ข่าวการอัพเดทเกี่ยวกับ SEO ข่าวหนึ่งที่อาจจะไม่ได้น่าตื่นเต้นนักสำหรับคนทั่วไป แต่จริงๆ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ไว้หน่อยก็คือ การอัพเดท Featured Snippets Algorithm เมื่อช่วงสองเดือนที่แล้ว หัวใจสำคัญของการอัพเดทครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการทำให้ Featured Snippets ฉลาดขึ้นและรู้ว่า คอนเทนต์ประเภทไหนที่ต้องการการอัพเดทอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าไม่ใช่ทุกคอนเทนต์ที่ Google จะสนใจว่าต้องอัพเดทใหม่ หรือเพิ่งจะ publish บนหน้าเว็บถึงจะมีอันดับที่ดีที่สุดอย่างที่หลายคนเชื่อกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่หลายคนทำกันอยู่ และหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้อันดับ SEO ดีขึ้นนั้น ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ ยกตัวอย่างเช่น URL จะต้องไม่มีวันเดือนปีที่ publish เนื้อหา เช่น /151019/ (15 ตุลาคม 2019) เพราะจะทำให้ Google รู้ว่า Content นี้เก่าใหม่ อย่างนี้เป็นต้น นัยว่าไม่อยากให้ Google รู้นั่นแหละครับ แต่เอาจริงๆ เราคิดว่า Google ไม่ฉลาดขนาดนั้นกันจริงๆ หรือ? หรือบางเว็บที่แม้จะไม่มีวันที่ใน URL แต่มีในเนื้อหาของคอนเทนต์ ก็ไปแก้ไขเปลี่ยนวันที่ให้เป็นวันปัจจุบันทั้งที่ไม่ได้อัพเดทบทความนั้นมาปีสองปีแล้ว เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน มีหรือ Google จะไม่รู้? เพราะอะไร ทำไมผมเชื่ออย่างนั้นล่ะ คิดแบบง่ายๆ เลยโดยไม่ต้องให้ Google มายืนยันก็คือ ตั้งแต่วันแรกที่ Google Crawl เจอเนื้อหาใหม่ URL ใหม่ แล้วนำไปสร้าง Index เก็บไว้ Google ก็ใช้วันที่ Crawl เจอนั่นแหละครับว่าเจอเนื้อหาใหม่ว่าเป็นวันที่เท่าไร ถ้ายังเข้ามา Crawl ต่อแล้วก็พบว่าเนื้อหาไม่ได้ถูกแก้ไขอะไร Google ก็รู้อยู่ดีแหละครับ จะไปแก้แค่วันที่ทำไม จริงไหมครับ
บางคนที่ทำแบบนี้อยู่ อาจจะบอกว่าได้ผลจริง ทำให้อันดับดีขึ้น ถ้ายังทำแล้วได้ผลก็ดีครับ อย่างนี้ผมคงจะไม่ห้ามอะไร (เพราะทุกอย่างมีข้อยกเว้นเสมอ) แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว Google ฉลาดขึ้นทุกวัน ซึ่งเราต่างก็รู้กันดีจากการที่ Google อัพเดทเครื่องมือต่างๆ ของ Google (ที่ชัดเจนว่าฉลาดมากๆ เลยก็คือ Google Assitant เวอร์ชั่นใหม่นี่แหละ แนะนำให้ลองเล่นกันดูนะครับ) และรวมถึง Featured Snippets Algorithm ที่กำลังจะกล่าวถึงในบทความนี้เช่นกัน
การค้นหาแบบไหนที่ Google ต้องการ Freshness และความใหม่มีผลต่ออันดับ SEO
Google ยกตัวอย่างรูปแบบการค้นหา 3 ประเภทที่ต้องการเนื้อหาที่มีความ “สดใหม่” ได้แก่
- ข้อมูลประเภทที่ต้องการการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ
- ข้อมูลที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
- อีเวนท์ และงานกิจกรรม ต่างๆ ที่มีการจัดขึ้น
และทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้คอนเทนต์ที่ Google ส่งมอบออกไปนั้นถูกต้อง ไม่ล้าสมัย และมีประโยชน์ต่อผู้ที่ค้นหาจริงๆ ตามที่กูเกิ้ลอธิบายไว้ดังนี้
“…a new algorithm update improves our systems’ understanding of what information remains useful over time and what becomes out-of-date more quickly.
This is particularly helpful for featured snippets, a feature in Search that highlights pages that our systems determine are most likely to have the information you’re looking for.
For queries where fresh information is important, our systems will try to find the most useful and up-to-date featured snippets.”
โดยสรูปสั้นๆ ก็คือ การค้นหาแบบไหนที่ Google รู้ว่า “ความใหม่” ของ Content มีความสำคัญ ระบบจะพยายามหาเนื้อหาที่ up-to-date มากที่สุดนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราพิมพ์ค้นว่าวัน “วันหยุดราชการ” อย่างนี้ผลลัพธ์ก็ควรเป็นตารางวันหยุดของปีปัจจุบัน ไม่ใช่ปีที่แล้วถูกไหมครับ ตัวอย่างด้านล่างผมลองค้นหาด้วยคำว่า “แมนยู ลิเวอร์พูล” ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเห็นว่ามีการแสดง Featured Snippets เป็นตารางแข่งขันระหว่างแมนยูและลิเวอร์ในนัดถัดไปที่กำลังจะแข่งในสัปดาห์หน้า หรือกระทั่งผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ Featured Snippets ก็จะเป็นผลลัพธ์ที่ up-to-date จริงๆ เช่น “ข่าวร้ายแมนยูก่อนเจอลิเวอร์พูล” (บทความเผยแพร่เมื่อ 4 วันที่แล้ว สังเกตจะมีคำว่า 4 days ago ตัวเล็กๆ) หรือผลลัพธ์อย่างเช่น “แมนยูขอใช้สูตรหานักเตะเสริมทัพตามแบบลิเวอร์พูล” (16 hours ago ซึ่งที่น่าสนใจเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเตะแมนยูส่วนใหญ่ฟอร์มการเล่นไม่ดีเลย) เห็นไหมครับว่า ผลลัพธ์แบบนี้จำเป็นและต้องการข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เสมอ และเวลาที่เผยแพร่บทความจึงค่อนข้างจะมีผลและมีความสอดคล้องกับการค้นหา
Evergreen Content ไม่ได้รับผลกระทบจากการอัพเดท Featured Snippets Algorithm
สิ่งหนึ่งที่กูเกิ้ลกล่าวไว้ก็คือ เนื้อหาประเภท Evergreen Content จะไม่ได้รับผลกระทบจากการอัพเดทนี้ และไม่จำเป็นต้องอัพเดทเนื้อหาบ่อยๆ (อัพเดทเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เท่านั้นก็พอ) เพราะ Evergreen Content นั้นส่วนใหญ่เนื้อหาจะเป็น “Fact” ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเท่าไร ยกตัวอย่างของ Evergreen Content หรือบางคนจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า “บทความอมตะ” หรือ “บทความสดเสมอ” ก็แล้วแต่ เช่น “สีเขียวของใบไม้เกิดจากอะไร?” “ฝนเกิดจากอะไร?” ถ้าให้ดูเป็นธุรกิจมากขึ้นก็เช่น “วิธีจดทะเบียนบริษัท” รวมไปถึงเรื่องทั่วไปอย่างเช่น “ท่าบริหารอาการปวดหลัง” อะไรประมาณนี้ จะเห็นได้ว่าคำตอบของคำถามเหล่านี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
หมายความว่าบทความลักษณะที่เป็น Evergreen Content เรื่องของเวลาการ Publish บทความ Freshness หรือความสดใหม่ ไม่มีผลโดยตรงกับอันดับ SEO ดังนั้นสิ่งที่จะมีผลก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพของเนื้อหาเป็นหลัก ถ้ายกตัวอย่างเว็บของ Google Analytics Thailand เอง ก็พบว่ามีบทความจำนวนไม่น้อยที่แม้จะเผยแพร่ผ่านไปสามสี่ปีแล้วก็ตาม ในตอนนี้ก็ยังสามารถแสดงผลอยู่ที่อันดับต้นๆ ของหน้าแรกผลการค้นหา
ดังนั้น “ความเชื่อ” บางอย่างของการทำ SEO เราก็ควรคิดและเชื่ออย่างมีข้อมูลและเหตุผล สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่า Content ประเภทไหนที่ต้องการการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอ และ Content ประเภทใดที่ไม่จำเป็นมากนัก ลองกลับไปตรวจสอบดู Content กันนะครับ มีอะไรบ้างที่ถึงเวลาต้องอัพเดทอย่างจริงจังแล้ว และย้ำว่าไม่ใช่แค่การอัพเดทวันที่ Published Date นะครับ อย่างที่บอก หลอกใครก็หลอกได้ แต่หลอก Google ไม่ได้หรอกครับ
Happy Optimization 🙂