3 องค์ประกอบพื้นฐานที่ต้องรู้ ก่อนเริ่มต้นใช้งาน Google Tag Manager

Google-Tag-Manager

เครื่องมือตัวหนึ่งที่ผมมักจะแนะนำให้ทุกคนรู้จักหลังจากจบคลาสเรียน Google Analytics ก็คือ Google Tag Manager ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะกับเว็บไซต์ที่ต้องติดตั้ง Tags และ Scripts จำนวนมากๆ รวมไปถึงคนที่ใช้งาน Google Analytics อยู่แล้ว เพราะเครื่องมือนี้ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกับ Google Analytics ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การเซ็ตอัพเรื่องต่างๆ เป็นไปได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียวแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็ตอัพ Event tracking หรือกระทั่งเรื่องยากๆ อย่าง Cross Domain Tracking ก็ตาม (อันนี้ผมทำเองมาแล้ว) ก็ใช้เวลาทำเพียงไม่นาน

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่หลายคนเมื่อเริ่มต้นศึกษาใช้งาน Google Tag Manager ก็คือ มันไม่ได้เข้าใจง่ายเท่าไรนัก ผมเองที่ไม่ใช่สายโปรแกรมเมอร์แท้ ช่วงแรกๆ ยังเสียเวลาทำความเข้าใจอยู่พอสมควร แต่พอเข้าใจแล้วหลายๆ เรื่องที่แต่ก่อนต้องอาศัยโปรแกรมเมอร์ช่วย ก็สามารถทำเองได้อย่างง่ายดาย แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น บทความนี้ขอเริ่มต้นที่ส่วนประกอบสำคัญของ Google Tag Manager กันก่อนที่จะเริ่มเซ็ตอัพ Event ในบทความถัดๆ ไป สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักว่า Google Tag Manager คืออะไร ติดตั้งอย่างไร แนะนำอ่านบทความนี้ก่อนครับ Google Tag Manager คืออะไร อธิบายง่ายๆ พร้อมวิธีติดตั้งทีละขั้นตอน

3 องค์ประกอบสำคัญของ Google Tag Manager

  1. Tags
    แท็ก ก็คือชุดของ Script สั้นๆ ที่ถูกรันบนหน้าเว็บเพจของเราเพื่อส่งข้อมูลออกไปยัง Third Party ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้นึกถึงสคริปต์ของ Google Analytics ก็ได้ครับที่พอเวลามีการเรียกดูหน้าเว็บ URL ใดก็ตามสคริปต์ Google Analytics ก็จะรันและส่งข้อมูลออกไปที่เซิฟเวอร์ของ Google นั่นเอง พอจะนึกภาพออกแล้วใช่ไหมครับ เอาจริงๆ แล้ว Facebook Pixel หรือ Adwords Conversion Tracking ก็เป็น Tags อย่างหนึ่งเหมือนกันนั่นแหละครับ ซึ่งตามปกติหากเราไม่ใช้ Google Tag Manager สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ จะต้องเอา Script เหล่านี้ไปติดตั้งโดยตรงบนเว็บไซต์ พอติดตั้งแล้วหากหน้าเว็บไซต์ถูกโหลด สคริปต์ที่ติดตั้งไปก็จะทำงานทันที แต่เมื่อมีการใช้งาน Google Tag Manager แล้ว Tags ต่างๆ เหล่านี้จะทำงาน (หรือ GTM จะเรียกว่า Fire) ได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนด Trigger ให้แต่ละ Tag ด้วย เพื่อที่ Trigger นี้จะสั่งให้ Tags ทำงานเมื่อเข้าเงื่อนไขบางอย่างที่กำหนดไว้แล้ว เช่น URL มีคำว่า “Thankyou.html” เป็นต้น
  2. Triggers
    อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ Trigger เป็นเหมือนตัวสั่งงานให้ Tag ทำงานได้ ดังนั้นตัว Trigger เองจึงเป็นเหมือนสถานะที่จะบอกว่าให้ “ทำได้” หรือ “ห้ามทำ” ซึ่งในทางเทคนิคอลจะมีค่าแทนว่า “True” คือทำได้ หรือ “False” คือห้ามทำนั่นเอง โดยการที่ Trigger จะมีค่า True หรือ False นั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสุดท้ายคือ Variable หมายความว่า ถ้าจากตัวอย่างในข้อ 1 คือ เรากำหนดให้ URL เป็น Variable ที่จะต้องมีค่าเท่ากับ Thankyou.html เพื่อให้ Adwords Conversion Pixel ทำงานในหน้า Thankyou.html หากว่าหน้าที่ถูกโหลดไปไม่ใช่หน้านี้ เช่นเป็นหน้า shoppingcart.html Trigger ก็จะมีสถานะเป็น “False” สคริปต์ Adwords Conversion Pixel ก็จะไม่ทำงานนั่นเอง
  3. Variables
    Variable คือ ตัวแปร หรืออธิบายอย่างง่ายขึ้นอีกนิดก็คือ ชื่อของข้อมูลและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน (งงหนักไปอีก – -“) ยกตัวอย่างคือ Variable ชนิด URL ชื่อของ Variable ก็คือ URL ส่วนค่าของมันก็จะเป็น URL ของหน้าที่กำลังถูกโหลดไปนั่นเอง พอจะเข้าใจแล้วนะครับ ตัวแปรชนิด URL นี้ Google Tag Manager จะเรียกมันว่า Built-in Variables ซึ่งก็คือตัวแปรที่ Tag Manager เตรียมไว้ให้เราแล้วเพื่อความสะดวกและง่ายในการเลือกใช้งาน แต่จริงๆ ยังมีตัวแปรอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Custom Variables ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราสามารถกำหนดเองได้ทั้งชื่อและค่าของมัน แต่บทความนี้ขออนุญาติข้ามเรื่องนี้ไปก่อนนะครับ เพราะมันค่อนข้างซับซ้อน เกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ อีก เช่น Data Layer เอาไว้จะพูดถึงเมื่อมีตัวอย่างที่ต้องใช้งานนะครับ

ถึงตรงนี้น่าจะพอเข้าใจแนวคิดและหลักการพื้นฐานของการทำงานของ Google Tag Manager กันแล้วนะครับ บทความหน้าจะมาอธิบายวิธีติดตั้ง Facebook Pixel และ Adwords Conversion Tracking Code ผ่าน Google Tag Manager กันต่อครับ วันนี้ขอนอนก่อนแล้วครับ พรุ่งนี้ต้องไปซานฟรานแต่เช้าตรู่

Goodnight from Los Angeles krub
Happy Analytics 🙂

Leave a Reply