เราต่างรู้ว่า ‘ข้อมูล’ เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์กับการแข่งขันทางธุรกิจ และเราก็รู้ว่าจะต้องพยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งข้อมูลมากก็จะทำให้เราตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการนำเอาข้อมูลจำนวนมากวิเคราะห์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หรือจะเอามาทำเป็น Dashboard ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีเครื่องมือมากมายในการแปลงข้อมูลออกมาเป็นกราฟรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้การอ่านทำความเข้าใจข้อมูลง่ายขึ้น ซึ่งก็มีทั้งแบบเสียค่าใช้จ่าย และแบบที่สามารถใช้งานได้ฟรี ความสามารถก็แตกต่างกันไป แต่เครื่องมือหนึ่งที่ผมคิดว่าดี ฟรี ใช้งานง่าย และสามารถต่อเข้ากับข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบด้วยขั้นตอนที่ง่ายมากนั้น ก็คือ Google Data Studio ยิ่งโดยเฉพาะคนที่ใช้เครื่องมือของ Google อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Analytics, Google Ads, หรือ Google Search Console ยิ่งง่ายและสะดวกมาก ผมเองช่วงนี้ก็ต้องใช้ตลอดเวลา เพราะว่าต้องไปคอนซัลท์อาทิตย์ละสองสามวัน (อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมไม่ค่อยได้อัพเดทบทความ – -“) ซึ่งการใช้ Data Studio นั้นช่วยลดเวลาการเตรียมข้อมูล และการทำพรีเซนต์ไปได้มากเลยทีเดียว บทความนี้เป็นบทความตอนที่หนึ่งที่จะเน้นเนื้อหาในเชิงปฏิบัติ ใครที่สนใจเรื่อง Data Studio และการสร้างรีพอร์ท ทำ Data Visulization กดติดตามเพจ หรือแอดเฟรนด์ได้เลยนะครับ บทความอื่นๆ ถัดจากนี้ไปจะเน้นเรื่อง Data Studio และ Google Analytics มากกว่าเนื้อหาส่วนอื่น
เริ่มต้นใช้งาน Google Data Studio
Data Studio เป็นเครื่องมีที่ให้ใช้งานฟรี และการเริ่มต้นใช้งานก็ง่ายมาก เพียงแต่เราจะต้องมี Google Account และ Data Source รวมกับความเข้าใจความหมายของข้อมูลที่เรามีได้แก่เรื่อง Dimensions และ Metrics ต่างๆ เพราะถ้าไม่เข้าใจ เราก็จะไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลชุดไหนอะไรออกมาเพื่อใช้งานตามที่เราต้องการ
- Google Account ก็คือใช้ Gmail นี่แหละครับ แล้วก็ Log in เข้าไป datastudio.google.com ได้เลย
- Data Source ซึ่งก็คือแหล่งข้อมูลที่จะให้ Data Studio ไปเชื่อมต่อและดึงข้อมูลออกมาเพื่อสร้าง Dashboard สำหรับ Data Source ก็อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นครับ จะเป็น Google Analytics, Google Ads หรือ Google Search Console ก็ได้ แต่ถ้าใครยังไม่มี Data Source ของตัวเองเลยก็ไม่เป็นไรนะครับ แนะนำให้ลง Google Analytics Demo Account ได้จากลิงค์นี้ Google Analytics Demo Account ใครที่ยังไม่รู้จักอ่านเพิ่มเติม Google Analytics Demo Account สำหรับคนที่ไม่มีเว็บไซต์
