รีวิว GA4 report เจาะลึกทุกรายละเอียด ทุกเมนู ทุกรีพอร์ทสำคัญ

หลายคนที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน GA4 นั้น มักจะเกิดอาการงุนงงกับเมนูรีพอร์ทต่างๆ รวมถึงหน้าตาของรีพอร์ทที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และที่ทำให้เวียนหัวหนักกว่าเดิมคือ ไม่รู้ว่าจะไปหารีพอร์ทแบบเดิมที่เคยใช้งานใน GA เวอร์ชั่นก่อนหน้าได้ที่ตรงไหน ไล่ดูรีพอร์ทก็ เอ๊ะ ทำไมมีรีพอร์ทน้อยเหลือเกิน พาลทำให้ไม่อยากใช้งาน GA4 ไปเสียอย่างนั้น แต่ถ้าใครได้ทดลองศึกษาใช้งานจนกระทั่งก็เริ่มคุ้นเคย ก็จะพบว่าจริงๆ แล้ว GA4 นั้นมีการออกแบบรีพอร์ทที่ดีเลยทีเดียว บทความนี้จึงเขียนขึ้นมาเพื่ออธิบายให้ผู้เริ่มต้นใช้งาน GA4 พอจะเห็นภาพรีพอร์ทต่างๆ เบื้องต้น และสามารถศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจได้รวดเร็วขึ้น

GA4 report ถูกวางโครงหลักตาม Funnel ของ Customer Journey

กลุ่มรายงานหลักใน GA4 นั่นเปลี่ยนชื่อไปจากเดิมเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียง Acquisition เพียงกลุ่มรายงานเดียวเท่านั้นที่ยังเหมือนเดิม ใน GA เวอร์ชั่นเดิมนั้นเราจะคุ้ยเคยกันดีกับกลุ่มรีพอร์ท 4 กลุ่มคือ Audience, Acquisition, Behavior และ Conversion ซึ่งถ้าใครเคยเรียนในคอร์สที่ผมสอนจะจำได้ว่าเราเรียก 4 กลุ่มรีพอร์ทนี้ย่อๆ ว่า ABC report ตามตัวอักษรขึ้นต้นของแต่ละรีพอร์ท แต่สำหรับใน GA4 รีพอร์ทหลักก็มีด้วยกัน 4 กลุ่ม แต่จะถูกจัด Grouping ใหม่เป็น Acquisition, Engagement, Monetization และ Retention ตามภาพด้านล่างนี้

กลุ่มรีพอร์ทสำคัญใน GA4 Google Analytics เวอร์ชั่น 4

ซึ่ง Google ได้วาง 4 รีพอร์ทหลักนี้ภายใต้หัวข้อ LIFE CYCLE ซึ่งจริงๆ ก็คือ Customer Life Cycle นั่นแหละครับ คือตั้งแต่ สนใจเข้าหา มีส่วนร่วม ซื้อสินค้าบริการ และซื้อซ้ำ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจาก Sales Funnel ที่เราทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งที่ดีมากสำหรับ GA4 ก็คือการมีรีพอร์ทกลุ่มใหม่ที่ชื่อว่า Retention นี่แหละครับที่สำคัญมากสำหรับนักการตลาด แต่ขาดหายไปใน GA เวอร์ชั่นที่ผ่านๆ มา สำหรับผมแล้วโครงสร้างรีพอร์ทใหม่ใน GA4 นี้ถือว่าออกแบบมาดีมากจริงๆ ทำให้เราให้ภาพ Funnel ของคนที่เข้าเว็บไซต์เราชัดเจนมากขึ้น ซึ่งพอเราเข้าใจภาพนี้แล้วการใช้ข้อมูลจาก GA4 ในการทำ Marketing ก็จะทำได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากกว่าเดิม

แต่ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว แล้ว Audience Report ล่ะ หายไปไหน คำตอบคือ ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ว่า Google ได้แยกรีพอร์ทในกลุ่มนี้ออกไปจากกลุ่มรีพอร์ทหลักของ Life Cycle Report แล้วไปแตกออกเป็นอีก 2 รีพอร์ทที่ชื่อว่า Demographics และ Tech และวางไว้อยู่ภายใต้หัวข้อ User อีกที

