สามารถเอาวิธีการหรือเทคนิคของใครมา Copy and Paste แล้วจะได้ผลลัพธ์เหมือนกันทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมก็ย้ำเสมอสำหรับการไปบรรยาย หรือสอน SEO นั้นก็คือ คนที่ศึกษา SEO ทุกคน ไม่ว่าจะศึกษาเอง หรือเข้าคอร์สอบรมที่ต่างๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะมีความรู้พื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ถ้าว่ากันโดยภาพใหญ่ ความรู้พื้นฐานที่คนศึกษา SEO จะมีไม่แตกต่างกันก็คือ

  1. Keyword Analysis : การวิเคราะห์คีย์เวิร์ดที่น่าสนใจโดยการอิงกับ โวลุ่มปริมาณการค้นหา และโอกาสการเกิด Conversion หรือ Keyword ประเภท high intent
  2. On-Page SEO : การปรับแต่งเนื้อหา และโครงสร้างของเนื้อหาบนส่วนต่างๆ ของหน้าเว็บให้เป็นไปตามไกด์ไลน์ของ Google
  3. Backlinks : การเพิ่มลิงค์จากเว็บภายนอกมาที่เว็บไซต์ของเรา
  4. Website Structure : การวางโครงสร้างของเว็บไซต์ โครงสร้างเนื้อหา ความสัมพันธ์ของหน้าต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้ Google Bot รวมถึงผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถเข้าใจได้ง่าย

แต่สิ่งหนึ่งที่หยิบยกเอามาสอนในคลาสอบรมต่างๆ ได้ค่อนข้างยากจะเป็นหัวข้อที่เรียกว่า “Technical SEO” เนื่องจากเป็นหัวข้อที่ไม่ใช่ผู้เรียนทุกคนจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายๆ เหมือนสี่ข้อด้านบนที่กล่าวมาแล้ว ผู้ที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้นี้มักจะต้องมีพื้นฐานเรื่องเว็บค่อนข้างลึกพอสมควร หรือถ้าพอจะเข้าใจ Coding ก็จะยิ่งดีมาก และความรู้เรื่อง Technical SEO นี่แหละครับ ที่เป็นเรื่องที่ยกระดับคนทำ SEO ขึ้นไปสู่เลเวล “Expert” ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ๆ นั้น เรื่อง Technical SEO เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียสและจำเป็นมากจริงๆ

เขียนมาเสียยาว จริงๆ แล้วก็แค่อยากจะบอกให้ทุกคนสนใจเรื่อง Technical SEO กันมากขึ้น ค่อยๆ ศึกษาเรื่องนี้ครับ อาจจะยากบ้างสำหรับบางคน แต่ถ้าศึกษาจนเข้าใจแล้วจะเป็นประโยชน์มาก ส่วนใครที่คิดว่าพอมีความรู้เรื่อง Technical SEO ก็อยากแนะนำให้ลองทำแบบทดสอบวัดความรู้เรื่อง SEO ของ MOZ กันดูครับ จากที่ลองมาโดยรวมถือว่าค่อนข้างยากทีเดียว เพราะแบบทดสอบเน้นโจทย์คำถามด้านเทคนิคอลกันเป็นหลักเลย และเท่าที่ทราบจากคนที่รู้จัก บางเอเจนซีที่ทำ SEO หยิบเอาแบบทดสอบของ MOZ มาให้นั่งทำตอนสอบสัมภาษณ์รับคนเข้าทำงานกันเลย ใครทำได้เต็ม 50 ข้อ ต้องกราบเลยล่ะครับ น่าเสียดายอยู่ตรงที่เวลาทำเสร็จ ไม่ได้บอกว่าเราผิดข้อไหน คำตอบไหนที่ถูกต้อง และแหล่งข้อมูลที่ยืนยันคำตอบ เพราะบางข้อก็ดูกำกวมอยู่เหมือนกัน

