คนที่ขายของออนไลน์ทุกคนต่างรู้ดีว่าการมีคนเข้าเว็บไซต์เยอะๆ ก็จะทำให้มีโอกาสในการขายมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนทำกันก็คือ การทำการตลาดออนไลน์ เพื่อโปรโมทเว็บไซต์ โปรโมทสินค้าให้คนรู้จัก และสร้างยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ วิธีการหรือช่องทางที่แบรนด์และคนขายสินค้าส่วนใหญ่ใช้ทำการตลาดกันในปัจจุบันนั้น โดยเฉพาะกลุ่ม SME ก็มักจะเริ่มที่การทำโฆษณา Facebook ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์แทบจะขาดไม่ได้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาที่คนทำการตลาดบน Facebook เจอก็คือ โฆษณาท่ีแพงขึ้นเรื่อยๆ และที่แย่หนักกว่าค่าโฆษณาก็คือ Conversion หรือผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็ไม่ดีเหมือนเดิมอีกแล้ว พอเป็นเช่นนี้ หลายๆ แบรนด์จึงเริ่มที่จะหาช่องทางการตลาดอื่นๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายที่หายไป รวมไปถึงการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในช่องทางการตลาดที่สำคัญและหลายแบรนด์เริ่มกลับมาให้ความสนใจก็คือการทำการตลาดผ่านช่องทาง Google Search ในช่วงปีที่ผ่านมานี้เราจึงได้ยินได้ฟังคำว่า SEO และ SEM บ่อยมากขึ้น บทความนี้รวบรวมหัวข้อสำคัญทั้งหมดสำหรับคนที่สนใจหรือกำลังจะเริ่มทำการตลาดบน Google ควรจะต้องรู้เอาไว้ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้มีควาทเข้าใจ และเริ่มต้นทำการตลาดบน Google Search ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ความสำคัญของ Google Ads ในขั้นตอนการตัดสินใจซื้อของลูกค้า
ในกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้า หรือที่เราเรียกกันว่า Customer Decision Journey นั้น โดยความเป็นจริงแล้วจะมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก และใช้เวลาค่อนข้างนาน ยิ่งโดยเฉพาะกับสินค้าที่ยังไม่รู้จักหรือยังไม่เคยใช้มาก่อน รวมไปถึงสินค้าที่มีราคาสูงก็ยิ่งต้องใช้เวลาในกระบวนการตัดสินค้าใจนานยิ่งขึ้น แต่ถ้าให้สรุปแบบสั้นๆ กระชับที่สุดเพื่อความเข้าใจง่ายนั้น หลายๆ ก็คงคุ้นเคยการภาพด้านล่างนี้ ซึ่งเป็นภาพของกระบวนตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างย่อ โดยที่กระบวนการตัดสินใจจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
1.Awareness
เป็นช่วงแรกของกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าที่จะต้องเริ่มจากการทำให้ลูกค้ารับรู้ว่ามีสินค้านี้อยู่ และสินค้านี้จะช่วยทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งในขั้นตอนนี้แบรนด์ก็มักจะทำการตลาดผ่านสื่อต่างๆ เพื่อเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เช่น การโปรโมทสินค้าผ่าน Influencer หรือ เน็ตไอดอล รวมไปถึงการโปรโมทผ่านสื่อยอดนิยมอย่าง Facebook ซึ่งแบรนด์ก็คาดหวังว่าเมื่อมีคนเห็นโฆษณาบนเฟซบุ๊คแล้วเดี๋ยวแบรนด์ก็จะมียอดขาย แน่นอนว่าในขั้นตอนนี้ลูกค้าหลายรายก็อาจจะตัดสินใจซื้อสินค้าได้ในทันที ถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพง และเป็นกลุ่มสินค้าประเภท Low Involvement