SEO content audit เรื่องที่คนทำ SEO สาย content ต้องเข้าใจ

วิธีตรวจสอบเนื้อหาบนเว็บไซต์ seo-content-audit

คงไม่มีใครทราบว่าบทความหนึ่งที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสองปีที่แล้วเรื่อง การลาออกและประกันสังคม จะกลายเป็นบทความ Top 3 ที่มีการเข้าชมสูงสุดจนกระทั่งทุกวันนี้ ในบางเดือนโดยเฉพาะเดือนที่น่าจะมีการลาออกค่อนข้างมากกว่าปกติ อย่างเดือนมกราคม บทความนี้จะมียอดเข้าชมเป็นอันดับหนึ่งเลยทีเดียว ถ้ามองว่าเป็นบทความที่มีประโยชน์และมีทราฟฟิคจำนวนมากก็ถือว่าดี แต่ถ้ามองในมุม SEO แล้ว สำหรับผมเองนี่ถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง

แล้วทำไมถึงเป็นปัญหาทั้งที่ทราฟฟิคเยอะดีอยู่แล้ว?

นั่นเป็นเพราะบทความนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักของเว็บไซต์เลย ทราฟฟิคที่เข้ามานั้นก็แน่นอนว่าส่วนใหญ่คงจะไม่ใช่กลุ่มคนที่สนใจเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ Googleanalyticsthailand จริงๆ ดังนั้นผมก็เลยมีความคิดที่จะลบบทความนี้ออกไปจากเว็บไซต์ ซึ่งพิจารณาในเชิง Technical SEO แล้วก็ค่อนข้างจะสมเหตุผล เพราะการตัดเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างสิ้นเชิงน่าจะช่วยให้ Google เข้าใจเนื้อหาหลักได้ดีขึ้น และที่สำคัญคือค่า Link Juice หรือ Link Equity นั้นจะได้ถูกส่งเป็นที่เนื้อหาอื่นที่ตรงกับ Content หลักของเว็บไซต์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการ Remove Content for SEO นั้น มีเรื่องที่จะต้องวางแผนและคิดให้ละเอียดรอบคอบก่อน ไม่ใช่แค่เพียงฟังมาว่า ลบ Content เก่าๆ ที่ไม่มีคนเข้าดู หรือ Content ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหลักของเว็บไซต์ออกแล้วทำให้ SEO ดีขึ้น ก็หลับหูหลับตาลบออกไป ทำแบบนั้นก็คงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องนัก บทความนี้เลยจะมาพูดถึงเรื่องของการทำ SEO Content Audit ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ทำให้เราได้คำตอบว่า เนื้อหาอะไรควรจะต้องเก็บไว้ เนื้อหาอะไรต้องอัพเดท เนื้อหาอะไรควรตัดออก หรือยุบรวมเข้าเป็นบทความเดียว เป็นต้น

Content Audit คืออะไร

Content Audit เป็นกระบวนการในการตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมดภายในเว็บไซต์ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยในเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของเว็บไซต์ ยกตัวอย่างเครื่องมือที่คนทำ SEO ส่วนใหญ่รู้จักก็เช่น Google Analytics, Google Search Console และเครื่องมือที่ใช้ Crawl เว็บไซต์อย่าง Screaming Frog, Ahrefs และอื่นๆ โดยที่เครื่องมือเหล่านี้จะทำให้เรามีข้อมูลสำคัญๆ ต่างๆ ของแต่ละบทความ แต่ละ URLในเว็บไซต์ของเรา ไม่ว่าจะเป็น Pageviews, Impressions, Click, Ranking, URL rating, Backlinks และค่าอื่นๆ อีกมากมายที่เราจำเป็นต้องใช้ในการทำ Content Audit ซึ่งข้อมูลสำคัญเหล่านี้ก็จะถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ตัดสินใจต่อว่าควรจะต้องทำอย่างไรกับ Content แต่ละ Content เช่น Update, Remove หรือ Consolidate เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดตั้งแต่การทำ Audit จนกระทั่งจัดการกับ Content เป็นเทคนิคที่เรียกกันว่า Content Pruning