บางคนอาจจะสงสัยว่าคำถามเชิง Technical SEO เป็นยังไง ก็ขอยกตัวอย่างให้ดูกันสักสองข้อครับ

sitemap

เช่นคำถามนี้ถามว่า จำนวน URL ใน sitemap สามารถมีได้ทั้งหมดสูงสุดกี่ URLs ซึ่งคำตอบคือ 50,000 URLs ตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยต่อว่า จำเป็นต้องรู้เรื่องนี้ด้วยเหรอ? ถ้าเว็บไซต์เราเป็นเว็บไซต์เล็กๆ หรือเป็นแค่ blog แบบที่ผมทำอยู่ อาจจะไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ก็ได้ เพราะคงไม่มี URL ถึง 50,000 แต่อย่างที่บอกครับ ถ้าเราต้องทำงาน SEO กับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ๆ ความรู้เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ในกรณีของเว็บไซต์ข่าวซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีคอนเทนต์มีจำนวนมากและมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น เว็บไซต์ข่าวหรือเว็บไซต์ขนาดใหญ่อื่นๆ จึงจำเป็นต้องแตก Sitemap ออกเป็นหลายๆ ไฟล์ เพื่อให้ Google สามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนสมบูรณ์นั่นเอง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่า Sitemap นั้นสามารถมีได้มากกว่า 1 ไฟล์

canonical

ข้อนี้โจทย์ถามว่าการจัดการกับ Content ที่มีเนื้อหาซ้ำกันหรือเกือบจะเหมือนกันนั้น วิธีใดเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด คำตอบข้อนี้คือการจัดการด้วยคำสั่ง “Canonical” อย่างที่เราอาจจะทราบกันอยู่แล้ว Duplicated Content หรือเนื้อหาที่ซ้ำกัน เป็นสิ่งที่ Google ไม่อยากให้เกิดขึ้น หลายปีก่อนเรื่องนี้มีบทลงโทษโดย Google แต่หลังๆ มานี้เท่าที่สังเกตุดูถ้าเราไม่ได้มีเนื้อหาที่ตั้งใจทำซ้ำเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Google จะเลือกหน้าที่เหมาะสมให้เองหน้าเดียวเท่านั้น แล้วก็ไม่อินเด็กหน้าที่เหลือ ถามว่าเรื่อง Canonical นี่จำเป็นต้องรู้ด้วยอีกหรือ? จำเป็นครับ เพราะจากประสบการณ์การทำงานจริง สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือ หลายเว็บไซต์มักจะมีเนื้อหาหลายๆ หน้าที่ “เกือบจะ” เหมือนกัน แต่มีการใช้ URL parameter เพื่อควบคุมการแสดงผลบางอย่างให้เหมาะสมกับผู้เข้าชมเว็บแต่ละกลุ่ม ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นคือ พอมีหน้าที่คล้ายๆ กันหลายๆ หน้า Google จะเลือกหยิบเพียง 1 หน้า เพื่อนำไปแสดงผล ซึ่งในบางครั้งพบว่า Google ดันไปหยิบเอา URL ที่ติด Parameter ที่ควบคุมเรื่องการทำ Personalized ขึ้นไปแสดงผลใน Google Search Result ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคงไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจะกลายเป็นว่าคนที่เข้าเว็บไซต์ผ่าน Search Engine จะเห็น Content ที่ถูกทำ Personalized ที่อาจจจะไม่ตรงกับความต้องการได้

2 ตัวอย่างที่เล่ามานี้น่าจะทำให้เห็นภาพความสำคัญของเรื่อง Technial SEO กันมากขึ้นนะครับว่าสำคัญมากแค่ไหน ใครอยากทดลองวัดความรู้ด้าน Technical SEO ลองดูนะครับ ไม่เสียหายมีแต่ได้ประโยชน์ ไม่จำกัดเวลาในการทำ ทำเสร็จบอก Score เป็นเปอร์เซ็นต์ เข้าได้จากลิงค์นี้ครับ https://moz.com/seo-expert-quiz หน้าตาเว็บไซต์เมื่อเข้าไปแล้วก็ตามภาพด้านล่างนี้ สามารถกดที่ปุ่ม Start the Quiz เพื่อเริ่มทำทดสอบได้เลย

แบบทดสอบวัดความรู้ SEO

Happy Optimization!
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics  อ่านรายละเอียด

Leave a Reply