Product คือไม่จำเป็นต้องไปหาข้อมูลสินค้าอะไรเพิ่มเติม แต่ปัญหาก็คือ ลูกค้าบางคนก็อาจจะไม่คิดเช่นนั้น ยิ่งเป็นสินค้าราคาที่ค่อนข้างสูง หรือสินค้าที่ยังไม่รู้จักไม่เคยใช้งาน ลูกค้าก็จะไม่มีทางตัดสินใจในทันที ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ลูกค้าก็จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ของกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งก็คือ Consideration
2.Consideration
เมื่อการรับรู้หรือรู้จักสินค้านั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตัดสินใจได้ ลูกค้าจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ Consideration ซึ่งในกระบวนการนี้นั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ลูกค้ามักจะต้องทำกันได้แก่
- หาอ่านรีวิวจากผู้ที่เคยใช้งานสินค้าตัวนั้น
- หาว่ามีใครขายสินค้าแบบเดียวกันหรือเปล่า
- หาว่าใครขายสินค้าราคาถูกที่สุด
- เปรียบเทียบราคาและความน่าเชื่อถือของแบรนด์
ซึ่งช่องทางที่ลูกค้าจะใช้หาข้อมูลทั้งหมด 4 หัวข้อนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น Youtube และ Google Search และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม Google Ads Search นั้นจึงมีความสำคัญมากต่อการขายสินค้า ลองคิดดูว่าถ้าเราโปรโมทสินค้ารายการหนึ่งแล้วทำให้ลูกค้าสนใจ แต่ลูกค้าอยากหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตัดสินใจ ถ้าลูกค้าค้นหารายละเอียดข้อมูล รีวิวเกี่ยวกับสินค้าใน Google แล้วพบเว็บไซต์คู่แข่งซึ่งซื้อโฆษณาสินค้าตัวนั้นแสดงอยู่บน Google Search แต่ผลลัพธ์นั้นกลับไม่มีเว็บไซต์ของเราแสดงอยู่ด้วย อะไรจะเกิดขึ้น? หรือแม้กระทั่งกรณีที่ลูกค้าตั้งใจจะซื้อสินค้ากับเรา แล้วก็ค้นหาด้วยชื่อแบรนด์ของเราบน Google แต่ลูกค้ากลับพบเว็บไซต์คู่แข่งซึ่งซื้อโฆษณาด้วย Brand Keyword ของเราแสดงอยู่อันดับหนึ่ง ลูกค้าก็มีโอกาสที่จะพิจารณาสินค้าจากคู่แข่งได้อีกเช่นกัน
3.Action
หลังจากที่ลูกค้าพิจารณาข้อมูลต่างๆ จาก Consideration Stage แล้ว ลูกค้าก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อนั่นก็คือ การเข้ามาที่เว็บไซต์เพื่อทำการ Checkout ในขั้นตอนนี้ ลูกค้าอาจจะเข้ามาเองโดยการทักทาง Messenger แชททาง LINE หรืออาจะเปิดเว็บเข้ามาตรงๆ เพื่อทำการซื้อเลยก็ได้ แต่ในช่วงจังหวะนี้แบรนด์ส่วนใหญ่มักจะไม่รอให้ลูกค้าเข้ามาหาเอง เพราะที่เวลายิ่งผ่านไปนานวันเข้าโอกาสในการขายก็จะลดลง เพราะลูกค้าอาจจะเกิดความลังเลหรือความอยากซื้อหมดไป แบรนด์ส่วนใหญ่จึงมักทำการตลาดในรูปแบบที่เรียกว่าการทำ Remarketing หรือ Retargeting นั่นเอง ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งบน Facebook Ads และ Google Ads (GDN) เพื่อตามกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเร็วขึ้น
ทำไมต้องโฆษณาด้วย Google Ads Search