GA4 Acquisition Report

รีพอร์ทกลุ่มนี้ประกอบรีพอร์ท 3 รีพอร์ทได้แก่

  1. Overview
  2. User Acquisition
  3. Traffic Acquisition

 Acquisition Overview Report

ตัวอย่างรายงาน GA4-Acquisition-overview-report

รีพอร์ทนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Users และ Sessions ที่เข้ามาที่เว็บไซต์ โดยแยกตามช่องทางต่างๆ เช่น Source/Medium/Campaign โดยรีพอร์ทจะสรุปข้อมูลออกมาแบบง่ายๆ เพื่อที่อ่านได้เร็ว ตามชื่อรีพอร์ทที่บอกไว้แล้วว่าเป็น Overview ซึ่งข้อมูลอาจจะไม่ลึกมากนัก เพราะเน้นอ่านง่ายในรูปแบบ Card Design โดยที่แต่ละการ์ดจะตอบคำถามทีละคำถาม ยกตัวอย่างเช่น New Users มาจากช่องทางไหนมากที่สุด หรือ Traffic ที่เข้าเว็บไซต์มาจาก Campaign ไหนมากที่สุด

ความน่าสนใจของรีพอร์ทนี้อยู่ตรงที่ค่า Lifetime Value ในการ์ดสุดท้าย โดยค่า Lifetime Value นี้ถือเป็นค่าที่สำคัญที่จะบอกว่า User 1 คนนั้นจะทำเงินให้เราเป็นจำนวนเท่าไรในช่วง Lifetime ซึ่งในตอนนี้ GA4 จะคำนวนจากช่วงเวลา 120 วันแรกของ Users

 User Acquisition Report

ตัวอย่างรายงาน GA4-User-Acquisition-report

รีพอร์ทนี้ถือว่าเป็นรีพอร์ทใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Users อย่างมาก ซึ่งต่างจาก GA เวอร์ชั่นก่อนหน้าที่เน้น  Sessions เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Dimension หลักของรีพอร์ทนี้จะเป็นกลุ่ม User Dimensions ทั้งหมดโดยที่มี Default Dimension เป็น User Medium ตามภาพด้านล่างนี้

User-medium-dimension

เรื่องสำคัญอย่างมากที่ต้องอธิบายในรีพอร์ทนี้คือ ความหมายของ User Dimension เนื่องจาก Dimension เกี่ยวกับ User นี้เป็น Dimension ใหม่ใน GA4 รีพอร์ทนี้ หลายคนจึงมักไม่ทันได้สังเกต หรือไม่ได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การอ่านวิเคราะห์ตีความที่ผิดได้ ใน Definition ที่ Google ให้ไว้นั้น User medium คือ

Medium by which the user was first acquired, based on the Cross-channel last click attribution model

ซึ่งตาม Definition นี้หมายความว่า Channel (Medium) ที่เราเห็นตามภาพด้านบนนี้ ไมได้มีความหมายเหมือนที่เราเข้าใจใน GA เวอร์ชั่นก่อนหน้า ที่หมายถึง เป็น Channel ที่นำ Sessions เข้ามา แต่หมายถึง Channel ที่ Acquired User เข้ามาที่เว็บไซต์ของเราเป็นครั้งแรก (Cross-channel last click attribution model) ย้ำคำนี้นะครับ “ครั้งแรก” นั่นหมายความว่าอาจจะไม่ใช่ Channel ที่ใช้เข้ามาครั้งล่าสุดก็ได้ ดังนั้นการอ่านรีพอร์ทนี้ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีนะครับ และ Definition คล้ายๆ กันนี้ก็ยังถูก Apply ใช้กับ User Dimension อื่นๆ ด้วย เช่น User Source, User Campaign เป็นต้น

Metric ใหม่ที่สำคัญในรีพอร์ทนี้คือค่า Engagement Rate ที่มาทดแทน Bouncr Rate ที่ไม่มีใน GA4 อีกต่อไปแล้ว เรื่องนี้ผมเคยเขียนอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด สามารถอ่านได้ที่ GA4 เปลี่ยนมาใช้ Engagement Rate แทน Bounce Rate

 Traffic Acquisition Report

รีพอร์ทนี้เทียบได้กับ Channel Report ที่ทุกคนเคยใช้งานกันใน GA เวอร์ชั่นที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าใครอยากจะดูรีพอร์ทที่พอจะเทียบเคียงได้กับ Channel Report ก็ต้องมาดูที่รีพอร์ทนี้ เพียงแต่ในรีพอร์ทนี้ Default Dimension จะตั้งต้นมาด้วย Session source/medium หลายๆ คนจึงอาจจะสงสัยในช่วงแรกว่า Channel Report หายไปไหน ดังนั้นถ้าต้องการดู Dimension เป็น Channel อย่างที่คุ้นเคยกัน ก็สามารถที่จะเลือกเปลี่ยน Dimension เป็น Default Channel Grouping ได้ตามตัวอย่างในภาพด้านล่างนี้

ตัวอย่างรีพอร์ท GA4-Traffic-Acquisition-report

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะเห็น Channel Dimension แล้ว แต่ Metrics หลายอย่างก็เปลี่ยนไปจากที่คุ้นเคย ซึ่งในรีพอร์ท Traffic Acquisition นี้ รวมถึง User Acquisition ที่พูดถึงไปแล้วนั้น มีชุดข้อมูล Metrics ใหม่ส่วนใหญ่คล้ายกัน เช่น

  • Engaged Sessions
  • Average Engagement Time
  • Engagement Rate
  • Event Count
  • Conversions
  • Total revenue

Metrics ใหม่เหล่านี้จัดเป็น Metrics พื้นฐานที่เราจะเห็นอยู่ในเกือบทุกรีพอร์ท ดังนั้นแล้วทุกคนจึงควรทำความเข้าใจความหมายของ Metrics เหล่านี้ให้ดี นอกจากนี้แล้วก็ใน GA4 ก็ยังมี Dimesions และ Metrics ใหม่อีกมากมายที่ควรทำความเข้าใจด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดได้รวบไว้ในบทความ รวมคำศัพท์ใหม่ Dimensions และ Metrics สำคัญทั้งหมดของ GA4 แล้ว

GA4 Engagement Report

รีพอร์ทกลุ่มที่สองนี้ประกอบรีพอร์ททั้งหมด 3 รีพอร์ทได้แก่

  1. Overview
  2. Events
  3. Pages and Screens

ถ้าสังเกตจากชื่อรีพอร์ทแล้ว หลายคนก็น่าจะคุ้นเคย เพราะกลุ่มรีพอร์ทนี้จริงๆ แล้วสามารถเทียบเคียงได้กับ Behavior Report ใน GA เวอร์ชั่นเดิม คือ Event Report และ Pages Report เพียงแต่ใน GA4 จับมาปัดฝุ่นใหม่เปลี่ยนเป็นชื่อ Engagement Report และมีการเพิ่ม Metrics ใหม่ๆ เข้ามาอีกพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่ม Metrics ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า Engagement ทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น

  • Engaged Sessions
  • Engagement Rate
  • Avg. Engagement Time
  • Avg. Engagement Time per Session
  • Engaged Session per User

คำถามที่น่าสนใจคือ Engaged Sessions นั้นมีความหมายอย่างไร และมีวิธีนับอย่างไร รวมเป็นถึงการนำเอาคำนวนเป็น Engagement Rate นั้นมีวิธีการคำนวนอย่างไร เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญของ GA4 ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ซี่งจะทำให้เข้าใจความหมายเวลาอ่านรีพอร์ตต่างๆ ได้ดีกว่าเดิม

Events Report

ตัวอย่างรีพอร์ท GA4-Engagement-Events-report

สำหรับ Events Report นี้ หลายคนอาจจะคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เพราะเคยใช้งานกันมาแล้วใน GA เวอร์ชั่น Universal Analytics ถูกไหมครับ ซึ่งถ้าดูจากภาพด้านบนนี้ก็ดูเข้าใจได้ไม่ยากจริงๆ เราสามารถดูได้ว่า Event แต่ละ Event นั้นเกิดขึ้นทั้งหมดกี่ครั้ง (Event Count) มี Users เท่าไรที่ทำให้เกิดขึ้น (Total Users) และมีค่าเฉลี่ยของ Event ต่อ User จำนวนเท่าไร (Event Count per User) รวมถึงแต่ละ Event สร้าง Revenue ให้เป็นจำนวนเท่าไร เป็นต้น

แต่ถ้าใครได้ลองใช้งานแล้วจะพบว่า Event Parameters ของเดิมทั้ง 4 ตัวที่เราคุ้นเคยกัน คือ Category, Action, Label และ Value ได้หายไปจาก GA4 แล้ว และนี่เป็นผลมาจากการที่ GA4 ได้ทำการรื้อโครงสร้างวิธีการเก็บข้อมูลและ Data Model เป็นแบบใหม่ทั้งหมดที่โดยใช้ Event เป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลง Minor Change อย่างการเปลี่ยนเวอร์ชั่นที่ผ่านๆ มา และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากใน GA4 ที่กระทบกับอะไรหลายๆ อย่างที่เราเคยเข้าใจกันมาใน Universal Analytics ดังนั้นให้ลืมวิธีคิดวิธีการทำงานเรื่อง Events แบบเดิมไปได้เลย เพราะนี่เป็นเรื่องที่ต้องศีกษาใหม่ทั้งหมดจริงๆ GA4 event tracking คืออะไร แตกต่างจากเวอร์ชั่นเดิมอย่างไร

Pages and Screens Report

ตัวอย่างรีพอร์ท GA4-Pages-Screens-report

รีพอร์ทนี้เทียบได้กับ All Pages report ใน Universal Analytics คือเป็นรีพอร์ทที่แสดงตัวเลข Performance ต่างๆ ของ Page แต่ละ Page เพียงแต่ชื่อ Metric อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง หรือเพิ่มเข้ามาใหม่บ้าง เช่น Metric ใหม่ที่ชื่อว่า Views ก็จะเทียบกับเมทริคเดิมคือ Pageviews หรือ Views per user ก็คือค่าเฉลี่ยของการดูแต่ละ Page ต่อ 1 User ซึ่ง Metric นี้ก็จะคล้ายๆ (แต่ไม่เหมือน) กับ Pages per session ทำนองนั้น ดังนั้นโดยรวมแล้วรีพอร์ทนี้สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากอะไรนักสำหรับคนที่เคยใช้ Universal Analytics มาแล้ว

Metric ใหม่ค่าหนึ่งที่น่าสนใจมากในรีพอร์ทนี้ คือ Unique user scrolls ซึ่งค่านี้จะนับก็ต่อเมื่อยูสเซอร์ได้มีการ Scroll down หน้าๆ นั้นไปจนถึง 90% ของหน้า ดังนั้นค่านี้จึงมีความสำคัญที่สามารถบอกเราได้ว่าหน้าไหนบนเว็บไซต์ที่คนสนใจจริงๆ และมีการเลื่อนดูไปจนจบนั่นเอง กราบขอบคุณ Google ที่ช่วยทำอะไรให้ง่ายขึ้น 🙂

เรื่องที่น่าแปลกใจ และน่าเสียดายของรีพอร์ทกลุ่มนี้ก็คือ ไม่มี Landing Pages และ Exit Pages Report แล้ว!!! ใช่ครับ มันหายไปจาก Predefined Report แล้ว อย่างไรก็ตามวิธีการหาข้อมูล Landing pages นั้นไม่ใช่ว่าจะทำไมได้ เอาไว้ผมจะเขียนอธิบายเรื่องนี้อีกที แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไม Google จะต้องทำให้ยูสเซอร์ลำบากขึ้นด้วย ทั้งที่เป็นหนึ่งในรีพอร์ทที่หลายคนต้องใช้งานกัน – -”

GA4 Monetization Report

รีพอร์ทในกลุ่ม Monetization ประกอบไปด้วยรีพอร์ททั้งหมด 4 รีพอร์ท ได้แก่

  1. Overview
  2. Ecommerce purchase
  3. In-App purchase
  4. Publisher Ads

แต่บทความนี้จะขอพูดถึงเฉพาะส่วนของ Ecommerce purchase เพียงรีพอร์ทเดียว เนื่องจากเป็นรีพอร์ทที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน ในส่วนของ In-App purchase ซึ่งเป็นรีพอร์ทเฉพาะยอดขายที่ผ่าน Mobile app และ Publisher Ads ที่เป็นรีพอร์ทรายได้จากการโฆษณาผ่านระบบ Google Adsense นั้น ถ้ามีโอกาสหรือมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจะนำมาเขียนให้อ่านกันอีกที

Ecommerce Purchase Report

รีวิวรีพอร์ท GA4-ecommerce-purchase-report

คนที่เคยใช้งาน Ecommerce Report จะทราบดีว่า ใน Universal Analytics นั้น มีรีพอร์ท Ecommerce มากมายให้เราใช้งานกัน เช่น Shopping behavior, Checkout behavior, Product performance, Sales performance และ Product list performance เป็นต้น แต่ใน GA4 นั้น Ecommerce purchase report นี้ เป็นรีพอร์ท Ecommerce รีพอร์ทเดียวที่มีอยู่ในตอนนี้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีรีพอร์ท Ecommerce อื่นๆ ออกมาให้ใช้งานเพิ่มเติมอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้งานเบื้องต้นนั้น Ecommerce purchase report ก็ช่วยให้เรามีข้อมูลสำคัญในการทำงานได้ดีพอสมควรแล้ว เช่น สินค้าอะไรที่ถูกเข้าดูมากที่สุด สินค้าอะไรถูกเพิ่มลงตะกร้าสินค้ามากที่สุด สินค้าอะไรขายเป็นจำนวนกี่ชิ้น รวมไปถึงตัวเลขยอดขายของสินค้าแต่ละชิ้นด้วย

ซึ่ง Metric ที่ให้ข้อมูลตามที่กล่าวมานี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากใน Universal Analytics มากนัก เพียงแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อ Metric ไปบ้าง แต่อ่านแล้วก็ดูเข้าใจง่ายขึ้นกว่าเดิม สำหรับความหมาย Metric ต่างๆ ในรีพอร์ทนี้สามารถอ่านได้ที่ รวมคำศัพท์ใหม่ Dimension และ Metric ของ GA4

GA4 Retention Report

รีพอร์ทนี้เป็นรีพอร์ทใหม่ที่เพิ่งจะมีใน GA4 เวอร์ชั่นนี้เท่านั้น เรียกว่าใหม่มากจนยังไม่มีรีพอร์ทอะไรให้ใช้งานกันเลยละครับ – -” ตอนนี้จะมีก็เพียงแค่ Overview Report ซึ่งยังไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้นเท่าไรนัก ส่วนตัวแล้วผมเองให้ความสำคัญกับรีพอร์ทกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก และคาดหวังว่าเป็นรีพอร์ทที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจกลุ่ม User ที่กลับมาซื้อซ้ำ รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลาที่ซื้อซ้ำ สินค้าที่ซื้อซ้ำบ่อยๆ เป็นต้น ดังนั้นนี่ก็เป็นอีกกลุ่มรีพอร์ทความหวังหมู่บ้านที่ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรอัพเดทออกมาเพิ่มเติม

รีวิวรีพอร์ท GA4-retention-overview-report

ที่อธิบายมาทั้งหมดก็ครบแล้วสำหรับกลุ่มรีพอร์ทหลักใน GA4 ที่อยู่ภายใต้ชื่อ Life Cycle ซึ่งว่ากันตรงๆ ก็คือมีน้อยมากจริงๆ หลายคนคงสงสัยว่าแล้วรีพอร์ทต่างๆ ที่เคยมีใน Universal Analytics นั้น จะดูใน GA4 ได้อย่างไร จริงๆ เรื่องนี้ผมได้เคยเขียนไว้ในบทความก่อนๆ แล้วว่า ใน GA4 นั้นจะสร้าง Predefiend Report เฉพาะที่คนส่วนใหญ่และทุกธุรกิจจำเป็นต้องใช้จริงๆ ถ้าต้องการรีพอร์ทอื่นๆ ก็จะต้องสร้างขึ้นเองคล้ายๆ กับ Custom Report ใน GA เวอร์ชั่นเดิม แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าน่าจะกำลังจะทยอย Rollout ออกมา เพราะเห็นได้ชัดว่า กลุ่ม Retention Report นั้น คงไม่น่าที่จะมี Overview เพียงรีพอร์ทเดียว

สำหรับกลุ่ม Audience Report นั้น อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ไม่ได้อยู่รวมใน Life Cycle Report แต่จะแยกออกมาเป็นอีก 2 รีพอร์ทชื่อ Demographics  และ Tech ที่วางไว้ใต้หัวข้อ User อีกที

GA4 Demographics Report

อธิบายการใช้งาน GA4-demogrphics-report

รีพอร์ทนี้เป็นรีพอร์ทที่ให้ข้อมูล Insight ในเชิง Demographic และ Geographic เหมือนที่เราเคยใช้งานกันมา แต่ต่างจากเดิมตรงที่ใน Universal Analytics นั้น รีพอร์ทในกลุ่ม Audience นั้นถูกแตกออกเป็นรีพอร์ทย่อยๆ จำนวนมาก แต่ใน GA4 นี้ รีพอร์ทต่างๆ เหล่าถูกรวบรวมไว้อยู่ภายใน Demographic Details เพียงรีพอร์ทเดียวโดยเปลี่ยนไปให้ใช้วิธีการเลือกเปลี่ยน Dimension แทน ซึ่งได้แก่ Country, Region, City, Age, Gender, Interest, Language ดังนั้นนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รีพอร์ทของ GA4 ดูน้อยลงไป ในส่วนข้อมูล Metric ต่างๆ นั้นก็เป็น Metric พื้นฐานเหมือนในรีพอร์ทอื่นๆ ที่ได้อธิบายไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดก็เอาไว้ตอบคำถามนักการตลาดว่า ผู้ที่เข้าใช้งานเว็บไซต์เรานั้น มาจากประเทศอะไร เป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และมีอายุช่วงไหน เป็นจำนวนเท่าใด รวมไปถึง ยูสเซอร์กลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่สร้างยอดขายให้กับเรามากที่สุด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากในการที่เราจะใช้ในการทำการตลาดได้ต่อไป

GA4 Tech Report

อธิบายการใช้งาน GA4-tech-details-report

รายงานต่างๆ ในรีพอร์ท Tech Details จริงๆ แล้วก็เคยอยู่ภายใต้ Audience Report ใน Universal Analytics เหมือนกันกับ Demographic Details ที่ได้พูดถึงไปแล้ว ดังนั้นกลุ่มข้อมูลส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากเดิมซึ่งได้แก่ข้อมูล Device category, Browser, Screen resolution, OS version เป็นต้น ดังนั้นเชื่อว่าถ้าใครเคยใช้งานกลุ่ม Audience รีพอร์ทใน Universal Analytics กันมาแล้ว ก็น่าจะทำความเข้าใจกันได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องศึกษาทำความเข้าใจความหมายของ Metric พื้นฐานใหม่ของ GA4 ตามลิงค์ที่ให้ไว้ก่อนหน้าเท่านั้นเอง ซึ่งรีพอร์ทนี้จะช่วยให้เราเข้าใจกลุ่มยูสเซอร์ของเรามากขึ้นเกี่ยวกับ Technology ที่กลุ่มยูสเซอร์ของเราใช้งาน และสามารถนำข้อมูลไปช่วยในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเว็บไซต์ และ ออกแบบ User Experience ได้

โดยรวมแล้ว ถือว่า GA4 ออกแบบโครงสร้างรีพอร์ทได้ค่อนข้างดี โดยมีการแบ่งโครงสร้างตาม Sales Funnel อย่างชัดเจน เพียงแต่ตอนนี้ Predefined Report ยังมีค่อนข้างน้อย (ซึ่งผมก็คิดว่าคงจะไม่มีมากเท่าเดิมอยู่แล้วล่ะ) บางรีพอร์ทที่สำคัญแต่ยังขาดไปก็น่าจะกำลังทยอยปล่อยออกมาให้ใช้งานมากขึ้นในปีนี้ เช่น รีพอร์ทในกลุ่ม Ecommerce และ Retention เป็นต้น ดังนั้นคงต้องติดตามการอัพเดทกันต่อไป ใครที่ไม่อยากพลาดการอัพเดทสามารถกด Add Friend ด้านล่างนี้ได้เลย บทความใหม่จะส่งไปให้อ่านอัพเดทกันเสมอครับ 🙂

Happy Analytics 🙂

เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด

Leave a Reply