SEO Trends แนวทางการทำ SEO ให้ดีกว่าเดิม

การทำ SEO ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยตกยุคสมัยในการทำ Digital Marketing เลย จากประสบการณ์ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานด้าน Ecommerce เมื่อสิบกว่าปีก่อน ชีวิตการทำงานก็เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้มาตลอดจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ส่วนตัวแล้วพูดได้เต็มปากว่าการทำ SEO มีความจำเป็นต่อทุกธุรกิจ และจะไม่มีทางหายไปจากการทำ Digital Marketing ได้เลย เพียงแต่มันอาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการ หรือจะเปลี่ยนชื่อไปเท่านั้นเอง เพราะตราบใดที่คนเรายังมี ปัญหา มีความต้องการ อยากรู้ อยากเห็น อยากไป อยากซื้อ อยากอะไรก็แล้วแต่ ที่พึ่งเดียวในตอนนี้และอาจจะตลอดไปก็คือ Google ดังนั้นสิ่งที่คนทำการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะการทำ Search Engine Marketing จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอก็คือ การเรียนรู้ ติดตามอัพเดท ข่าวสารเรื่อง SEO อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้วางแผน และปรับกลยุทธ์ให้ทันกับเทคโนโลโยที่ Google ใช้ในการจัดอันดับแสดงผล บทความนี้มาอัพเดทกันว่าในปี 2020 ที่จะถึงนี้มีเรื่องอะไรบ้างที่เราจะต้องให้ความสำคัญในการทำ SEO

เทรนด์การทำ SEO ปี 2022

1) เพิ่มความน่าสนใจด้วย Featured Snippets

Featured Snippets ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนัก คนที่ทำ SEO อาจจะรู้จักกันในชื่ออื่นเช่น  Answer Box หรือ Position Zero ที่เรียกว่า Position Zero เพราะ Featured Snippets จะแสดงผลอยู่ก่อนอันดับแรกนั่นแหละครับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว Featured Snippets มักจะแสดงผลลัพธ์ในลักษณะของการให้ข้อมูลและตอบคำถามแบบสั้นๆ และมีรูปแบบที่พิเศษแตกต่างจากผลลัพธ์ทั่วไป โดยเฉพาะกับการค้นหาข้อมูลแบบ What is / คืออะไร หรือ How to / ทำอย่างไร ตามตัวอย่างนี้

what-is-google-analytics

ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่หลายๆ เว็บต่างประเทศก็ยังยกให้เป็นเทรนด์ในปี 2020 นั่นเป็นเพราะ การแสดงผลของ Featured Snippets มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องบนหน้าผลการค้นหา โดยในปีนี้มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า การค้นหาที่ไม่มีชื่อแบรนด์ (non-branded query) นั้นมีการแสดงผล Featured Snippets เป็นสัดส่วน 20% ของผลการค้นหาจาก Study(2019) ของทาง authorityhacker ซึ่งเป็นการเติบขึ้นถึงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับผลการศึกษาของเว็บไซต์ Ahrefs เมื่อปี 2017

rich-snippets-on-first-page

search-queries-with-featured-snippets

Featured Snippets แย่ง Traffic จากเว็บไซต์ที่ติดอันดับแรกจริงหรือไม่

จากผลการศึกษาของ Ahrefs ตามภาพด้านล่างพบว่า กรณีที่ผลการค้นหาไม่แสดง Featured Snippets เว็บไซต์ที่แสดงผลอันดับแรกจะได้รับการคลิ้กประมาณ 26% แต่ผลการค้นหาที่แสดง Featured Snippets เว็บไซต์อันดับแรกจะได้รับจำนวนการคลิ้กที่ลดลงเหลือประมาณ 19.6% และ Featured Snippets จะได้จำนวนคลิ้กประมาณ 8.6% นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ทำ SEO จึงให้ความสำคัญกับ Featured Snippets กันค่อนข้างมาก เพราะหากเว็บไซต์ยังไม่ติดอันดับ top 3 เช่นอยู่ที่อันดับ 6 หรือ 7 การที่เป็นแสดงผลใน Featured Snippets ก็ช่วยสร้าง Traffic เข้าเว็บไซต์ได้พอสมควรทีเดียว

featured-snippets-ctr

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของ Ahrefs ก็พบว่าผลการค้นหาที่มี Featured Snippet แสดงอยู่ด้วยนั้น ทำให้จำนวนการคล้ิกโดยรวมทั้งหมดลดลง

