หนึ่งในเครื่องมือการวิเคราะห์ SEO ที่โดดเด่นที่สุดตัวหนึ่งในตลาด และผมเองใช้งานอยู่เสมอคือ Ahrefs แม้ว่าจะจัดเป็นเครื่องมือที่มีราคาค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่คนที่เคยใช้งานก็จะรู้ว่า ข้อมูลและรีพอร์ทที่ได้มานั้นพูดได้ว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปจริงๆ การคิดค่าใช้จ่ายของ Ahrefs นั้นจะเป็นลักษณะ Subscription Fee โดยแพ็คเกจที่ต่ำที่สุดเริ่มต้นที่ประมาณ 3,xxx บาท ไปจนถึง 3x,xxx บาทต่อเดือน ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงขนาดนี้การจะตัดสินใจซื้อคงต้องหาข้อมูลและอ่านรีวิวกันเสียหน่อย บทความนี้จะมารีวิวฟีเจอร์เด่นๆ ของ Ahrefs รวมถึงฟีเจอร์ที่ผมเองใช้งานอยู่และเห็นว่าง่ายและดีมีประโยชน์ให้ฟังกัน เผื่อจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจกัน
Ahrefs คืออะไร
Ahrefs เป็นเครื่องสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการทำ SEO ที่ค่อนข้างจะครอบคลุมการใช้งานด้านต่างๆ ของคนทำ SEO ไว้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Keyword Analysis, Backlink Analysis, Competitor Analysis และการทำ Website Audit ซึ่งเครื่องมือสำคัญๆ ของ Ahrefs จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- Site Explorer
- Keyword Explorer
- Site Audit
- Rank Tracker
- Content Explorer
Site Explorer เป็นกลุ่มรีพอร์ที่ใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับเว็บไซต์ที่เราสนใจไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ตัวเองหรือเว็บไซต์ของคู่แข่ง โดยที่รีพอร์ทย่อยๆ จะถูกจัดกลุ่มเป็นหัวข้อต่างๆ เช่น รีพอร์ทกลุ่ม Backlink Profile ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Backlinks ของเว็บไซต์ รีพอร์ท Organic Search ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Organic Keyword และ Top pages ที่มี Organic Traffic สูงๆ เป็นต้น
Keyword Explorer เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับ Keyword ที่เราสนใจ ระบบจะแสดงตัวเลข KD (Keyword Difficulty) ให้ทราบว่าเป็น Keyword ที่มีความยากมากน้อยแค่ไหนในการทำ SEO นอกจากนั้นยังบอกถึงปริมาณการค้นหาของคำนั้น รวมไปถึงแนะนำ Keyword อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและใกล้เคียงกับคำที่เราสนใจ เครื่องมือนี้เหมาะมากๆ สำหรับการหา Keyword และ Topic Idea ในการวาง Content Strategy
Site Audit ฟีเจอร์นี้เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ฟีเจอร์สำคัญที่เป็นความสามารถเด่นของ Tool นี้ รีพอร์ทกลุ่มนี้ถูกสร้างขึ้นจากการที่ Ahrefs ส่ง Bot เข้ามา Crawl เว็บไซต์ของเรา แล้วสรุปปัญหาต่างๆ ออกมาให้เราสามารถนำไปแอคชั่นต่อได้ทันที เช่น หน้าไหนบ้างที่ไม่มีการเขียน Title Description เอาไว้ หน้าไหนบ้างที่ Title และ Descrition มีการซ้ำกัน หน้าไหนบางที่มีเนื้อหาซำ้กันทำให้เกิด Duplicated Content แต่ไม่มีการแจ้ง Google เป็นต้น