Content Pruning มีประโยชน์กับ SEO อย่างไร

Content Pruning ถ้าอธิบายแบบให้เห็นภาพเข้าใจง่ายๆ ก็คล้ายกับการตัดแต่งต้นไม้นั่นแหละครับ เวลาเลี้ยงต้นไม้บางครั้งมันก็ต้องมีกิ่งก้านใบที่เหี่ยวทรุดโทรม หรือถูกแมลงกัดกิน การตัดแต่งกิ่งก้านที่ทรุดโทรมเสียหายออกก็จะทำให้อาหารถูกส่งไปกิ่งก้านที่แข็งแรงได้อย่างเต็มที่ สามารถออกดอกผล รวมไปถึงมีรูปทรงที่สวยงาม ถ้าเปรียบเทียบกับการทำเว็บไซต์ การ “ตัด” และ “แต่ง” ก็เหมือนกับการ Remove และ Update เนื้อหา Content ให้มีความทันสมัยขึ้น รวมไปถึงการลบบทความที่ซ้ำซ้อน ไม่ Relevant กับ Content หลักออกไป ซึ่งก็จะทำให้ Link Juice นั้นถูกส่งไปที่เนื้อหาหลักที่มีความสำคัญ และได้ SEO value อย่างเต็มที่นั่นเอง

ขั้นตอนการทำ Content Audit

ขั้นตอนของการทำ Content Audit จะมีอยู่ 3 ส่วนหลักด้วยกันคือ

  1. Scope: กำหนด Scope งานในการทำ Audit
  2. Collect: เก็บข้อมูลด้วยการใช้เครื่องมือ Crawl เว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เช่น Google Analytics
  3. Evaluate & Action: ประเมินคุณภาพของ Content จากข้อมูลที่มี

ขั้นตอนที่ 1: Scope

ขั้นแรกที่ควรทำสำหรับการทำ Content Audit คือการกำหนดขอบเขตของการ Audit ว่าจะทำทั้งไซต์หรือทำแค่บางส่วน บาง Category ซึ่งโดยปกติถ้าเว็บไซต์มีขนาดไม่ใหญ่หรือมีจำนวน URL ไม่มากนัก การทำ Audit ทั้งไซต์ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเว็บไซต์มีขนาดใหญ่ การเลือกทำทีละ Category หรือทำเฉพาะส่วนที่ของ Blog ก่อน ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่ทำให้เวียนหัวจนเกินไป

ขั้นตอนที่ 2: Collect

ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลนี้เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมือดีๆ ที่ให้ใช้งานฟรีอยู่มากมาย แต่ละเครื่องมือก็จะให้ชุดข้อมูลที่จำเป็นแตกต่างกันไป ยิ่งมีเครื่องมือเยอะ ก็จะมีข้อมูลที่ช่วยตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่หลายคนรู้จักและอาจจะใช้งานก็อยู่แล้ว ไม่ว่าฟรีหรือเสียเงินก็ตาม ก็สามารถที่จะนำมาใช้ทำ Content Audit ได้แล้ว ตัวอย่างเช่น

  • Google Analytics : เครื่องมือนี้จะให้ข้อมูล Total Traffic, Organic Traffic ของแต่ละ URL, จำนวน Pageviews และ Unique Pageviews, Time on page, Engagement Rate รวมไปถึงค่าสำคัญอย่าง Conversion และ Conversion Rate
  • Google Search Console : เครื่องมือนี้จะให้ข้อมูล Impressions, Clicks, CTR และ Position ของแต่ละ URL
  • Ahrefs : เครื่องมือนี้จะให้ข้อมูลตัวเลขจำนวน Backlinks, Referring Domains, ค่า URL rating และค่า On-page SEO ต่างๆ
  • Screaming Frog : รวมไปถึงเครื่องมือ Crawler อื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งกลุ่มเครื่องมือเหล่านี้จะให้ข้อมูลส่วนใหญ่คล้ายๆ กัน เช่น On-Page SEO, จำนวน Word Count, Crawl Depth, Redirect Chains, Response time รวมไปถึง Error ต่างๆ ที่เครื่องมือตรวจพบขณะที่ Crawl เว็บไซต์

เมื่อได้ข้อมูลจากเครื่องมือต่างๆ แล้ว ก็ควรที่จะ Export ออกมาทำงานบน Excel โดยใช้พวกฟังชั่น Vlookup ในการรวมข้อมูลจากทุกเครื่องมือให้อยู่ในชีทเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การ Evaluate ในขั้นตอนต่อไปทำได้สะดวกมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 3: Evaluate & Action