เหตุผลก็อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเราคงไม่อยากให้คนค้นหาสินค้าหรือชื่อแบรนด์ของเราแล้วพบว่า คู่แข่งกำลังนำเสนอสินค้าแบบเดียวกับที่เราขายอยู่ในอันดับหนึ่งหน้าแรก แต่เว็บไซต์เราเองกลับไม่แสดง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมมีโอกาสนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของอีกเจ้าหนึ่งได้ ดังนั้นแบรนด์ที่เข้าใจเรื่องของ Customer Jouney จึงให้ความสำคัญกับช่วงที่ลูกค้ากำลังพิจารณาข้อมูลต่างๆ เพื่อตัดสินใจ ดังนั้นแบรนด์จึงมักจะใช้ Search Ads เพื่อเข้าถึงลูกค้าในช่วงจังหวะเวลานี้ และแบรนด์เองก็รู้ดีว่าทราฟฟิคที่มาจากการ Search นั้นมี Purchase Intent หรือความต้องการซื้อที่สูงมาก ซึ่งจะมีโอกาส Convert เป็นลูกค้าได้ง่ายกว่าทราฟฟิคที่มาจากการสร้าง Awareness จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบรนด์อยากให้เว็บไซต์ไปแสดงอยู่ในหน้าแรกอันดับต้นๆ
2 วิธีที่จะทำให้เว็บไซต์ติดหน้าหนึ่ง Google
- การทำ SEO ซึ่งย่อมาจาก Search Engine Optimization ถ้าให้อธิบายโดยย่อ SEO คือกระบวนการพัฒนาและปรับเว็บไซต์ให้ Search Engine เข้าใจเนื้อหาได้ง่าย เป็นไปตามไกด์ไลน์ของ Google ในขณะเดียวกันก็จะรวมไปถึงการพัฒนาเนื้อหาและประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีต่อยูสเซอร์ด้วย ซึ่งการทำ SEO ที่ดีนั้นจะนำไปสู่การแสดงผลบนหน้าแรกของผลการค้นหา Google ได้โดยไม่ต้องใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณา สำหรับคนที่อยากทำความเข้าใจ SEO ให้มากขึ้น แนะนำให้อ่าน การทำ SEO คืออะไร เรียนรู้ 5 เทคนิคง่ายๆ ทำด้วยตัวเอง ไม่ต้องจ้างใคร
- การซื้อโฆษณา Google Ads ซึ่งการซื้อโฆษณา Google Ads นั้นจะทำให้แบรนด์สามารถแสดงเว็บไซต์ในผลการค้นหาหน้าแรกได้ทันทีเมื่อลูกค้าค้นหาสินค้าที่แบรนด์ขายอยู่ ที่สำคัญและแตกต่างจากวิธีการแรก หรือการทำ SEO ก็คือ การซื้อโฆษณา Google Ads นั้นเราจะสามารถแสดงผลในอันดับแรกได้ภายในเวลาที่สั้นมากซึ่งโดยปกติก็ไม่เกินครี่งชั่วโมง แต่การทำ SEO นั้น เป็นวิธีการต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งอาจจะใช้เวลา 3-6 เดือน หรืออาจจะเป็นปีก็ได้ ดังนั้นแบรนด์ที่ยังทำ SEO ได้ไม่ดีนั้น การซื้อโฆษณา Google Ads จึงเป็นทางออกที่ช่วยให้แบรนด์สามารถขายสินค้าผ่าน Google ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม คำแนะนำก็คือ การซื้อโฆษณา Google Ads นั้นก็มีค่าใช้จ่าย บางแบรนด์ที่มีสินค้าจำนวนมากก็อาจจะไม่สามารถซื้อโฆษณาให้กับสินค้าทั้งหมดที่มีได้ ดังนั้นแบรนด์จึงควรต้องทำ SEO ควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในขณะที่สามารถบริหารค่าโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพด้านล่างนี้เป็นผลการค้นหาคำว่า “ครีมบำรุงผิวหน้าผู้ชาย” ซึ่งเราจะเห็นว่า ด้านบนมีโฆษณาอยู่ 2 ส่วนส่วน ในกรอบสีเขียวเราจะเรียกว่า Shopping Ads เป็นโฆษณาที่เห็นภาพและราคาสินค้าที่มีความสวยงามและน่าสนใจเป็นพิเศษ ในกรอบสีส้มเราจะเรียกว่า Google Search Ads หรือ Paid Search ส่วนในกรอบสีฟ้าด้านล่างเป็นตัวอย่างของการทำเว็บไซต์ให้อยู่ในหน้าแรกแบบที่ไม่ต้องเสียเงิน ซึ่งเราจะเรียกว่า Organic Search หรือผลลัพธ์แบบ SEO ก็ได้
ผลลัพธ์ของการซื้อโฆษณา Google Search เป็นอย่างไร
ตัวเลข Conversion Rate นั้นถือว่าช่องทางการตลาดผ่าน Google Search นั้นมีตัวเลขที่ค่อนข้างดี ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคนที่ใช้ Google ค้นหาสินค้านั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อมูลเพื่อที่จะตัดสินใจซื้อแล้ว ดังนั้นทราฟฟิคที่มาจาก Google Search จึงเป็นทราฟฟิคที่มีโอกาส Convert เป็นลูกค้าได้ค่อนข้างสูงกว่าช่องทางการตลาดอื่นๆ แม้จะไม่สามารถบอกตัวเลขสำคัญอะไรได้มากนักเพราะจะเป็นการไม่เหมาะสม แต่จากประสบการทำงานกับเว็บไซต์ Ecommerce ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น OfficeMate, Central, Zalora, Boothavorn รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆ ทั้งขนาดเล็กขนาดกลาง ก็สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า ช่องทางการตลาดบน Google Search ทั้ง SEO และ Google Ads นั้น เป็นช่องทางหลักที่มีสัดส่วนของทราฟฟิค และยอดขายที่สูงและมีความสำคัญมากที่สุดของกลุ่มเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เว็บไซต์เหล่านี้ใช้ทั้งคนที่มีความสามารถและใช้ทั้ง budget การโฆษณาที่ค่อนข้างสูงในช่องทางนี้
เริ่มต้นซื้อโฆษณา Google Search ควรต้องรู้อะไร
- Google Search เป็นโฆษณาที่แสดงผลในผลการค้นหาของ Google ซึ่งการแสดงผลจะแสดงโฆษณาได้มากที่สุด 4 อันดับแรกเท่านั้น หมายความว่าถ้ามีผู้ลงโฆษณา 10 คน ก็จะมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่จะแสดงโฆษณาอยู่ด้านบนสุด ที่เหลือก็จะไปแสดงอยู่หน้าล่าง หรือถูกนำไปแสดงในหน้าถัดๆ ไป
- ค่าใช้จ่ายในการซื้อโฆณษานั้น จะเป็นการจ่ายในลักษณะที่เรียกว่า CPC หรือ Cost per Click หมายความว่า เราจะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อมีการคลิ้กโฆษณาเกิดขึ้นเท่านั้น ถ้าโฆษณาแสดงผลแต่ไม่เกิดการคลิ้ก แบบนี้เราก็ยังไม่ต้องเสียเงิน
- ราคาต่อหนึ่งคลิ้กนั้น (CPC) ไม่มีตัวเลขที่ตายตัวว่าจะเป็นคล้ิกละกี่บาท ตัวเลขนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมาได้ขึ้นอยู่กับ จำนวนผู้ลงโฆษณา การแข่งขัน การเลือกวิธีการประมูล (bidding) และการตั้งค่าต่างๆ อีกมากมาย ยิ่งมีการแข่งขันสูงมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคลิ้กสูงขึ้นมากเท่านั้น ตัวเลขที่ผมเคยเห็นนั้นมีตั้งแต่ 2-3 บาทต่อคล้ิก ไปจนถึงหลักร้อยบาทต่อคลิ้ก
- ต้องจ่ายค่าโฆษณาต่อเดือนเท่าไร แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ผู้ลงโฆษณาใหม่ๆ กังวลว่าจะต้องจ่ายสูงมากแค่ไหน ถ้ามีคนคล้ิกเยอะๆ แล้วจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่ตั้งไว้ ซึ่งตรงนี้ในระบบโฆษณาก็จะให้ผู้ลงโฆษณากำหนดค่าใช้จ่ายต่อวันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรต้องเข้าใจในเรื่องนี้ก็คือ ผู้ที่ทดลองลงโฆษณา Google ใหม่ๆ มักจะกำหนดค่าใช้จ่ายที่ต่ำมากเกินไป เช่น แคมเปญละ 100 บาทต่อวัน ซึ่งถ้าหากค่า CPC มีค่าคลิ้กละ 10 บาท ผู้ลงโฆษณาก็จะได้คลิ้กที่เข้าเว็บไซต์เพียง 10 คลิ้กต่อวันเท่านั้น ก็จะทำให้โอกาสเกิดยอดขายนั้นค่อนข้างต่ำ รวมไปถึงระบบการ Optimize ของ Google จะเรียนรู้เพื่อสร้าง Performance ที่ดีได้ค่อนข้างช้า
- ถ้ามีคู่แข่งมาแกล้งคลิ้กโฆษณาของเรา แบบนี้จะทำอย่างไร เรื่องนี้ระบบของ Google จะมีวิธีการตรวจสอบคล้ิกที่ไม่ปกติ (Fruad Click) และจะทำการหักออกจากค่าใช้จ่ายให้กับผู้ลงโฆษณา ซึ่งตัวเลขจำนวน Fruad Click นี้สามารถเข้าไปดูได้ใน Billing Detail
- Keyword ถือเป็นกุญแจดอกแรกที่สำคัญในการซื้อโฆษณา เพราะ Keyword จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างผู้ลงโฆษณาและลูกค้า ดังนั้นผู้ที่เริ่มหัดลงโฆษณา Google Search ควรให้ความสำคัญในขั้นตอนแรกนี้มากที่สุด เพราะถ้าหากจัดการเรื่อง Keyword ได้ไม่ดี ก็ย่อมนำไปสู่การได้คลิ้กหรือทราฟฟิคที่มีคุณภาพต่ำเข้ามา ซึ่งในบัญชี Google Ads นั้นก็จะมีเครื่องมือที่เอาไว้สำหรับทำ Keyword Research ที่เรียกว่า Keyword Planner เอาไว้ให้ใช้งานด้วย ตัวอย่างตามภาพด้านล่างก็จะเห็นว่าเราสามารถดูได้ว่า Keyword แต่ละคำที่เราสนใจมีปริมาณการค้นหามากน้อยแค่ไหน มีการแข่งขันสูงหรือไม่ รวมไปถึงค่า CPC คร่าวๆ ว่าถ้าต้องการอยู่หน้าแรกนั้นควรตั้ง CPC ไว้ที่กี่บาท
- การสร้างข้อความโฆษณานั้นควรสร้างอย่างน้อยที่สุด 3 ตัวต่อหนึ่งกลุ่มโฆษณา (Ad group) การมีโฆษณามากกว่า 1 ตัวนั้น จะทำให้ระบบโฆษณาได้มีโอกาสทดลอง และเรียนรู้ว่าโฆษณาตัวไหนทำงานได้ดีที่สุด เหมาะกับผู้ค้นหากลุ่มไหน และทำให้เกิด Conversion มากที่สุด ระบบก็จะสามารถเลือกใช้โฆษณาได้อย่างเหมาะสมในเวลาที่มีคนค้นหาเกี่ยวกับสินค้าที่เราขาย ลองคิดดูว่าถ้าเรามีโฆษณาชิ้นเดียว ระบบย่อมจะไม่มีตัวเลือกในการหยิบโฆษณาไปใช้ให้เหมาะกับผู้ค้นหาได้เลย เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากการที่เราอ่านหนังสือหัวข้อเดียวกันจากคนเขียน 3 คน สุดท้ายเราก็จะเลือกอ่านคนที่มีสไตล์การเขียนที่เราชอบมากที่สุดนั่นแหละครับ
- การ Optimize โฆษณาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้โฆษณาเรามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องทำ ไม่ใช่การเซ็ตโฆษณาเสร็จแล้วก็ปล่อยให้โฆษณารันไปแบบนั้น เพราะต้องเข้าใจก่อนว่ายิ่งผู้ลงโฆษณาที่เป็นคู่แข่งของเรามีจำนวนมาก ทุกคนต่างก็อยากได้ลูกค้า อยากได้ยอดขายมากที่สุด ดังนั้นคู่แข่งจะมีการปรับแคมเปญอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Budget Keyword วิธีการ Bidding ค่า CPC หรือรูปแบบโฆษณา รวมไปถึงหน้า Landing Page เพื่อทำให้เกิด Conversion มากที่สุด ดังนั้นถ้าเราไม่ออปติไมซ์อะไรเลยเราก็อาจจะได้ยอดขายที่ลดลง หรือแย่ที่สุดเราก็อาจจะหายไปจากหน้าแรกเลยก็ได้ เพราะคู่แข่งอาจจะ Bid กันสูงขึ้น
- ให้ความสำคัญคุณภาพของหน้า Landing Page หมายความว่าการที่ลูกค้าค้นหาด้วยชื่อสินค้าที่เฉพาะเจาะจง เช่น รองเท้า Adidas Ultra Boost ถ้าคล้ิกโฆษณาแล้วก็ควรจะต้องเห็นหน้ารายการสินค้า Adidas รุ่น Ultra Boost เท่านั้น ไม่ควรจะให้ลูกค้าเห็นหน้ารวมสินค้ารองเท้าจากทุกแบรนด์ เพราะจะทำให้ User ได้รับ Experience ที่ไม่ดี เรื่องนี้ต้องใส่ใจให้มาก เพราะ Experience ที่ดีย่อมจะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ง่าย ซึ่งคำว่า User Experience ที่ดีนั้น ยังหมายรวมไปถึงการเลือกซื้อสินค้าที่สะดวก มีระบบ Shopping Flow และ Checkout Flow บนเว็บไซต์ที่ใช้งานง่ายด้วย ดังนั้นเรื่องของ UX UI บนเว็บไซต์ก็เป็นเรื่องสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำการตลาดออนไลน์โดยตรง
- กระตุ้นด้วยการสร้าง Purchase Trigger ให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งที่ไม่ใช่แค่เพียงการนำเสนอ โปรโมชั่น หรือคูปองส่วนลด เท่านั้น แต่เป็นการกระตุ้นทางอารมณ์ความรู้สึกให้ต้องรีบซื้อ ยกตัวอย่างที่เราอาจจะเคยเจอกันบ่อยๆ เช่น การขึ้นตัวอักษรสีแดงว่า “เหลือสินค้าอีกเพียง 3 ชิ้น” “ส่วนลดนี้เหลือเวลาใช้ได้อีก 3 วัน” “มีคนซื้อสินค้านี้ไปเมื่อ 10 นาทีที่แล้ว” หรือ “สินค้านี้ขายไปแล้ว 300 ชิ้น” เป็นต้น ข้อความต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ลูกค้ารีบตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็ยังมีเทคนิคอื่นๆ อีกมากมายที่ผู้ลงโฆษณาควรต้องให้ความสำคัญและนำมาทดลองปรับใช้งานกัน
- ติดตั้ง Google Ads Conversion Tracking Code เพื่อวัดผลลัพธ์ของเป้าหมายที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดอีกเรื่อง เพราะการติดตั้ง Conversion Tracking Code จะทำให้เราสามารถวัดผลโฆษณาได้อย่างถูกต้อง รู้ว่า Campaign ไหน Keyword คำว่าอะไร โฆษณาชิ้นไหน และกลุ่มเป้าหมายแบบไหนที่ทำให้เกิด Conversion ได้ดีที่สุด และทำให้เราสามารถนำข้อมูลไป Optimize โฆษณาของเราให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญเลยก็คือ การติด Conversion Tracking Code จะเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบของ Google Ads มีข้อมูลเกี่ยวกับ Conversion ในการเรียนรู้ เกิดความฉลาด และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในระบบประมูลเพื่อเข้าถึงคนที่มีโอกาสจะสร้าง Conversion ให้เราได้มากที่สุดนั่นเอง
เปิดบัญชี Google Ads
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกอยากทดลองลงโฆษณาบน Google Search สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือการสร้างบัญชี Google Ads Account ขึ้นมาก่อน ซึ่งสามารถเข้าไปสมัครได้ที่ ads.google.com หลังจากสมัครใช้งานเสร็จก็สามารถเริ่มต้นซื้อโฆษณาได้ทันที สำหรับผู้ที่เพิ่งเคยเข้าใช้งานครั้งแรกนั้น อาจจะเกิดความสับสนในการใช้งาน หรือไม่รู้วิธีการนั้นก็อย่าเพิ่งตกใจไปกับหน้าจอที่ดูวุ่นวายซับซ้อนนะครับ ค่อยๆ ศึกษาไปก็ไม่น่าจะยากอะไร แต่ถ้าใครเคยซื้อโฆษณาบน Facebook แล้ว ก็อาจจะเรียนรู้การใช้งานได้เร็วขึ้น เพราะโดยโครงสร้างโฆษณานั้นทั้ง 2 แพลตฟอร์มแทบจะเหมือนกันเลย เพียงแต่จะมีเชื่อเรียกที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยที่โครงสร้างโฆษณาของ Google Ads จะแบ่งเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ Campaign / Ad Group / Ads ส่วนของ Facebook จะเป็น Campaign / Adset / Ads ดังนั้นใครที่เคยใช้ Facebook Ads ก็น่าจะสามารถเรียนรู้ได้ไม่ยากจนเกินไปนัก
Happy Advertising 🙂
สนใจเรียน Google Ads อ่านรายละเอียด
สนใจลงโฆษณาโฆณา Google Ads แอดเฟรนด์ Line@ : @pornthep