Google Correlate คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

หนึ่งในเครื่องมือที่น้อยคนจะใช้งานกัน (รวมผมด้วย) คือเครื่องมือที่ชื่อ Google Correlate ถ้าว่ากันตามตรงหลายคนที่ไม่ใช้ผมเชื่อว่าเป็นเพราะเราไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างไร ใช้ทำอะไร ไม่นับถึงว่าใช้งานมันอย่างไรด้วยนะครับ เพราะใครที่เห็นเครื่องมือนี้ครั้งแรกก็คงมึนๆ งงๆ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง เคยมีคนถามผมเกี่ยวกับเครื่องมือนี้อยู่บ้าง (ซึ่งก็น้อยมากกกกก) ผมเองก็ตอบให้พอเข้าใจ เพราะส่วนตัวก็แทบจะไม่ใช้งานมันเลย จนไม่นานนี้อ่านบทความหนึ่งจากต่างประเทศก็พบว่าจริงๆ มันก็มีอะไรที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อยู่พอสมควรกับทั้งคนที่ทำ Content และ SEO รวมถึงการนำไปปรับใช้กับการทำ Marketing ได้ดีทีเดียว ก็เลยคิดว่าต้องหาเวลาที่ค่อนข้างจำกัดมาเขียนให้อ่านกัน แต่ก่อนที่จะอ่านต่อไปต้องพูดให้เข้าใจกันอย่างชัดเจนก่อนว่าข้อมูลที่อยู่ใน Google Correlate ได้หยุดทำการอัพเดทมาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้ว จะด้วยเป็นเพราะไม่ค่อยมีคนใช้ หรือจะเหตุผลใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆ แต่ระหว่างนี้เครื่องมือเราก็ยังใช้งานกันได้อยู่ ไม่แน่ต่อไปว่า Google อาจจะกลับมาปัดฝุ่นและอัพเดทกันอีกครั้งก็ได้ ใครจะไปรู้ 🙂

Google Correlate คืออะไร

Google Correlate เป็นเครื่องมือที่เผยให้เห็นถึง Keywords ที่มีแพทเทิร์นของแนวโน้มการค้นหาเป็นไปในรูปแบบเดียวกับคำที่เรากำหนด  อ่านแล้วเข้าใจยากจริง:) ยังนึกภาพไม่ออกใช่ไหมครับ 🙂 เอาใหม่ถ้างั้นลองนึกภาพตอนที่เราใช้เครื่องมือ Google Trends ดูก่อนนะครับ เวลาเราใช้งาน Google Trends เราจะเห็นกราฟที่พล็อตออกมาเป็นกราฟขึ้นลงตลอดช่วงเวลาหนึ่ง (Time Series) ทีนี้การทำงานของ Google Correlated จริงๆ คือมันจะไปหาคำอื่นๆ ที่มีแพทเทิร์นของ Trend การค้นหาแบบเดียวกันมาแสดงให้เราเห็นนั่นเอง ซึ่งนั่นจะทำให้เรารู้ว่า มีคำอะไรบ้างที่ Correlate กันคำที่เราสนใจ อะไรที่มีรูปแบบการค้นหาขึ้นลงในทิศทางเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กัน น่าจะพอนึกภาพออกนะครับ

Google correlate คืออะไร

วิธีใช้งาน Google Correlate

การใช้งาน Google Correlate สามารถเข้าไปที่ลิงค์นี้ Google Correlate หลังจากเข้าไปที่ลิงค์ ก็ลองใส่คีย์เวิร์ดในช่องค้นหาด้านบน แล้วกดที่ Search Correlations ระบบก็จะลิสต์คำที่มีแพทเทิร์นการค้นแบบเดียวกันออกมาโดยมีค่าตัวเลขกำกับมาด้วย ตัวเลขนี้ยิ่งใกล้ค่า 1 มากเท่าไรแสดงมีแพทเทิร์นเหมือนกันมาก เรียกได้ว่ากราฟเทรนด์เกือบจะซ้อนกันตามภาพด้านล่างนี้ คือคำว่า กระเช้า และ กล่องของขวัญ (ปล ระบบจะแสดง 10 คำที่มีความใกล้เคียงสูงสุด หากอยากจะดูเพิ่มก็ให้กด Show more ไปเรื่อยๆ หรือถ้าอยากจะ Export ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ)

google-correlate-กราฟ

จริงๆ หลายคนอาจจะมองว่าไม่ได้ต่างจาก Google Trends เท่าไร เพราะ Google Trends ก็มี Related Queries แสดงคำที่มีการค้นหาร่วมกันอยู่ แต่…มีอีกหลายอย่างที่ Google Trends ทำไม่ได้แบบเครื่องมือนี้เช่น การค้นหาจากเส้นกราฟทีเราวาดเอง การ Shift Time Series เพื่อดู Trend ที่มาก่อนหน้า หรือการพล็อตกราฟแบบ Scatter ขอยกตัวอย่างการค้นหาจากกราฟที่เราวาดเองให้ดูตัวอย่างหนึ่งนะครับ เพราะอันนี้เลิศเลอมากกก 🙂

search-by-drawing

ตามภาพด้านบนให้คลิ้กที่ Search by Drawing ที่เมนูด้านซ้าย แล้วลองลากกราฟดูครับ ตัวอย่างนี้ผมอยากดูว่าอะไรที่เป็นเทรนด์ที่มีการค้นหาเติมโตในสามสามปีที่ผ่านมา พอลากแล้วก็ให้กด Correlate! ได้เลย แทน แท้น ได้ keywords ออกมาจากเส้นเทรนด์ที่เราวาดเองเลย โอ้วววว ทีนี้ลองมาไล่ดูคำที่น่าสนใจกัน เช่น เคอรี่ ตู้เลี้ยงกุ้ง หม่าล่า ก็เป็นคำที่เป็นเทรนด์ในช่วงสองสามปีนี้จริงๆ เลิศไหมครับ ปล ความไม่สะดวกอย่างหนึ่งคือเราต้องมาไล่ดูคำเอาเอง เพราะระบบสนใจแค่ว่ามัน Correlate กันจากแพทเทิร์นเท่านั้น ไม่มีการคัดแยกประเภทคำให้

keywords-by-drawing

correlate-keywords-graph

แล้วจะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้อย่างไร

Use Case #1
ดูว่าอะไรน่าสนใจเและเร่ิมไม่น่าสนใจแล้ว ด้วยการวาดเส้นกราฟตามตัวอย่างด้านบนนี่แหละครับ

Use Case #2
ใช้เพื่อการ Target กลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลาก่อนที่กลุ่มเป้าหมายจะพร้อมซื้อสินค้าหรือใช้บริการกับเรา ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่น่าสนใจจากเว็บ Search Engine Journal ตามภาพด้านล่างนี้

google-correlate-weight-loss

จากตัวอย่างเป็นการหา Correlations จากคำว่า Weight Loss ถ้าเราไล่ดูคำจะพบว่ามีคำที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจคือ กลุ่มคำประเภทที่เกี่ยวกับวางแผนการแต่งงาน การหาที่อยู่ใหม่ รวมถึงการหารถใหม่เพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ หมายความว่าอะไร? หมายความว่าคนที่อยากลดน้ำหนักก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่ลดเพื่อเตรียมเป็นเจ้าสาว ซึ่งก็ต้องการหาบ้านใหม่ รถใหม่ด้วยนั่นเอง ทีนี้คนที่กำลังค้นหากลุ่มคำเหล่านี้แหละที่กำลังจะเป็นลูกค้าของบริการที่เกี่ยวข้องกับการลดน้ำหนัก ถ้ารู้อย่างนี้เอาไปซื้อ Keywords ใน Google Ads ดีไหมครับ หรือเขียนบทความเรื่องพวกนี้เพิ่มเติมดีหรือเปล่า คงไม่ต้องบอกใช่ไหมครับ 🙂
ปล สังเกตตัวอย่างนี้มีการ Shift time series ย้อนไป 3 week เพื่อดูเทรนด์ก่อนหน้านะครับ

Use Case #3
วาง Content Strategy และทำโฆษณาแบบ Retargeting จริงๆ เคสนี้คล้ายกับเคสที่ 2 เลย เพียงแต่แทนที่จะซื้อ keywords คำที่ correlate ก็เปลี่ยนมาเป็นการวางแผนทำ Content Strategy แล้วนำ Pixel สำหรับการทำ Retargeting ทั้ง Facebook และ Google ไปวางไว้ในบทความเหล่านั้น แล้วเราก็ทำการส่งโฆษณาออกไป เช่นการเขียนบทความเกี่ยวกับเทคนิคการวางแผนการแต่งงาน พอใครเข้ามาอ่านบทความนี้ เราก็สามารถส่งโฆษณาการลดน้ำหนักออกไปยังคนกลุ่มนี้ได้เลย เยี่ยมมากใช่ไหมครับ 🙂

อ่านจบแล้วผมเชื่อว่าทุกคนคงพอจะใช้งานกันได้แล้วนะครับ ไม่ยากเหมือนที่เห็นตอนแรกเลยสักนิดจริงไหม ก็หวังว่า Google จะกลับมาอัพเดทข้อมูลมันอีกครั้ง ถ้าจะช่วยกันสักนิดก็อยากให้ลองเข้าไปให้ความเห็นที่ลิงค์นี้ของ Google กันดูครับ Google Correlate Feedback เค้าจะได้รู้ว่ายังมีคนอยากใช้อยู่อีกเยอะ

Happy Analytics 🙂

Leave a Reply