ทำ SEO อย่างไรถึงจะแสดงผลบน Featured Snippets

นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยและอยากรู้ แต่ตอบแบบตรงๆ ก็คือ Google เป็นคนเลือกเองว่า “คำตอบ” ของเว็บไซต์ไหนดีที่สุด อาจจะดูตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย แต่สิ่งที่ John Mueller ซึ่งเป็นคนของ Google ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ดูจะไม่มีอะไรชัดเจนเลย อ้างอิงจากบทความ how-to-rank-featured-snippets ของเว็บไซต์ Search Engine Journal ซึ่งสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

  1. ไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่า Structured Data มีผลกับ Featured Snippets หรือไม่ แต่เขาคิดว่ามันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
  2. เขากล่าวว่า เว็บไซต์ที่มีโครงสร้างแบบ Clear Structure นั้นจะมีส่วนช่วยได้มาก
  3. John Mueller แนะนำให้ใช้ Table ใน HTML เพราะเป็น content ที่เข้าใจง่ายและดึงเอาไปใช้งานได้ดี และ Table ก็เป็น Clear Structure ตามที่กล่าวในข้อ 2
  4. จาก Research พบว่า ordered และ unordered list (แท็ก <ol><ul>)มีส่วนช่วยในการแสดงผลบน Featured Snippets เรื่องนี้ John Mueller กล่าวว่าไม่ได้เกี่ยวกับ Ordered หรือ Unordered List โดยตรง แต่ที่เนื้อหาใน List มักจะแสดงผลบน Featured Snippets เป็นเพราะมันเป็นเนื้อหาที่ well-structure ตามที่กล่าวในข้อ 2 อีกแล้ว…

ดูจะเป็นคำตอบที่กว้างและไม่เฉพาะเจาะจงเท่าไรนัก แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า Clear Structure นั้นมีผลต่อ Featured Snippets ดังนั้นในที่นี้จะหมายรวมถึงวิธีการคิด Content และเนื้อที่จะสื่อสารออกมาอย่างชัดเจนว่า เนื้อหาบทความนี้ต้องการจะสื่อสารเรื่องอะไรเป็นหลัก และจะเล่าแยกเป็นหัวข้อ และหัวข้อย่อยอย่างไร ซึ่งก็จะไปมีผลกับ Tag H2 H3 H4 อีกที แบบนี้ก็ถือว่าเป็น Clear Structure เช่นเดียวกัน:)

2) WebP ไฟล์ฟอร์แมทใหม่สำหรับ image และ animation บนหน้าเว็บ

หนึ่งในปัจจัยที่คนทำ SEO ต่างรู้กันดีก็คือ เรื่องของ Website Speed หรือความเร็วในการโหลดหน้าเว็บไซต์ ซึ่ง Google เองก็เคยกล่าวไว้ว่า เว็บไซต์ที่โหลดช้ามีผลต่อ Ranking ของเว็บไซต์ ดังนั้นคนที่ทำ SEO จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และสิ่งหนึ่งที่่ส่งผลโดยตรงกับความเร็วของเว็บไซต์ก็คือรูปภาพและภาพเคลื่อนไหวที่ใช้บนหน้าเว็บ

ปกติแล้วฟอร์แมทรูปภาพบนหน้าเว็บที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ JPEG, PNG และ GIF ซึ่งเป็นฟอร์แมทไฟล์ที่ใช้กันมาอย่างยาวนานแล้ว ดังนั้น Google จีงได้พัฒนาไฟล์ภาพแบบใหม่ที่เรียกว่า WebP ซึ่งมีข้อดีหลายๆ อย่างเมื่อเทียบกับไฟล์ฟอร์แมทแบบเก่า โดยเฉพาะขนาดไฟล์ที่มีขนาดเล็กกว่าฟอร์แมทเก่าค่อนข้างมาก ซึ่งก็ส่งผลให้เว็บไซต์โหลดได้เร็วขึ้น Users Experience ก็ดีขึ้นตาม User Signals ซึ่งเป็นค่าสำคัญของการทำ SEO ก็ย่อมดีขึ้นแน่นอน แล้วยิ่งพัฒนาโดย Google เอง ทำไม Google จะไม่ชอบล่ะ ถูกไหมครับ 🙂

ไฟล์แบบ WebP ดีอย่างไร

  • WebP ฟอร์แมท จะมีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าภาพฟอร์แมทอื่นค่อนข้างมาก บางเว็บระบุว่าสูงถึง 50%
  • WebP รักษาคุณภาพของรูปได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับภาพ JPEG ซึ่งมีการบีบอัดแบบ Lossy Compression
  • WebP มีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่า PNG และสามารถทำภาพแบบ Transparent ได้เหมือนกัน
  • WebP สามารถทำเป็นภาพ Animation แบบ GIF ได้ แต่ดีกว่า GIF ตรงที่จำนวนสีของ WebP จะเป็น 24 bit ส่วน GIF จะแค่ 8 bit เท่านั้น หมายความว่าภาพฟอร์แมท WebP จะมีสีสันเหมือนจริงกว่ามาก และมีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่า GIF ถึง 90% ตามที่เว็บไซต์ www.whostalkinseo.com ระบุไว้

webp-benefits-seo

ตอนนี้ Browser ส่วนใหญ่ก็รองรับไฟล์ WebP กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Firefox ยิ่ง Chrome Browser ที่คนส่วนใหญ่ใช้กันก็ไม่ต้องห่วง เพราะเป็นของ Google โดยตรง ส่วน Browser ที่ยังไม่รองรับไฟล์นี้ก็จะมี Safari ที่เป็น Browser หลักที่ยังไม่รองรับ ก็หวังว่าทาง Apple จะทำให้ Safari รองรับได้เหมือนกัน (จากข้อมูล Safari มี Browser Market Share ที่ประมาณ 15%) ดูรายละเอียดเพิ่มเติม Browser ที่รองรับ WebP ได้จากลิงค์นี้ Support browsers for WebP

ส่วนเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ในการจัดการไฟล์ฟอร์แมท WebP นั้นตอนนี้อาจจะยังไม่สะดวกเท่าไร แม้แต่ Photoshop เองก็ยังไม่รองรับไฟล์นี้ แต่ก็คาดว่าในเวอร์ชั่นถัดไปก็น่าที่จะรองรับไฟล์ WebP ได้เช่นกัน ส่วนใครที่อยากจะทดลองเล่น WebP สามารถทดลองใช้เครื่องมือฟรีในการ convert ไฟล์ได้จากเว็บที่ให้บริการนี้ ลองค้นหาด้วยคำว่า WebP Convertor ครับ ส่วนลิงค์นี้เป็นตัวอย่างภาพเปรียบเทียบไฟล์ประเภทต่างๆ ก่อนและหลังการ Convert เป็น WebP WebP Gallery

คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจ WebP

ถ้าจะเริ่มต้นทำทันที สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องการแสดงผลบน Safari เนื่องจากในเวลานี้ Safari ยังไม่รองรับ WebP สิ่งที่ต้องทำคือการ detect browser ของคนที่เข้าเว็บก่อนว่ารองรับ WebP หรือไม่ ถ้าเป็น Safari ก็จะต้องทำการส่งฟอร์แมทไฟล์ภาพแบบเดิมไปก่อน แต่ถ้าใครใช้ CDN provider อยู่ลองตรวจสอบกับ Provider ดูก่อน เพราะว่าบาง CDN ซับพอร์ทเรื่องการ Detect Browser ให้ด้วยและสามารถเลือกส่งไฟล์ภาพแบบ WebP ให้กับเฉพาะ Browser ที่รองรับ

3) Voice Search ไม่เร็วก็ช้า มาแน่ๆ

แม้จะพูดถึงเรื่องนี้กันมาสักหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจจะไม่เห็นตัวเลขอะไรที่น่าสนใจมากนัก Voice Search ก็เลยกลายเป็นแค่ buzz word คำหนึ่ง แต่ต้องยอมรับกันว่าในปีสองปีที่ผ่านมานี้ มีความน่าสนใจอยู่หลายเรื่องเกี่ยวกับ Voice Search โดยเฉพาะความฉลาดขึ้นจากระบบ AI ของ Google ที่ทำให้เข้าใจภาษาต่างๆ ได้ดีขี้นมาก ตอนนี้แม้แต่ภาษาไทยเองถือว่าดึขึ้นอย่างมาก ใครที่ใช้ Google Assistant ลองไปเซ็ตติ้งให้เป็นภาษาไทยดูครับ ลองถามคำถามง่ายๆ เช่น “กี่โมงแล้ว” มันก็จะตอบเวลาปัจจุบันออกมา ที่น่าสนใจก็คือคำว่า กี่โมงแล้ว นี่ออกจะเป็นภาษาพูดแต่ Google Assistant ก็สามารถเข้าใจและตอบออกมาได้อย่างถูกต้อง

ตัวเลขเมื่อปี 2016 ที่ Google ระบุไว้บอกว่า 20% ของการค้นหาเป็นการค้นหาด้วยเสียง ซึ่งก็มีการเติบโตมาเรื่อยๆ และคาดการณ์ตัวเลขจาก Comscore ระบุว่า Voice Search จะคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการค้นหาทั้งหมดในปี 2020 แม้จะดูเป็นตัวเลขอาจจะสูงไปสักหน่อยสำหรับพฤติกรรมของ Users ไทย แต่สุดท้ายแล้วเทรนด์นี้ก็ต้องมาในไม่ช้าแหละครับ เพราะอย่างที่บอกว่า Google เข้าใจภาษาไทยได้ดีขึ้นมากจริงๆ

Voice Search มีความแตกต่างจาก Text Search อย่างไร

วิธีการค้นหาแบบ Voice นั้นมักจะเป็นรูปแบบของประโยคที่ยาวกว่า Text Search ที่เรามักจะทำกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะพิมพ์ “ที่เที่ยวเชียงใหม่” เวลาที่เราต้องการหาข้อมูลที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ แต่ะถ้าเป็น Voice Search ธรรมชาติของเรามักจะพูดเป็นประโยคคำถามที่ยาว เช่น “ที่เที่ยวในเชียงใหม่มีที่ไหนที่น่าสนใจบ้าง” จริงไหมครับ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะการพูดยาวๆ ม้นง่ายกว่าการพิมพ์ยาวๆ ด้วยแหละครับ ข้อมูลจากต่างประเทศพบกว่า Voice Seach จะมีจำนวนคำเฉลี่ยที่ 6-10 คำ ขณะที่ Text Search จะเฉลี่ยที่ 1-3 คำ

Voice-search-word-length

คำแนะนำในการเริ่มต้นสำหรับ Voice Search

  • ควรเขียน Content ในรูปแบบของ Conversation ที่ตอบคำถามที่ลูกค้าหรือยูสเซอร์ของเราให้ความสนใจ  ยกตัวอย่างด้วยวิธีการง่ายๆ ที่ผมเขียนบทความนี้ก็เช่น พวกหัวข้อ H3, H4 อย่างประโยคที่ว่า “Voice Search มีความแตกต่างจาก Text Search อย่างไร” หรือ “ไฟล์แบบ WebP ดีอย่างไร” ซึ่งเป็นเหมือนบทสนทนาที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามของผู้อ่าน เป็นต้น ดั้งนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ เมื่อเป็น Voice Search แล้ว มันจะไม่ใช่เรื่องของ Keywords อีกต่อไป แต่มันจะเป็นเรื่องของ Semantic Search นั่นเอง ไว้จะเขียนเรื่องนี้อีกที
  • เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ Structured data หรือ Schema Mark-up ซึ่งเป็นวิธีการของการกำหนดโครงสร้างของเนื้อหาบนหน้าเว็บ และเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ Search Engine เข้าใจเนื้อหาได้อย่างถูกต้อง ในส่วนของ Voice ทาง Google ได้มีการกำหนด Schema Strutured Data ออกมาในชื่อที่เรียกว่า Speakable Structured Data โดยเฉพาะสำหรับเว็บไซต์ Content และเว็บข่าว ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมได้จาก speakable structured data

4) AI Artificial Intelligence จากนี้และตลอดไป

เมื่อ Google ประกาศตัวว่าเป็น AI first company แล้ว ก็คงไม่ต้องสงสัยอะไรว่า AI (artificial intellingence) และ ML (machine learning) จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกโปรดักส์และเซอร์วิสของ Google นั่นรวมไปถึงเรื่องของ SEO อย่างแน่นอน เอาจริงๆ ในเรื่อง SEO นั้น AI ก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างแล้ว บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า RankBrain มาบ้่าง RankBrain ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ AI ที่ Google นำมาใช้ในการช่วยจัดอันดับและวิเคราะห์ผลลัพธ์ว่าตรงกับความต้องการของการค้นหามากน้อยแค่ไหน และก็ทำการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ คำถามคือแล้วเราจะทำอย่างไร เมื่อ Google ใช้ AI ที่ฉลาดมากขึ้นทุกทีมาช่วยจัดการเรื่องของ SEO จะตอบคำถามแบบนี้ เราก็คงต้องมองไปที่วัตถุประสงค์ของการมี AI นั่นแหละครับ จะไปพูดถึงกระบวนการทำงานของ AI ก็คงจะลำบากและ Google ก็ไม่เคยให้รายละเอียดอะไรมากมายนัก สุดท้ายแล้วส่ิงที่ Google ต้องการให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะใช้ คน หรือใช้ AI ก็ตามที ก็เพื่อให้ผลลัพธ์การค้นหาออกมาตรงกับความต้องการ (User Intent) และถูกต้องมากที่สุด คำถามคือ Google จะรู้ได้อย่างไรว่าผลลัพธ์ที่ไหนที่ดี เว็บไซต์ไหนที่ควรถูกนำมาแสดงผล คำตอบคำแบบง่ายๆ ก็คือ เนื้อหาที่ user ชอบนั่นแหละครับ และสิ่งที่จะบอกได้ว่า User ชอบหรือไม่ชอบ ก็คือส่ิงที่เราเรียกว่า User Signals เช่นค่า CTR, Dwell time หรือ Bounce Rate เป็นต้น ซึ่ง Google ก็จะนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ประมวลผลอีกที

ทำ SEO อย่างไร เมื่อ AI ฉลาดขึ้นทุกวัน

ตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือ ทำเนื้อหาให้เกิดประโยชน์กับ User จริงๆ ทำเว็บไซต์ให้สวยและใช้งานง่าย พูดแบบรวบรัดก็คือ ทำทุกอย่างนั้นนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็น On-page SEO, Mobile-Friendly หรือ Backlink ก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้ว Google ก็ใช้ทุก Signals ในการประมวลผลอยู่ดี ยิ่ง Signals เยอะ ความถูกต้องแม่นยำก็ยิ่งสูงขึ้น สิ่งที่อยากจะย้ำก็คือ แม้ AI จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับ SEO มากเท่าไร แต่การทำ SEO นั้น เราไม่ได้ทำเพื่อให้ AI รักเรานะครับ แท้จริงแล้วการทำ SEO เป็นการทำให้ User รักเรามากกว่า เพราะถ้า User รักเรา AI ก็รักเรานั่นแหละครับ User signals มันฟ้องครับ 🙂

Happy Opitmization 🙂
ใครอยากทำ SEM ไปพร้อมกับ SEO สามารถลงเรียนคอร์ส Google Ads รอบสุดท้ายของปีนี้ได้นะครับ อ่านรายละเอียดที่ลิงค์นี้ คอร์สเรียน Google Ads

เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE OA : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics  อ่านรายละเอียด