VDO version ดูได้จากคลิปด้านล่างนี้ เนื้อหาจะอธิบายอย่างละเอียด สามารถทำตามได้ง่าย ส่วนใครที่ยังไม่สะดวกเปิดเสียงตอนนี้สามารถข้ามวิดีโอนี้ไปก่อน แต่ถ้าอ่านบทความแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจเพราะไม่เห็นภาพหน้าจอ ก็แนะนำให้ย้อนกลันมาดูอีกครั้งครับ
รู้จักเครื่องมือเบื้องต้นต่างๆ ใน Data Studio
ใครที่ Log in เข้าไปที่ Data Studio จะเห็นหน้าตาของเครื่องมือตามภาพด้านล่างนี้ ซึ่งดูไม่ได้มีเมนูอะไรที่ซับซ้อนวุ่นวายชวนเวียนหัวเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ ของ Google 🙂
สำหรับบทความนี้ มีสิ่งสำคัญที่อยากให้รู้จักแค่สองเรื่องก่อน เรื่องอื่นๆ เราค่อยว่ากันต่อไป อย่างแรกได้แก่ เมนู Report โดยปกติค่าตั้งต้นการใช้งาน Data Studio จะตั้งต้นที่เมนูนี้ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งจะแสดงลิสต์รีพอร์ททั้งหมดที่เราได้สร้างไว้ ตัวอย่างนี้เรายังไม่ได้สร้างรีพอร์ทอะไร เราก็จะเห็นเฉพาะ Untitled Report ซี่งระบบสร้างรอเอาไว้ให้เรา ส่วนที่สองคือ Data Source ส่วนนี้จะเป็นส่วนสำหรับจัดการ Data Source เช่นการ Connect หรือการ Remove ตามภาพด้านล่างนี้หลังจากคลิ้กไปที่ Data Source เราจะยังไม่พบอะไร เพราะเรายังไม่ได้มีการเชื่อมต่อกับ Data Source ไหน
เริ่มต้นการเชื่อมต่อกับ Data Source
สำหรับตัวอย่างนี้เราจะเชื่อมต่อกับ Google Analytics Demo Account กัน ใครที่จะเชื่อมต่อกับ Google Analytics ของตัวเองก็ตามสบายนะครับ ขั้นตอนการเชื่อมต่อมีดังนี้
- กด Create ที่ปุ่มด้านซ้ายบนของหน้าจอ
- เลือก Google Analytics ซึ่งเป็น Data Source แรกที่แสดงอยู่ในลิสต์ Data Source ทั้งหมด
- หลังจากนั้นให้เลือกที่ Demo Account>Google Merchandise Store>Master View ตามภาพด้านล่างนี้ แล้วกดปุ่ม Connect สีฟ้าที่ด้านขวาบน ถ้าใครไม่เห็นให้ตรวจสอบว่าได้ทำการสร้าง Demo Account เสร็จเรียบร้อยแล้วหรือไม่ และได้ Login ด้วย Email เดียวกันกับที่ใช้สร้าง Google Analytics Demo Account หรือยังนะครับ
- หลังจาก Connect แล้ว จะเห็นลิสต์ของข้อมูล Dimension และ Metrics ทั้งหมดของ Google Analytics ตามภาพด้านล่างนี้ ตรงนี้อย่าลืมไปแก้ชื่อ Data Source ด้านบนซ้ายนะครับ เดี๋ยวพอมี Data Source เยอะๆ จะไม่ได้ไม่สับสน
- ถึงตรงนี้ใครจะกด Create Report ต่อไปเลยก็ได้ แต่อยากให้กดที่โลโก้ของ Data Studio ที่มุมซ้ายบนเพื่อกลับมาที่หน้าแรกก่อนครับ จะเห็นว่ามี Data Source ที่เรา Connect เมื่อครู่เข้ามาแสดงอยู่ในลิสต์เรียบร้อยแล้ว
เริ่มต้นสร้างรีพอร์ทง่ายๆ กันก่อน
- กด Create แล้วเลือกที่ Report
- เมื่อเข้ามาหน้าแรกของ Report ก็จะเห็นเป็นหน้าว่างๆ แต่จะเห็นลิสต์ของ Data Source อยู่ด้านขวามือ ตรงนี้ Data Source ที่เราเพิ่มมาก่อนหน้าจะแสดงอยู่ในลิสต์ด้วย ใหเลือก Data Source ที่เราสร้างไว้ ตามภาพผมเลือก GA Demo ที่สร้างไว้ในขั้นตอนก่อนหน้านี้
- กด Add a chart ที่เมนูด้านบน แล้วเลือก Time Series Chart อันแรก แล้วก็ทดลองสร้าง Chart แรกด้วยการลากเพื่อกำหนดขนาดของ Chart
- Data Studio จะสร้าง Chart พร้อมข้อมูลในแบบอัติโนมัติโดยเลือกชุดข้อมูลที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดออกมาเป็นตัวอย่างให้ดูก่อน ตามภาพระบบเลือกจำนวน Pageviews มาแสดงตามช่วงเวลาดีฟอลต์
- ให้ลองคลิ้กที่กราฟ จะพบว่าเมนูด้านซ้ายมือจะแสดงค่าการ Setting ต่างๆ ของรีพอร์ทนี้ไว้ ซึ่งเราจะมาลองเปลี่ยนกัน 🙂 ตอนนี้เราจะทดลองสร้างกราฟแท่งแสดงจำนวน Traffic ที่เข้าเว็บโดยแยกออกเป็นเดือนกัน ให้ทำตามขั้นตอนดังนี้
- เปลี่ยน Dimension จาก Date เป็น Month of the year
- เปลี่ยน Metric จาก Pageview เป็น Sessions
- เปลี่ยน Default Date Range จาก Auto เป็น Custom แล้วเลือกช่วงเวลาเป็น This year to date (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีนี้ถึงเมื่อวานนี้)
- เปลี่ยน Dimension จาก Date เป็น Month of the year
- ถ้าตั้งค่าตามข้อ 5 เรียบร้อยแล้ว เราจะเห็นรีพอร์ทที่เป็นเส้นกราฟพล็อตจำนวน Sessions แยกรายเดือนตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมาตามภาพ
- ทีนี้เราจะมาเปลี่ยนเป็นกราฟแท่งโดยการเป็นแก้ที่ STYLE ในเมนูด้านขวามือซึ่งเป็น Tab ที่อยู่ติดกับ Tab DATA
- เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับกราฟง่ายๆ กราฟแรก หน้าตาโอเคใช้ได้ ใครได้กราฟหน้าตาแบบนี้แสดงว่าทำตามมาถูกต้องแล้ว (กราฟปี 2019)
- ตอนนี้เราได้กราฟที่ใช้งานได้ประมาณหนึ่งแล้ว เป็นกราฟที่แสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวน Sessions ในแต่ละเดือน แต่มันอาจจะดูง่ายไปหน่อย ทีนี้เราจะมาลองสร้างกราฟแท่งที่เปรียบเทียบจำนวน Sessions ของแต่ละเดือนเทียบกับปีที่แล้วอีกที รับรองว่าง่ายมากกกก วิธีคือให้ไปเลือกตรง Comparision Date Range แล้วเลือกกำหนดเป็น Previous Year แล้วกด Apply เท่านี้เองเราก็ได้กราฟที่ดูดีและมีข้อมูลมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว เยี่ยมไปเลย 🙂
ง่ายไหมละครับ สำหรับการสร้างรีพอร์ทแรกใน Data Studio จริงๆ แล้วยังมีอะไรที่ทำได้มากกว่านี้อีกเยอะมาก แต่ก็จะมีความยากและซับซ้อนขึ้นตาม ต้องอาศัยการศึกษาใช้งานกันสักช่วงหนึ่ง บทความถัดๆ ไปจะค่อยๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ แต่รับรองว่ามีประโยชน์แน่ๆ ครับ ใครสนใจเรื่องดาต้า ก็ต้องสนใจเรื่องการดึงเอาดาต้ามาแสดงผลด้วยนะครับ ของมันเกิดมาคู่กัน
Happy Analytics 🙂
อ่านต่อตอนที่ 2 เรียนใช้งาน Google Data Studio ด้วยตัวเอง ตอนที่ 2

ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE OA : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด