วิธีการสร้าง Goal ใน Google Analytics ทีละขั้นตอนสำหรับผู้เริ่มต้น

goal in google analytics

เรื่องการสร้าง Goal ใน Google Analytics นั้นจัดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากจะพูดว่าสำคัญมากที่สุดก็คงจะไม่ผิดอะไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มักจะต้องทำเป็นขั้นตอนแรกๆ ในเซ็ตอัพ Google Analytics ซึ่งความสำคัญของ Goal นั้นมีมากขนาดที่ Michael Porter นักคิด นักบริหาร และนักเศรษฐศาสตร์ มีชื่อเสียงในส่วนของการบริหารเชิงกลยุทธ์ เคยกล่าวไว้ประโยคหนึ่งว่า

“Without a goal, analytics is aimless and worthless”

 

นั่นหมายถึงว่าการทำ Analytics นั้นแทบจะไร้ประโยชน์เลยถ้าไม่มี Goal ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมพยายามเน้นย้ำในคลาสสอนอยู่เสมอ และที่ไม่น่าเชื่อเลยก็คือ ผมมักจะพบว่า 80 กว่า % ของคนที่มาเรียนไม่มีการเซ็ตอัพ Goal กันมาก่อนทั้งที่เรี่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นมากๆ ในการทำ Analytics

ทำไม Goal จึงมีความสำคัญมาก

Goal ก็คือ เป้าหมาย และเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ทุกเว็บไซต์ต้องมี ถ้าเรามีเว็บไซต์แต่ไม่มี Goal คำถามคือเรามีเว็บไซต์ไปเพื่ออะไร จริงไหมครับ เพราะเราคงไม่มีเว็บไซต์เพียงเพราะว่าคนอื่นเขามีกัน ถ้าเรายังไม่รู้ว่า Goal ของเราคืออะไร ให้เราลองตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า เว็บไซต์เรามีเพื่ออะไร อะไรเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นเมื่อมีคนเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรา ถ้าเราตอบสองคำถามนี้ได้สิ่งนั้นนั่นแหละครับ Goal

ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์เราเป็นเว็บ e-commerce เรามีเพื่อขายสินค้าออนไลน์ และเราต้องการให้คนที่เข้าเว็บไซต์ของเราเข้ามาสั่งซื้อสินค้าและชำระเงิน แต่ถ้าเว็บไซต์เราเป็นเว็บประเภท Lead Generation (เว็บไซต์ประเภทโครงการบ้าน คอนโด) เราต้องการให้คนที่สนใจเข้าเว็บมาลงทะเบียนเข้าเยี่ยมชมโครงการ เป็นต้น ในสองตัวอย่างนี้ Goal ก็คือ การสั่งซื้อสินค้า และการลงทะเบียน ตามลำดับ

เมื่อเรามี Goal เราก็จะสามารถ ‘วัดผล’ การทำการตลาด และคนที่เข้าขมเว็บไซต์ได้ อย่างแท้จริงว่า ใคร และ อะไร ที่ทำให้เป้าหมายของเราสำเร็จหรือล้มเหลว

ซึ่งต่างจากการทำ Analytics ที่ไม่มีการเซ็ตอัพ Goal เอาไว้ เพราะข้อมูลที่เราจะได้ก็มีเพียงข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เช่น Session, Bounce Rate, Pageview etc. ซึ่งไม่ได้ช่วยตอบคำถามว่าธุรกิจของเราจะดีขึ้นหรือไม่ หรือดีขึ้นแย่ลงเพราะอะไร และสุดท้ายจะจบลงที่การคาดเดาเหมือนเดิม ดังนั้นเพื่อการวัดผลที่ถูกต้องจริงๆ บทความนี้เราจะมาว่ากันเรื่องของการเซ็ตอัพ Goal แบบ Destination Goal ซึ่งจัดว่าเป็น Goal พื้นฐานที่เว็บไซต์ส่วนใหญ่มักจะต้องใช้กัน

การสร้าง Destination Goal ใน Google Analytics

  1. login เข้าไปที่ Google Analytics แล้วไปที่ส่วน Admin ด้วยการคล้ิกไปที่ไอคอนฟันเฟืองที่มุมซ้ายล่างของจอ จากนั้นให้คล้ิกไปที่ Goals ภายใต้ส่วนของ View ตามภาพ

    set-up-goal-in-google-analytics
    คลิ้กที่ Goals เพื่อเข้าสู่การสร้าง Goals
  2. เมื่อเข้ามีที่หน้า Goal แล้วให้คลิ้กที่ +New Goal เพื่อไปสู่ขั้นตอนแรกของการสร้าง Goal

    Goal-setting-in-analytics
    คลิ้กที่ +New Goal เพื่อไปขั้นตอนถัดไป
  3. ให้เลือกการสร้าง Goal แบบ Custom ตามภาพด้านล่างและคลิ้ก Continue เพื่อเข้าสู่ Goal Description ในขั้นตอนที่สอง (แนะนำให้ใช้ Custom Goal เพราะเป็นพื้นฐานที่ควรเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานต่อไปได้)

    Custom-goal-setting-analytics
    เลือกเซ็ตอัพ Goal แบบ Custom แล้วคลิ้ก Continue เพื่อไปขั้นตอนที่ 2
  4. ในขั้นตอนที่สองนี้มีส่วนที่ต้องทำสองอย่างคือ หนึ่งตั้งชื่อของ Goal ซึ่งตามตัวอย่างจะเป็นการเซ็ตอัพ Goal สำหรับเว็บไซต์ e-commerce ก็เลยตั้งชื่อว่า ‘Complete Order’ ในส่วนของ Goal type นั้นให้เลือกแบบ Destination ซึ่งเป็น Goal ที่จะต้องมีหน้าเป้าหมายปลายทาง (ถ้าไม่มีหน้าเป้าหมายปลายทางจะเซ็ตอัพ Goal แบบนี้ไม่ได้) ในกรณีของเว็บไซต์ e-commerce นั้นปกติหลังจากสั่งซื้อสินค้าและมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้วนั้น หน้าเป้าหมายปลายทางก็คือหน้า Thankyou นั่นเอง หน้านี้แหละครับที่จะเป็นตัวบอกว่า Goal ของเราได้สำเร็จแล้ว ถูกต้องไหมครับ หลังจากเลือก Type แบบ Desitnation แล้วให้คลิ้ก Continue เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย

    Goal-setup-in-Google-analytics
    ตั้งชื่อ Goal และเลือก Type แบบ Destination แล้วกด Continue เข้าสู้ขั้นตอนสุดท้าย
  5. ในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นส่วนของ Goal Details ที่เราจะต้องระบุหน้าเป้าหมายปลายทางให้ Google Analytics รู้จัก สิ่งที่จำเป็นต้องระบุคือในส่วนของ Destination ซึ่งส่วนนี้ให้นำ URI (ยูอาร์ไอ) ของหน้าเป้าหมายปลายทางมาใส่ไว้ ยกตัวอย่างเข่น sample.com/thankyou.html ถ้าหน้าปลายทางเป็น URL แบบนี้ ส่วนของ URI จะยกเอามาตั้งแต่ / หลัง .com เป็นต้นไป ดังนั้นตามตัวอย่างจึงระบุ Destination ไว้ว่า /thankyou.html เมื่อระบุ Destination เรียบร้อยก็สามารถกด Save ได้เลย เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว Google Analytics ก็จะเริ่มทำการบันทึก Goal ให้เรา (ปล. ในส่วนของ Value และ Funnel ไว้จะพูดถึงคราวหน้านะครับ)

    Goal-details-in-google-analytics
    ระบุ URI ของหน้าเป้าหมายในส่วนของ Destination ให้ถูกต้อง
  6. ตัวอย่างรีพอร์ทหลังจากที่ Google Analytics เริ่มเก็บค่า Goal ซึ่งจะไปแสดงอยู่ในกลุ่มของ Conversion Metrics ในหลายๆ รีพอร์ท

    Goal-conversion-report
    ตัวอย่างรีพอร์ทที่สามารถเห็นค่า Goal และ Conversion rate ที่เกิดขึ้น

เรื่องควรทราบ

  • กรณีที่มีหลายๆ View และต้องการเห็นค่า Goal ทุก View จะต้องทำการเซ็ตอัพ Goal ให้แต่ละ View ทีละครั้ง
  • การเซ็ต Goal นั้นไม่มีผลย้อนหลังกับข้อมูลที่ Google ได้ทำการ processed ไปแล้ว Goal จะเริ่มบันทึกในวันที่เริ่มสร้างเท่านั้น
  • Goal ต่อ 1 View มีจำนวนจำกัดที่ 20 Goals เท่านั้น และเมื่อสร้างแล้ว ไม่สามารถลบออกได้ ทำได้เพียงแค่การเปลี่ยนชื่อและ Reuse เท่านั้น

สุดท้ายนี้ย้ำอีกครั้งนะครับ ว่า Goal นั้นมีความสำคัญมากกับเรื่องของ Analytics ดังนั้นใครยังไม่มี Goal อ่านบทความนี้จบแล้วแนะนำให้เริ่มสร้างทันทีครับ ความสำเร็จของธุรกิจของเราจะได้ไม่ตั้งอยู่บนความคาดเดา ความรู้สึก หรือความน่าจะเป็นอีกต่อไป

Happy Analytics 🙂

Leave a Reply