ก่อนอื่นต้องบอกว่า FEE-commerce นั้นไม่ได้เป็นศัพท์สากลที่ใช้กันทั่วไป แต่เป็นคำที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อย่อคำว่า Fully Extended E-Commerce หรือหมายถึง “การแผ่ขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซออกไปให้ครอบคลุมทุก customer touch point”
ปกติแล้วส่วนใหญ่ผมมักจะเขียนบทความเกี่ยวกับ Google Analytics เป็นหลัก แต่ที่ต้องเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะได้อ่านบทความที่น่าสนใจเรื่อง เรามาเมืองไทยแน่! จากเว็บ stock2morrow.com ที่เขียนเรื่องของ e-commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ซึ่งในมุมมองของผมกล่าวได้ว่านี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของ FEE-commerce ที่แท้จริง
ใจความสรุปโดยย่อก็คือ Alibaba จะไม่เป็นเพียง e-commerce ธรรมดาอย่าง Amazon หรือเว็บ e-commerce รายใหญ่ทั่วไป (จริงๆ แล้ว amazon ก็ไม่ได้เป็น pure e-commerce นะครับ ที่จริงยังมี service อีกมากมาย) แต่ Alibaba จะเป็นผู้สร้างและสนับสนุน “โครงสร้างพื้นฐาน” ทั้งหมดเพื่อช่วยให้ SME ทั่วโลกทำธุรกิจได้ง่ายและเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ระบบตลาดซื้อขายออนไลน์ ระบบจ่ายเงินออนไลน์ การทำการตลาด บริการโลจิสติก รวมถึงการให้บริการด้านการเงินกับบริษัทรายย่อยขนาดเล็กที่เรียกว่า “Ant Financial Services” ซึ่งระบบนี้กำลังนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเงินการธนาคารของเมืองจีนไปอย่างมากมาย ประเด็นที่สำคัญและน่ากลัวคือ jack ma ได้กล่าวไว้ว่า “But we will definitely be in Thailand” และสิ่งนี้อาจจะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเงินการธนาคารในประเทศไทยก็เป็นไปได้
* อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้จากลิงค์ด้านบน
ในมุมมองของผมแล้ว การขยายธุรกิจครอบคลุมไปในหลายๆ ธุรกิจส่งผลดีต่อ Alibaba อย่างมากและเป็นผลให้ธุรกิจของ Alibaba เติบโตอย่างรวดเร็วได้ขนาดนี้ วิธีขยายธุรกิจของ Alibaba นั้นเป็นการขยายเพื่อสนับสนุนธุรกิจด้วยกันเอง รวมถึงการยึดแนวทางที่เรียกว่า Customer Centric จับธุรกิจที่อยู่ใน Customer Journey ไว้ได้ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นนำ้ถึงปลายน้ำ ที่พูดเช่นนี้เพราะหากเราไล่ดูธุรกิจของ Alibaba แล้วเราจะเห็นว่าครอบคลุมสำหรับคนที่จะเร่ิมต้นธุรกิจออนไลน์จริงๆ คือ
- การให้กู้ยืมเงินลงทุนไปประกอบธุรกิจ (Ant Financial Service)
- ให้บริการระบบซื้อขายออนไลน์ (alibaba & taobao)
- ให้บริการทำการตลาดออนไลน์
- ให้บริการระบบชำระเงิน (Alipay)
- ให้บริการระบบจัดส่งสินค้า
ซึ่งบริการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะทำให้ alibaba สามารถดึงดูดผู้ผลิตและผู้ขายสินค้ารายใหม่ๆ ได้ง่าย ซึ่งนำไปสู่การเก็บค่าบริการจากธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นในการทำe-commerce ได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องของธุรกิจการธนาคารนั้น ผมเคยเขียนถึงไว้ในบทความ ถ้าแบงค์จะทำ e-commerce เอง? ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์จากความเห็นส่วนตัวที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับบทความเรื่อง Alibaba นี้อย่างมาก เพราะ e-commerce และ technology นั้น เติบโตเร็วกว่าค่า Transaction Fee ที่ธนาคารเคยได้อย่างเทียบกันไม่ได้ ใครจะรู้ไปรู้ว่าสักวันหนึ่ง e-commerce รายใหญ่อาจจะเข้าซื้อกิจการแบงค์ หรือทำแบงค์เสียเอง(ถ้าทำได้) หรือไม่ก็มีธุรกิจที่ให้บริการเงินกู้ยืมอย่าง Alibaba รุกเข้ามาแชร์ส่วนแบ่ง
ตัวอย่างที่ดีของไทยตัวอย่างหนึ่งที่ผมเองเข้าไปมีส่วนร่วมและเห็นการเติบโตมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นทำ e-commerce เมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือ บริษัท OfficeMate ธุรกิจของออฟฟิศเมทนอกจากมีระบบสั่งซื้อผ่านหน้าเว็บแล้ว ยังมีคลังสินค้าขนาดใหญ่ของตัวเองสองแห่ง รวมถึงมีระบบโลจิสติกของตัวเองมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งแตกต่างจากเว็บอีคอมเมิร์ซทั่วไปที่ยังต้องพึ่งพาระบบจัดส่งจาก Third Party ส่วนนี้เองทำให้การบริหารงานของออฟฟิศเมทเป็นไปได้อย่างคล่องตัว และที่สำคัญคือเมื่อฐานลูกค้ามีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดส่ิงที่เรียกว่า Economy of Scale ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าจัดส่งย่ิงลดลงไปได้อย่างมาก
การทำธุรกิจนั้นก็ต้องมีทั้งเชิงรุกเชิงรับ ยิ่งเมื่อ alibaba เข้ามาในประเทศไทยด้วยแล้ว เชื่อว่าจากวันนี้ e-commerce จะเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก และทำให้เกิดการเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงอาจมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาอีก ตัวเลขการใช้สื่อดิจิตัลก็มีแต่เติบโตขึ้นทุกปี ธุรกิจออนไลน์เองก็ควรจะต้องวางแผนกลยุทธ์ในเชิงรุกเพื่อรับการเติบโตของ e-commerce ให้ดีด้วย เพราะธุรกิจที่ตั้งรับอย่างเดียว โตยากครับ
Happy Analytics 🙂