2014 LINE business seminar เก็บมาเล่า เอามาคิด

บ่ายวันนี้ ทาง Line ประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาที่ใช้ชื่อว่า 2104 Line business seminar ขึ้นโดยเน้นกลุ่มผู้เข้าฟังไปที่เจ้าของแบรนด์สินค้า และมีเดีย เอเจนซี งานนี้แน่นอนวัตถุประสงค์หลักแล้วยังไงคงหนีไม่พ้นเรื่องการขายของอยู่แล้ว แต่โดยรวมถือว่าจัดงานได้ดีทีเดียว (โดยเฉพาะของแจกในงานที่ทุกคนได้รับ:) นอกจากของแจกแล้ว ข้อมูลต่างๆ ภายในงานก็น่าสนใจไม่น้อย แต่ก็มีบางประเด็นที่ผมยังมีข้อสงสัยอยู่ ขอสรุปให้ฟังคร่าวๆ เป็นข้อดังนี้ครับ

  1. “LINE” เกิดขึ้นที่เกาหลี แต่ไปดังที่ญี่ปุ่น ในเกาหลีเองถือว่าคนใช้น้อย เพราะมีเจ้าใหญ่ครองพื้นอยู่ก่อนแล้ว ขออภัยที่จำชื่อไม่ได้จริงๆ 🙁
  2. ชื่อ “LINE” มาจากแถวของคนที่ต่อคิวกันเพื่อจะโทรศัพท์ติดต่อญาติ ในช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมื่อง ฟุกุชิมะ ซึ่งในเวลานั้นสัญญาโทรศัพท์ใช้ไม่ได้ แต่ wifi ใช้ได้ ทาง naver ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของ LINE จึงได้สร้าง app นี้ขึ้นมาเพื่อให้ชาวญี่ปุ่นใช้งานกันเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของ LINE
  3. ในฐานะแบรนด์ หลายคนเข้าใจว่า การจะหา friends เยอะๆ เป็นหลักล้าน หรือหลายล้านนั้น จะต้องเปิด OA (Official Account) แล้วสร้างสติกเกอร์เพื่อให้คนที่ต้องการสติกเกอร์ add friend ก่อนเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิดอะไร เพราะหลายๆ แบรนด์ก็ทำเช่นนี้มาตลอด แต่วันนี้ Tesco Lotus ถือเป็น case study ที่ดีมาก เนื่องจากเทสโก้เป็นแบรนด์ที่สร้าง Line Official Account ที่สามารถสร้าง friend ได้มากกว่าหนึ่งล้านคน โดยที่ไม่มี sticker!!! นั่นแสดงว่าคนที่เป็น friend ของ tesco lotus เป็นแฟนตัวจริงของแบรนด์อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ ผมว่ามันไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
  4. ข้อมุลจากทีม LINE บอกว่า 15%-50% ของคนที่ดาวน์โหลดสติกเกอร์ จะบล็อก official account แล้วหลังจากที่ดาวน์โหลด สมมุติว่า แบรนด์ A ทำ sticker line แล้วได้ friend 10 ล้านคน worst case คือมี 5 ล้านคนที่บล็อกแบรนด์ A ถ้าคิด CPAF (cost per active friend) อย่างคร่าวๆ ก็จะได้เท่ากับ 1.6 บาท/1 friend (8 ล้าน* หารด้วย 5 ล้าน — * การเปิด Premium OA + Line sticker 1ชุด ใช้เงินประมาณ 8 ล้านบาท) ถ้าสามารถสร้าง friend ได้มากกว่า 10 ล้าน CPAF ก็จะลดลง ถ้าเทียบกับการซื้อ Like ใน facebook คุ้มหรือไม่คุ้มก็ต้องลองพิจารณากันดูนะครับ
  5. Line เคลมว่า engagement ของ Line Home (คล้ายๆ หน้าแฟนเพจของ Facebook นั่นแหละครับ ถ้าอยากจะมีต้องจ่ายตังค์เพิ่ม) มี engagement rate ที่ดีกว่า facebook มาก ประเด็นนี้ผมยังสงสัยอยู่นะครับ เพราะทาง Line ใช้วิธีคำนวณโดยการเอาจำนวน engagement หารด้วยจำนวน fan หรือ friend ซึ่งสำหรับ facebook แล้ว ถ้าคิดด้วยวิธีนี้จะดูถูกเอาเปรียบไปสักหน่อย เนื่องจากการโพสต์ข้อความใน facebook แต่ละครั้งจะ reach แฟนได้ไม่ถึง 5% ของจำนวนแฟน แต่ของ Line ข้อความไปถึงทุกคน 100%
  6. “Must Buy” ถือเป็นฟีเจอร์ใหม่ของ Line ที่แบรนด์ Bar B Q plaza เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่เคยใช้ในประเทศไทย วิธีการทำงานของฟีเจอร์นี้คือ การที่จะให้คนที่อยากได้ sticker ของแบรนด์นี้ต้องเข้าไปกินอาหารที่ร้านเป็นเงินที่กำหนดตามเงื่อนไขและจะได้ coupon ชิงโชคที่จะมีรหัสพิเศษที่ใช้กรอกตอนที่โหลดสติกเกอร์ ใครไม่มีรหัสจะไม่สามารถโหลดได้ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มยอดขายของร้าน และยังได้ลูกค้าแฟนพันธ์ของแบรด์เข้ามาเป็น Friend ด้วย ถือเป็นฟิเจอร์ที่น่าสนใจมากทีเดียว
  7. “Keyword Search” ฟีเจอร์ที่ให้ทางแบรนด์สามารถสร้างคำตอบที่เฉพาะเจาะจงสำหรับคำค้นหาใน Official account ได้ เช่นพิมพ์คำว่า “Brown” ให้ตอบเป็น Rich Message เพื่อให้คลิ้กต่อไปทำอย่างอื่น ถ้าพิมพ์คำว่า “Cony” ให้ตอบเป็นข้อความที่ระบุ
  8. “Free Coin” กับ “Banner Official Account” เป็นอีกสองฟีเจอร์ที่พูดถึงในวันนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ ถือเป็นการซื้อโฆษณาเพื่อสร้าง Friend เป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าต้องจ่ายเงินเช่นเดิม
  9. ข้อสุดท้าย อันนี้เป็นความชอบส่วนตัว ตรงที่ LINE ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสแกน QR Code ก่อนเข้างาน เพื่อเป็น friend กับ Official Account ที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ โดยระหว่างงานก็มีการเล่นเกมผ่านแอปนี้เพื่อแจกของรางวัล แต่ที่เวิร์คมากๆ คือการใช้ OA นี้ในช่วง Q&A โดยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาส่งคำถามผ่าน LINE เข้าไป ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับเนเจอร์ของคนไทยมากๆ ที่มักไม่กล้าที่จะลุกขึ้นถามตรงๆ

วันนี้เก็บได้เท่านี้ครับ ถ้าหากนึกอะไรออก หรือมีโอกาสได้ร่วมงานสัมมนากับทาง Line อีกครั้งจะนำข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากอีกครับ 🙂

Leave a Reply