หลังจากที่ได้ข้อมูลมากมายจากขั้นตอนที่ 2 แล้ว เราก็จะสามารถวิเคราะห์ตัดสินใจต่อได้ว่า ในแต่ละบทความ แต่ละ URL เราควร Action อย่างไรต่อไป ซึ่งการ Action ต่อนั้นสุดท้ายจะเหลือเพียง 5 ทางเลือกหลักคือ

  • NO Changed Needed
  • Content Update and Refresh
  • Content Rewrite
  • Content Consolidate
  • Content Deletion

No Changed Needed

กรณีนี้คือไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งการที่เราจะปล่อย Content ไว้แบบนั้น Content นั้นก็ควรจะมี Performance ที่ดีตามเงื่อนไขบางอย่างที่เรากำหนดไว้ก่อน เช่น

  1. เนื้อหาถูกต้องและอัพเดท
  2. มีปริมาณทราฟฟิค และ Engagement ที่ดี
  3. มีปริมาณ Quality Backlinks และ Social Shares พอสมควร
  4. มีอันดับในผลการค้นหาอยู่ที่ 1-3
  5. มี Conversion Rate ที่สูง

ซึ่งถ้า Content ไหนมี Performance ที่ดีแบบนี้ เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำอะไร สามารถปล่อยไว้แบบนั้น แล้วเอาเวลาไปแก้สิ่งที่ควรแก้ให้ดีก่อน

Content Update and Refresh

Content ที่ต้องการการอัพเดทนั้นมักจะเป็นคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาที่ดีมีประโยชน์แต่เร่ิมที่จะไม่ทันสมัยหรือไม่ตรงกับความนิยมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เราเขียนบทความเกี่ยวกับเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ที่มีการออกเวอร์ชั่นใหม่ๆ อัพเดทออกมาเรื่อยๆ บทความที่เราเขียนก็จะกลายเป็นบทความที่แม้จะยังพอใช้งานได้แต่ก็จะค่อยๆ ล้าสมัยไปถ้าขาดการอัพเดท ซึ่งส่วนมากบทความเหล่านี้ก็มักจะเข้าเงื่อนไขดังนี้

  1. เนื้อหาเก่า และไม่ตรงกับข้อมูลในปัจจุบัน
  2. มีทราฟฟิคที่ค่อนข้างคงที่ หรือมีแนวโน้มลดลง
  3. มี Backlinks และ Social Shares อยู่บ้างแต่ไม่มาก
  4. มี Engagement ที่ต่ำลง
  5. มี Conversion เพียงเล็กน้อย

เรื่องสำคัญของการ Update และ Refresh Content นั้น ให้เราคิดเสมอว่าการอัพเดทนั้นจะต้องเป็นประโยชน์กับคนอ่าน ตรงกับ Search Intent รวมไปถึง Content ที่อัพเดทใหม่นั้นควรจะต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่งทั้งหมดบนผลการค้นหาหน้าแรก

Content Rewrite

กรณีนี้คือการเริ่มต้นเขียน Content ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งกรณีเช่นนี้มักจะเป็นบทความที่มีหัวข้อที่น่าสนใจ มีประโยชน์ เพียงแต่เป็นบทความที่เขียนได้ไม่ดี เขียนแบบลวกๆ เร็วๆ ซึ่ง Content ที่ควรจะต้องถูก Rewrite ใหม่หมดนั้นมักจะมีลักษณะดังนี้

  1. มีทราฟฟิคน้อยมาก หรือไม่มีเลย
  2. ไม่มี Backlinks หรือ Social Shares มานาน
  3. ไม่มี Conversions เกิดขึ้น
  4. ไม่อยู่ในผลการค้นหาหน้าแรก
  5. มีจำนวน Word Count ที่ต่ำ

Content Consolidation

Content Consolidation คือการรวบ Content หลายๆ Content ให้เหลือเพียง Content เดียว ซึ่งการทำเช่นนี้ส่วนใหญ่มักจะมีเหตุผลหลักมาจากการที่มี Content หลายๆ Content เขียนในหัวข้อเดียวกัน จึงทำให้ Content เหล่านั้นแข่งขันกันเองในการทำอันดับบน Keyword เดียวกัน และหลายๆ ครั้งมันก็นำไปสู่ปัญหาที่แบรนด์ไม่ค่อยจะอยากให้เกิดขึ้นคือ Keyword ที่โฟกัสดันไปติดอันดับด้วย Content ที่เราไม่ได้อยากให้ติด ซึ่งหลายๆ คนก็น่าจะเคยเจอเหตุการณ์นี้กันมาบ้าง ดังนั้น Content ต่างๆ ที่เข้าเกณฑ์ดังนี้ ควรจะต้องมีการทำ Content Consoliation

  1. มีหลาย Content ที่เขียนในหัวข้อเดียว และมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน
  2. Content หลักไม่ติดในหน้าแรก ส่วน Content ที่ติดหน้าแรกไม่ใช่หน้าที่ต้องการ
  3. มีทราฟฟิคอยู่เพียง Content เดียว ที่เหลือมีน้อยหรือไม่มีเลย
  4. ไม่มี Content ไหนที่ติดอยู่หน้าแรกเลย

ประเด็นสำคัญของการทำ Content Consolidation นั้น ก็ไม่ต่างจากการทำ Content Update หรือ Content Rewrite คือการทำให้บทความใหม่นั้นดีกว่าบทความเดิมและ Content อื่นๆ ของคู่แข่งบนผลการค้นหาหน้าแรก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ หลังจากที่เรารวบรวม Content ให้เหลือเพียง Content เดียวแล้ว Content ที่เหลือถ้าจะทำการลบออกไปก็ควรจะต้องทำ 301 Redirect ด้วย เพราะการทำ 301 Redirect จะช่วยทำให้เกิดการส่งค่า Link Equity และค่าสำคัญต่างๆ จากหน้าเหล่านั้นมาที่หน้าที่เราทำ Content Consolidation ด้วย

Content Deletion

แม้ว่าการลบ Content ออกจากเว็บดูเป็นเรื่องที่ขัดความรู้สึกของการทำ SEO รวมถึง Google Speaker ก็มักจะกล่าวบ่อยๆ ว่าไม่ควรลบ Content ออกจากเว็บไซต์ แต่หากเราพิจารณากันอย่างละเอียดแล้ว การลบ Content ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้เลย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือเรื่องของการของการทำ Content Consolidation และเคสจริงของผมเองเรื่องบทความ การลาออกและประกันสังคม ที่กล่าวไว้ในตอนต้น แต่อย่างไรก็ตามการทำ Content Deletion ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบคอบ รวมถึงมีข้อมูลช่วยในการตัดสินใจอย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว การลบ Content ออกจึงจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ดังนั้นถ้าจะตัดสินใจลบ Content ออก Content นั้นก็ควรจะมีเงื่อนไขดังนี้

  1. เป็น Content ที่เก่า และไม่มีการอัพเดท และไม่มีอะไรให้อัพเดท
  2. เป็น Content ที่ไม่มีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ไม่เกี่ยวข้องเนื้อหาหลักของเว็บไซต์
  3. เป็น Content ที่ไม่มีทราฟฟิค หรือมีน้อยมากมาตั้งแต่อดีต
  4. ไม่เคยมี Backlinks หรือ Social Shares
  5. เป็น Content ที่ไม่เคยมี Conversion

*** ส่ิงที่ต้องพึงตระหนักไว้ตั้งแต่แรกก็คือ การลบคอนเทนต์ออกนั้นจะส่งผลโดยตรงกับทราฟฟิคที่เข้าเว็บไซต์ทันทีไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงควรคิดให้รอบคอบและวางแผนการทำงานให้ดีตั้งแต่ต้น

น่าจะพอเห็นภาพการทำ Content Audit และ Content Pruning กันมากขึ้นแล้วนะครับ อย่าลืมว่าส่ิงสำคัญของการทำเว็บไซต์นั้นก็ไม่ต่างจากการดูแลต้นไม้ ไม่ใช่ทำแค่อัดปุ๋ยแล้วให้มันแตกกิ่งใบออกมาเยอะๆ แต่ต้องคอยดูแลตัดแต่งส่วนที่ทรุดโทรม ไม่แข็งแรงออกด้วย เพื่อให้มันเติบโตขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรง

Happy Optimization 🙂
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด

Leave a Reply