Rank Tracker รีพอร์ทนี้ใช้สำหรับการติดตาม Track อันดับของ Keywords ทั้งหมดที่เราสนใจ ว่าอันดับมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไรจากวันก่อนหน้า 1 วัน 7 วัน 30 เป็นต้น ทำให้เราเห็น Performance ของการทำ SEO แบบย้อนหลัง โดยรีพอร์ทจะแยกอันดับออกจากกันระหว่างการแสดงผลบน Desktop และ Mobile ไว้ด้วย ข้อดีอีกอย่างคือ Ahrefs จะบอกด้วยว่า Keywords คำไหนของเรามี Featured Snippet แบบไหนด้วย รวมถึง Keywords แต่ละคำมี URL ของเราอันไหนที่แสดงผลอยู่และมีอันดับขึ้นลงอย่างไร ถือว่าเป็นรีพอร์ที่ช่วยลดเวลาการทำงาน(ที่ไม่ควรจะต้องเสีย)ไปในการเก็บบันทึกอันดับของ Keyword ต่างๆ ที่เราโฟกัสอยู่ด้วยตัวเอง
Content Explorer รีพอร์ทนี้เมื่อเราใส่ Topic Keyword เข้าไป Ahrefs จะแสดงข้อมูลให้เห็นว่ามีเว็บไซต์อะไรบ้างที่เขียนเกี่ยวกับ Topic นั้น และเขียนในหัวข้ออะไร ด้วยการลิสต์ Title และ Description ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ Topic ออกมา ในเชิงของการหา Topic สำหร้บใช้เป็นไอเดียตั้งต้นในการเขียนคอนเทนต์ รีพอร์ทนี้ถือว่าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก
ฟีเจอร์แนะนำที่คนใช้ Ahrefs ไม่ควรพลาด
Content Gap Analysis
รีพอร์ทนี้เป็นหนึ่งในรีพอร์ทที่ผมชอบมากที่สุด ใช้งานง่ายและได้ประโยชน์สูง ฟีเจอร์นี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเราค้นหา Keywords ที่ Competitors ต่างๆ ของเราติดอันดับ SEO แต่เรายังไม่ติด ฟังดูซิมเปิลมากใช่ไหมครับ แต่การที่เราจะหาข้อมูลเองแบบนี้ไม่มีทางทำได้ง่ายๆ เลย ซึ่งข้อมูลที่ได้จะทำให้เรานำไปใช้ทำงานต่อเรื่อง Content Strategy ได้ดีมากเลยทีเดียว
สำหรับผมเองจากการใช้รีพอร์ทนี้ทำให้ผมรู้ว่า Keyword อย่าง “ขนาดรูป facebook” เป็นคำที่คู่แข่ง (ที่เป็นเพื่อนกัน:) ติดอันดับหน้าแรกกันทุกเว็บ แต่ของผมยังไม่ติด และคำนี้ก็กลายเป็น Topic หลักในตอนนั้นที่ผมต้องหยิบขึ้นมาเขียนทันที
วิธีใช้งานฟีเจอร์นี้ก็ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่เราทำก็เป็นเพียงการกรอกโดเมนเนมของเราและคู่แข่งทั้งหมดลงไป ระบบก็จะประมวลผลแสดง Keyword สำคัญๆ ทุกคำที่คู่แข่งของเราติดอันดับกันอยู่ ซึ่งก็สามารถเลือกฟิลเตอร์ได้ว่าเอาเฉพาะคำที่คู่แข่งติดหน้าแรกเท่านั้น ง่ายๆ แค่นี้แหละครับ แต่ทรงพลังจริงๆ
ภาพด้านบนเป็นตัวอย่างที่เปรียบเทียบเว็บไซต์ Ahrefs กับคู่แข่งคือ Moz, Backlinko และ Yoast จะเห็นว่า มี keywords คำว่า seo copywriting และ video seo ที่คู่แข่งทั้งหมดติดอยู่ทั้งหน้าแรกและหน้าที่สอง แต่ Ahrefs ยังไม่ติดอันดับ พอได้ข้อมูลแบบ Ahrefs ก็จะรู้ว่าควรจะต้องเขียนคอนเทนต์หัวข้อนี้ขึ้นมา
Best by Links Pages
รีพอร์ทนี้ชื่อ Best by Links เป็นรีพอร์ทที่รวบรวมหน้าบนเว็บไซต์ของเราโดยเรียงลำดับจากหน้าที่มี Backlinks จำนวนมากที่สุด ข้อดีคือนอกจากจะบอกจำนวน backlinks ในแต่ละหน้าแล้วก็ยังแบ่งออกเป็นจำนวนของ Backlink ที่เป็น Dofollow กับ Nofollow ด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยว่ารีพอร์ทนี้ได้ประโยชน์อะไร ก็รู้ว่าหน้าไหนมี Backlinks แล้วยังไงต่อ อีกอย่าง Google Search Console ก็มีข้อมูลนี้อยู่แล้วด้วย ก็ถูกครับ ประโยชน์พื้นฐานเลยของรีพอร์ทนี้ก็คือทำให้เรารู้เรา Content ประเภทไหนที่จะสร้าง backlink ได้เยอะๆ แต่ที่สำคัญและน่าสนใจกว่านั้นคือ คำถามที่ว่า แล้ว Backlinks จำนวนมากที่ว่านั้นลิงค์เข้ามาเจอหน้า Error 404 อยู่หรือเปล่า?
คนที่เน้นทำ Backlinks ย่อมรู้ดีว่า ถ้าทำ Backlinks แล้วแต่ Backlinks นั้นชี้เข้ามาที่หน้า 404 นี่คือการเสียเงินและเสียแรงเปล่า เพราะหน้าบนเว็บไซต์เราจะไม่ได้ค่า Link Juice หรือ Link equity เลยจาก Backlinks นั้น คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหน้าไหนที่มี Backlinks เยอะๆ แต่เป็นหน้า Error 404? ก็รีพอร์ทนี้แหละครับ ความสุดยอดของมันก็คือมันสามารถฟิลเตอร์เพื่อหาหน้าที่มี Backlinks แต่เป็นหน้าที่ไม่มีอยู่บนเว็บไซต์ของเราแล้ว ซึ่งข้อมูลแบบนี้ใน Google Search Console จะไม่มีให้เราใช้งาน เพราะ Backlinks Report ใน GSC จะแสดงแต่หน้าของเว็บที่ยังเข้าใช้งานได้เท่านั้น
พอเราได้ข้อมูลแบบนี้มาแล้วสิ่งที่เราทำก็เพียงแต่คืนชีพหน้านี้ขึ้นมาใหม่ด้วยการเขียนคอนเทนต์ที่ตรงกับหัวข้อของ URL นั้น หรือถ้าไม่ต้องการทำคอนเทนต์ขึ้นใหม่เราก็สามารถทำ 301 Redirect ไปที่หน้าที่มีคอนเทนต์ใกล้เคียงแทนก็ได้เหมือนกัน
ตัวอย่างด้านบนเป็นการทดลองใช้งานกับเว็บไซต์ Googleanalyticsthailand เอง ก็พบว่ามีอยู่ 1 URL ที่เป็นหน้า Error 404 แต่มี Backlink เข้ามาอยู่ด้วย กรณีเช่นนี้เกิดจากการที่ผมมีการปรับแก้ชื่อ URL ทำให้ Backlink เดิมที่เคยมีเว็บทำลิงค์มาให้นั้นไม่สามารถเข้าได้แล้ว วิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือให้ทำการ Redirect URL นี้ไปที่ URL ใหม่ที่ผมแก้ไขนั่นเอง
Site Audit
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่าฟีเจอร์นี้ถือเป็นหนึ่งไฮไลต์ฟีเจอร์ของ Ahrefs ถ้าจะไม่แนะนำก็คงไม่ได้ การใช้ฟีเจอร์นี้ต้องเริ่มจากการสร้าง Project โดยการระบุ Domain name ที่ต้องการให้ Crawl ระบุวันและเวลาที่จะให้ Crawl เพื่อไม่ให้กระทบการใช้งานของ User เช่นอาจจะเป็นตีหนึ่งคืนวันเสาร์ เป็นต้น รวมถึงค่าจำเป็นอื่นๆ ที่ขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ หลังจากที่เราเริ่มรันการ Crawl ระบบก็ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งซึ่งจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเว็บไซต์ ยิ่งเว็บที่มี URL จำนวนมากก็อาจจะใช้เวลา Crawl รอบหนึ่งเป็นชั่วโมง แต่รีพอร์ทที่ได้มานั้นก็ถือว่าละเอียดมากจริงๆ โดยรีพอร์ทจะลิสต์รายการ Error Issue ต่างๆ เพื่อให้เราสามารถเข้าไปจัดการแก้ไขต่อแยกเป็นหัวข้อสำคัญโดยแบ่งให้เห็นเป็นสีแดง เหลือง น้ำเงิน ภาพด้านล่างที่นำมาให้ดูนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Issue เฉพาะเรื่องของ On-Page SEO เท่านั้น ซึ่งก็เยอะมากจนต้องถอนหายใจเลยว่าจะแก้กันยังไงให้หมด – -” ในส่วนของไอคอนสีแดงนั้นก็เป็นการเตือนให้รู้ว่าเป็น Critical Issue ที่ควรจะต้องรีบแก้ก่อน
พอจะเห็นภาพประโยชน์จากเครื่องมือนี้กันแล้วนะครับ ใครที่สนใจลองพิจารณาจากข้อมูลเบื้องต้นตามที่เขียนมานี้ รวมถึงลองไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ Ahrefs อีกทีนะครับ เครื่องมือราคาค่อนข้างสูงค่อยๆ พิจารณาก่อนตัดสินใจ ส่วนใครที่ไม่มีงบสำหรับการซื้อเครื่องมือก็ไม่ต้องซีเรียสนะครับ ยังมีเครื่องมือฟรีอีกอีกมากมายที่พอใช้งานทดแทนกันได้ ไม่ว่าจะเป็น Keyword Planner, Ubersuggest และ Google Search Console ผมเองทุกวันนี้ก็ยังใข้เครื่องมือเหล่านี้อยู่เสมอครับ
Happy Optimization:)
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด