Subdomain vs Subdirectory อะไรดีกับ SEO มากกว่ากัน

subdomain vs subdirectory

เรื่องการทำ SEO นั้น มีหลายครั้งที่เราจะต้องเจอกับเรื่องยากๆ ที่ต้องตัดสินใจ และในหลายกรณีก็เป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยอยู่เหมือนกันว่าควรต้องตัดสินใจอย่างไร ทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่ดีต่อ SEO มากที่สุด คำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยและเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในกลุ่มคนที่ทำ SEO ก็คือ ในกรณีที่เราต้องขึ้นหมวดหมู่ใหม่ในเว็บไซต์ ระหว่าง Subdomain และ Subdirectory เราควรเลือกใช้แบบไหนดี? และคนที่น่าจะรู้เรื่องนี้ และให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คงต้องเป็นคนของ Google เองนั่นแหละครับ ถ้าให้ตอบอย่างสั้นๆ เลยก็คือ Google ให้ความสำคัญกับทั้งสองส่ิงนี้เท่ากัน หมายความว่า Google จัดอันดับ URL ที่เป็น Subdomain และ Subdirectory ด้วยวิธีการเดียวกัน วิดีโอสั้นๆ นี้เป็นคำยืนยันจาก John Mueller ผ่านทาง Youtube Channel ของ Google Webmaster

ที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกกันอยู่พอสมควร และอาจจะมีบางคนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งก็อาจจะมาจากประสบการณ์ที่เคยทำมา หรืออะไรก็แล้วแต่ (แต่อย่าลืมว่า SEO ไม่ได้มีแค่ปัจจัยเรื่อง Subdomain หรือ Subdirectory นะครับ) และเรื่องนี้ทางเว็บไซต์ searchenginejournal.com สรุปเนื้อหาไว้ค่อนข้างดี และผมเองอ่านแล้วก็ค่อนข้างเห็นด้วย ก็เลยยกเนื้อหามาสรุปสั้นๆ ให้เข้าใจกันอีกที ว่าจริงๆ แล้วเราควรต้องเลือกใช้อะไร ในกรณีไหน ระหว่าง Subdomain และ Subdirectory

กรณีไหนที่เราควรเลือกใช้ Subdomain

ตัวอย่างที่ดีในการเลือกใช้ Subdomain ก็คือเว็บไซต์ของ Disney.com ซึ่งเราจะพบว่า Disney แยก Subdomain เป็น princess.disney.com, cars.disney.com, movies.disney.com, musics.disney.com และอื่นๆ ซึ่งการใช้ Subdomain จะถูกใช้เพื่อทำการตลาดและระบุถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนมาก เช่น Princess.disney.com ก็จะเป็นกลุ่มเด็กผู้หญิง หรือ Cars.disney.com ก็จะเน้นไปที่เด็กผู้ชายที่ชอบรถยนต์เป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือ Subdomain ในกรณีนี้ถูกใช้เพื่อแบ่งประเภทเนื้อหา การทำการตลาด และการบริหารจัดการที่คิดในลักษณะแยก “ธุรกิจ” นั่นเอง ในขณะเดียวกันในมุมมองของ User ก็ค่อนข้างจะเคลียร์กว่า ว่ากำลังดูเนื้อหาในหมวดหมู่ไหน

ข้อดีของการแบ่ง Subdomain ในลักษณะนี้ก็คือ เนื้อหาภายใต้ Subdomain จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมดเพราะถูกแบ่งไว้แต่แรกแล้ว พอเนื้อหาชัดเจน โดยหลักการโอกาสที่ถูกจัด Ranking ในเนื้อหาประเภทนั้นๆ ก็จะสูงขึ้น และที่สำคัญก็คือ Backlink ที่จะเชื่อมโยงเข้ามาหาแต่ละ Subdomain ก็จะเป็น Backlink ที่ดี มีความเฉพาะเจาะจงกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คือ เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเด็กผู้หญิงก็น่าจะสร้างลิงค์เข้ามาหาที่ Princess.disney.com ได้ตรงๆ นี่เป็นการแบ่งประเภท Backlinks ได้อย่างดีทีเดียว และทำให้ Subdomain นี้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการลิงค์มาที่เว็บไซต์ที่รวมเนื้อหาหลากหลายทุกประเภทเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก ชาย หญิง ประเภทของหนัง และบริการอื่นๆ

กรณีไหนที่เราควรเลือกใช้ Subdirectory

โดยปกติธุรกิจทั่วไปคงจะไม่เหมือน Disney.com อยู่แล้วที่มีธุรกิจมากมาย และการใช้ Subdomain ดูเป็นวิธีที่ดีและเหมาะสม ที่สำคัญเลยระดับบริษัท Disney แน่นอนว่าเค้ามีคนพร้อมที่จะบริหารจัดการ Subdomain จำนวนมากได้สบายอยู่แล้ว ที่พูดเช่นนี้เพราะการเลือกใช้ Subdomain นั้นมีงานงอกที่ต้องทำเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ เพราะ Google มองแต่ละ Subdomain เป็น 1 เว็บไซต์ (1 identiy) ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้ง Google Search Console ก็จะต้องทำแยกกันทีละ Subdomain หรือการติดตั้ง Google Analytics ก็เช่นกัน หากเราต้องการดูข้อมูลแยก Subdomian เราก็ต้องทำการติดตั้ง Code แยกกัน หรือหากใช้ Code ชุดเดียวกันก็ต้องทำการสร้าง filter อีก ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว ถ้าบริษัทที่ไม่ได้มีธุรกิจภายใต้ที่หลากหลายก็แนะนำว่าใช้เป็น Subdirectory จะง่ายและสะดวกกว่ามากๆ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการบริหารจัดการ Subdomain และเอาเวลาไปโฟกัสเรื่อง SEO ได้เต็มที่กว่า

บทสรุป

Google ไม่ได้สนใจว่ากำลังจัด Ranking ให้ Subdomain หรือ Subdirectory เพราะ Google จัดการสองสิ่งนี้ด้วยกลไกแบบเดียวกัน ในวิดีโอ John Mueller ก็ย้ำไว้ด้วยว่า เลือกแบบไหนก็ได้ที่การ Setup ทำได้ง่าย และควรเป็นวิธีการที่จะใช้ได้ในยาวๆ ที่เหลือปล่อยเป็นหน้าที่ของ Google ดังนั้นการจะเลือกใช้แบบไหน ก็ขอให้เลือกตามวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม ถ้าคิดว่า ธุรกิจมีหลากหลาย และต้องการบริหารจัดการแยกกันทั้งในเรื่องการตลาด และการสร้าง Link Value ก็สามารถใช้ Subdomain ได้เลย แต่ถ้าคิดว่าไม่พร้อมในการจัดการ Subdomain เยอะๆ เลือก Subdirectory ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าจะดีกว่า

Happy Optimization 🙂

Leave a Reply