ระบบ Machine Learning (RankBrain) และการทำ SEO

เรื่องที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางและเป็นกระแสในแวดวงเทคโนโลยีช่วงนี้คือ เรื่องของ ML – Machine Learning และ AI – Artificial Intelligence ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ตรวจสอบแนวโน้มของการเกิด Fraud ในกลุ่มแบงค์ การวิเคราะห์แนวโน้มของคนที่จะย้ายค่ายมือถือในกลุ่ม Telco ซึ่งจะใช้ Machine Learning ในการคาดการณ์เหตุการณ์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ (Predictive Analytics) หรือแม้แต่ระบบ Chat Bot รวมไปถึงระบบรถยนต์ไร้คนขับ ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี่นี้ด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า Google เองก็มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับเรื่อง AI และ ML นี้มาตลอด ภาพที่เราเห็นชัดที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้และเป็นข่าวที่ค่อนข้างดังในปีที่แล้วคือ Alpha Go ระบบ AI ที่เอาชนะผู้เล่นเกมหมากล้อมอันดับหนึ่งของโลกไปได้อย่างราบคาบ แต่จริงๆ แล้วระบบ Machine Learning นั้นถูกนำมาใช้ในโปรดักส์ของ Google หลายตัวแล้วเพียงแต่เราอาจจะไม่รู้หรือไม่ได้สังเกตเห็น ยกตัวอย่างเช่นระบบ Report ของ Google Analytics เอง ก็มีอยู่หลายรีพอร์ทที่สร้างมาจากระบบ Machine Learning ส่วน SEO นั้นไม่ต้องพูดถึง Google เร่ิมใช้มาตั้งแต่ปี 2015 แล้วในชื่อที่เรียกกันว่า ‘RankBrain’

RankBrain คืออะไร

RankBrain เป็นระบบ AI ที่มีหน้าที่หลักในการช่วยประมวลผลการค้นหาใน Google Search และช่วยในการจัดอันดับผลลัพธ์ของการค้นหา คำถามคือแล้ว RankBrain ทำงานอย่างไร? ซึ่งคำถามนี้ก็คงไม่มีใครตอบได้แน่นอน สิ่งที่น่าสงสัยใคร่รู้มากกว่าก็คือ แล้วมันจะเข้ามาเปลี่ยนหรือมีผลกระทบกับวิธีการทำงานของคนทำ SEO ในระยะยาวอย่างไร?

rank-brain-new-seo-modelภาพจาก : searchengineland.com

Larry Kim เขียนบทความถึงเรื่องนี้ใน searchengineland.com ซึ่งค่อนข้างจะระบุไว้ชัดเจน (ตามความเห็นของเขา) ว่า RankBrain หรือ AI ที่เข้ามาจัดการเรื่อง Search นี้ เน้นความสำคัญไปที่เรื่องของ User Signal เป็นหลัก โดยที่มีวิธีการทำงานที่คาดว่าน่าจะเป็นไปตามภาพไดอะแกรมด้านบนนี้คือ เมื่อมีคนค้นหาคำอะไรสักคำหนึ่งผ่าน Google Search คำๆ นั้นจะถูกนำไปประมวลผลด้วย Algorithm ที่ Google ใช้ในการทำงานตามปกติ แต่ส่วนสำคัญของระบบ Machine Learning จะเกิดขึ้นต่อจากจุดนี้ คือหลังจากที่ผลลัพธ์แสดงออกมาแล้ว ถูก ‘คลิ้ก’ และ ‘ถูกใจ’ ผู้ค้นหาหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หากคราวหน้ามีคนค้นหาด้วยคำคล้ายๆ กันนี้ หน้าๆ นั้นจะถูกแสดงในตำแหน่งที่ดี แต่ถ้าคำตอบคือไม่ หน้าๆ นี้ก็จะถูกแสดงน้อยลง (แต่ไม่ใช่หายไปเลย) เพื่อที่ระบบจะทดลองสลับเอาหน้าอื่นๆ ขึ้นมาทดสอบบ้างนั่นเอง แล้วถ้าหน้าอื่นๆ ที่นำมาทดสอบเกิดถูกใจผู้ค้นหาล่ะ? อันนี้คงไม่ต้องบอก

แล้วอะไรจึงเรียกว่า ‘ถูกใจ’ ผู้ค้นหา

จริงๆ เรื่องนี้ก็ถูกพูดกันมาพอสมควรแล้ว แต่ก็ขอย้ำอีกทีซึ่งก็คือเรื่องของ ‘ประสบการณ์ที่ดี’ ที่ผู้ค้นหาได้รับหลังจากเข้ามาที่หน้าเพจ และแน่นอนว่าปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘เนื้อหา’ ที่ต้องดีมากพอที่จะสร้างให้เกิด User Engagements ซึ่งนำไปสู่ค่า User Signal ที่ดีนั่นเอง และนั่นหมายความว่า

ต่อไป จำนวน Backlinks, ค่า DA/PA, Domain age และตัวเลขในเชิงปริมาณต่างๆ หรือกระทั่ง Structure ของเว็บไซต์อาจจะถูกลดความสำคัญลงหรืออาจจะไม่มีความจำเป็นอีกเลยก็ได้ ถ้าระบบ AI และ Machine Learning ของ Google ‘ฉลาด’ พอที่จะแยกแยะปริมาณและคุณภาพออกจากกัน ซึ่งแน่นอนว่า วันนั้นกำลังใกล้จะมาถึงในอีกไม่นาน

ในขณะที่ตอนนี้ตัวเลขเชิงปริมาณเหล่านี้ยังมีผลต่อการจัดอันดับอยู่ ดังนั้นหลายคนที่ทำ SEO จึงยังโฟกัสไปที่ตัวเลขเหล่านี้ ซึ่งส่วนตัวผมเองไม่ได้ให้ความสำคัญตัวเลขเหล่านี้มากนัก และเชื่อว่าอีกไม่นานนี้การทำ SEO จะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปทำได้เองทุกคน เพราะมันจะเป็นเรื่องของการสร้าง ‘เนื้อหาที่ดี‘ มากกว่าที่จะเป็นตัวเลขในเชิงปริมาณ

Happy Optimization 🙂

Leave a Reply