SEO คืออะไร ภาษาง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มต้น

SEO-คือ-อะไร

หลายครั้งเมื่อต้องอธิบายว่า SEO คืออะไร มีวิธีการทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้ โดยเฉพาะกับผู้บริหารหรือคนที่ที่ไม่มีพื้นฐานเลยยิ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะลำบาก ถ้าตอบแบบเอาง่ายก็อาจจะบอกว่า SEO คือการทำให้เว็บไซต์ติดอันดับในหน้าแรกของผลการค้นหา แต่คำตอบนี้ไม่ใช่คำตอบที่ผมจะนำมาใช้ เพราะมันเป็นคำตอบที่กำลังจะสร้างความเชื่อความเข้าใจและความคาดหวังที่ผิด แล้วสุดท้ายเราจะถูกกำหนด KPI แบบผิดๆ มาให้ เช่น คีย์เวิร์ด 50 คำนี้จะต้องติดหน้าแรกทั้งหมด 10 คำนี้ต้องมีอันดับไม่ตำ่กว่า 3 และ 5 คำนี้ต้องติดอันดับหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งเราอยากได้ KPI อย่างนี้กันจริงๆ หรือ? เราการันตีอันดับได้จริงหรือเปล่า?

เรื่องของ “อันดับ” เป็นความต้องการที่ไม่สามารถมีใครรับประกันได้นอกเสียจาก Google แม้แต่บริษัทรับทำ SEO แบบเน้นอันดับเองก็เช่นกัน ถ้าทุกบริษัทสามารถรับประกันอันดับหนึ่งถึงสามได้จริง เราก็ลองจ้างสัก 10 บริษัทให้ทำคีย์เวิร์ดคำเดียวกัน สุดท้ายก็จะมีแค่เพียง 3 บริษัทที่ทำได้เท่านั้นถูกไหมครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพียงเพื่ออยากจะอธิบายให้เห็นภาพว่า SEO แท้จริงแล้วนั้นไม่ใช่การทำเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรกอย่างที่หลายๆ คนพูดกัน หากแต่เป็นการทำเว็บไซต์ให้มีโครงสร้างที่ดี (ตาม Guideline ของ Google) และมีเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับผู้เริ่มต้นและผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาแต่ยังไม่รู้ศัพท์เทคนิค บทความนี้จะอธิบายเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัวให้เห็นภาพ อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายกว่าพูดภาษามนุษย์ต่างดาวอย่างแน่นอน รับประกัน!

เว็บไซต์เปรียบเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง สารบัญก็คือโครงสร้างของเว็บไซต์

ให้ลองคิดว่าเว็บไซต์ของเราก็เหมือนกับหนังสือเล่มหนึ่ง Google ก็เหมือนคนอ่านหนังสือคนหนึ่ง เมื่อ Google เริ่มอ่านหนังสือของเรา Google ก็จะทำตัวเหมือนคนอ่านทั่วไป คือเริ่มจากการเปิดดูสารบัญก่อน หนังสือที่มีสารบัญที่ดีย่อมจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาโดยรวมของหนังสือเราได้ง่ายและรวดเร็ว ถ้าหัวข้อต่างๆ มีความน่าสนใจ ไม่ไปซ้ำกับหนังสือเล่มอื่นแล้วผู้อ่านก็จะเริ่มให้ความสนใจและอยากอ่านต่อ  เหมือนเวลาที่เราอ่านหนังสือเราคงไม่ชอบอ่านเรื่องที่อาจจะมีเนื้อหาซ้ำกับสิ่งที่เคยอ่านแล้ว ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ Google เองก็เช่นกัน
ข้อสรุปที่หนึ่ง คือ เว็บไซต์ของเราจะต้องออกแบบให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมกับการอ่านของ Google เพื่อที่จะให้ Google ทำความเข้าใจและรู้จักเว็บไซต์ได้ง่ายที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราเรียกกันว่าการทำเว็บไซต์ให้เป็น Search Engine Friendly และ Mobile Friendly

หน้าหนังสือแต่ละหน้าก็เหมือนกับหน้าบนเว็บไซต์

พอมีสารบัญที่ดีแล้ว คนอ่านเริ่มสนใจอ่านต่อ ส่วนถัดไปคือเนื้อหาสาระจริงๆ ซึ่งเป็น content หลักของหนังสือ ถ้าสารบัญดีแล้วแต่เนื้อหาไม่ดี คนอ่านโยนหนังสือทิ้งแน่นอน Google ก็เช่นกันอีกนั่นแหละครับ เนื้อหาที่ไม่ดีคืออะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เนื้อหาที่ไปก้อปปี้คนอื่นมา เนื้อหาที่น้อย เนื้อหาที่เขียนแบบนำ้ท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลง หรือไม่ก็แทบจะไม่มีเนื้อหาเลย คือเอาสารบัญกับห้อข้อมาล่ออย่างเดียว คล้ายๆclick bait นั่นแหละครับ ในบางกรณี Google ไม่ใช่แค่ไม่ชอบ แต่อาจจะมีบทลงโทษเช่นการลดอันดับอีกด้วยโดยเฉพาะการก๊อปปี้เนื้อหาเว็บไซต์อื่นๆ มา
ข้อสรุปที่สอง คือ เราจะต้องทำเว็บไซต์ให้มีเนื้อหาที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์กับผู้อ่านมากที่สุด ซึ่งผมเองยึดแนวทางนี้และย้ำเรื่องนี้บ่อยๆ เวลาต้องพูดเรื่องนี้ให้ใครฟัง นั่นคือ เรากำลังทำเว็บไซต์ให้ ‘คน’ อ่าน ไม่ใช่ให้ Google อ่าน ส่วน Google จะมีวิธีรู้เองว่าเว็บไซต์เราถูกใจผู้อ่านหรือไม่

หนังสือดี มีหลายหน้าก็ยิ่งดี

ถ้าทำเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้ดีแล้ว จะทำยังไงต่อไปดีล่ะ ตอบแบบตรงไปตรงมาก็เพิ่มเนื้อหาเข้าไปเยอะๆ นั่นแหละครับ เพราะยิ่งจำนวนหน้าหนังสือหนาเท่าไรก็จะมีที่คั่นหนังสือได้มากเท่านั้น คิดง่ายๆ ว่า ถ้าหนังสือหนา 30 หน้า เวลาเราอ่านเจอเนื้อหาดีๆ เราจะพับมุมเล็กน้อย หรือเอาโพสต์อิทแบบ flag มาติดไว้เพื่อกลับมาอ่านซ้ำได้ง่ายขึ้น แล้วถ้าเรามีหนังสือหนา 200 หน้า Google ก็จะมีโอกาสติดโพสต์อิทได้มากกว่าเดิม การติดโพสต์อิทก็เหมือนกับการทำindexไว้ในระบบของ Google นั่นแหละครับ index ยิ่งมากโอกาสแสดงผลบนการค้นหาก็มากขึ้น traffic เข้าเว็บก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ลองดูเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเยอะๆ อย่างพวก pantip sanook kapook เป็นตัวอย่างครับ
ข้อสรุปที่สาม คือ นอกจากเขียนเนื้อหาได้ดีแล้ว จะต้อง ‘ขยัน’ ด้วย คือเขียนให้มาก เขียนเป็นประจำสม่ำเสมอและเขียนอย่างต่อเนื่อง ถ้าคุณเขียนได้ทุกวัน วันละหนึ่งบทความ รับประกันได้ว่าภายใน 3-6 เดือน traffic ที่เข้าเว็บจะเพิ่มขึ้นหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว

หนังสืออ้างอิงท้ายเล่มก็เหมือนกับ Backlink

ท้ายสุดแล้ว ถ้าหนังสือเราดีจริงๆ ก็จะมีคนแนะนำหนังสือเราให้คนอื่นๆ อ่านต่อ บางคนอาจจะเขียนรีวิวหนังสือของเราให้ด้วย และอาจจะมีหนังสือบางเล่มเอาเนื้อหาบางส่วนไปทำการอ้างอิงและใส่ชื่อหนังสือเราไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม ถ้ามองในมุมของเว็บไซต์แล้ว การอ้างอิงจากบรรณานุกรมท้ายเล่มก็เหมือนกับการสร้าง backlink (มีลิงค์จากเว็บไซต์อื่นลิงค์มาที่เว็บของเรา) พอมีหนังสือหลายเล่มอ้างอิงถึง นั่นแสดงว่าหนังสือของเราดีมากๆ ถ้าเราเป็น Google เราย่อมอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้คนอ่านที่สนใจเป็นเล่มแรกๆ จริงไหมครับ เว็บไซต์ของเราก็จะแสดงผลเป็นอันดับต้นๆ ในหน้าแรกของผลการค้นหา
ข้อสรุปที่สี่ คือ การมีลิงค์กลับมาที่เว็บไซต์เราจะเป็นการบอกว่าเว็บไซต์เราได้รับการอ้างอิงถึงซึ่งหมายความว่าเว็บไซต์เรามีเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพ

ง่ายๆ เท่านี้เองครับ สำหรับความหมายและหลักการเบื้องต้นของการทำ SEO จะเห็นว่าความหมายที่แท้จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำ ‘อันดับ’ เลย แต่เป็นการทำ ‘เนื้อหา’ ให้ดีสำหรับผู้อ่านมากกว่า มาปรับความเข้าใจกันใหม่แล้วการทำ SEO จะได้ไปอย่างถูกทิศทาง ส่วนใครที่อยากอ่านแบบภาษาคนทำงานจริง อ่านต่อเรื่อง SEO คืออะไร และ 5 เทคนิคเบื้องต้นที่เริ่มทำเองได้ทันที
Happy Optimization 🙂

เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE OA : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics  อ่านรายละเอียด