ตัวอย่างข้อสอบ Google Analytics เฉลยพร้อมคำอธิบาย

Google-analytics-certificate

สองวันก่อนผมได้มีโอกาสสอบเซอร์ Gooogle Analytics อีกครั้งเพื่อต่ออายุใบเซอร์ จริงๆ ก็จำไม่ได้ว่าเป็นการต่ออายุครั้งที่เท่าไร ถ้าให้ประมาณคร่าวๆ ก็น่าจะสัก 7-8 ครั้งแล้วเป็นอย่างน้อย จากประสบการณ์ที่สอบผ่านมา เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ เท่าที่ผ่านมาข้อสอบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญเลย ว่ากันตามตรงผมก็ไม่ได้คิดว่าข้อสอบจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะพื้นฐานและระบบของ Google Analytics โดยรวมแล้วมีวิธีการและคอนเซ็ปท์การทำงานที่ค่อนข้างชัดเจนและไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็มักจะเป็นการอัพเดทฟีเจอร์ให้ดีขึ้น รวมไปถึงการเน้นเรื่องของการวัดผลแบบ Cross-Device มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ Google ค่อนข้างให้ความสำคัญ และจะทำให้เราเห็นภาพ Customer Journey ได้ถูกต้องมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ข้อสอบทั้งหมด 70 ข้อในการสอบเซอร์ของ Google Analytics ยังเน้นไปที่ความเข้าใจพื้นฐานเป็นหลัก และที่ผมเองสอบล่าสุดนั้นก็ยังไม่พบข้อสอบที่ถามถึงเรื่อง Cross-Device Journey หรือเรื่องของ Apps and Web Property เลย

จากข้อสอบทั้งหมด 70 ข้อ บทความนี้ผมเลือกข้อสอบออกมาทั้งหมด 5 ข้อซึ่งเป็นกลุ่มหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่องของ Segment และ Filter เป็นหลัก แต่คงจะไม่ได้เอามาเฉลยกันตรงๆ นะครับ ทำอย่างนั้นดูจะไร้ประโยชน์ไปเสียหน่อย เรื่องของ Segment และ Filter นั้น การใช้งานในหลายกรณีอาจจะให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน กล่าวคือ ทั้ง Segment และ Filter โดยพื้นฐานเรามักจะใช้เพื่อจัดการข้อมูลให้ได้ข้อมูลเฉพาะส่วนที่เราต้องการออกมาเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อ แต่เอาจริงๆ สองอย่างนี้มีรายละเอียดที่สำคัญ ย้ำนะครับสำคัญที่แตกต่างกันในหลายๆ จุด ซึ่งผมจะอธิบายให้เข้าใจมากขึ้นผ่านตัวอย่างข้อสอบด้านล่างนี้


1. ในการทำ Segment  อะไรที่ไม่สามารถทำได้

ข้อนี้คำตอบคือ การเปลี่ยนแปลงข้อมูลแบบถาวร อธิบายง่ายๆ คือการทำ Segment นั้น ไม่ได้ผลกระทบกับ Data ทั้งหมดที่เก็บไว้เลย เช่น ถ้าหากเราอยากวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลที่เข้าเว็บไซต์ด้วยอุปกรณ์ Mobile การสร้าง Mobile Segment นั้นจะดึงข้อมือเฉพาะการใช้งานเว็บไซต์ด้วยมือถือออกมาเท่านั้นโดยที่ข้อมูลส่วนอื่นๆ ก็ยังเก็บไว้อยู่ในระบบ กรณีนี้แตกต่างจากการสร้าง ‘Filter’ เพื่อฟิลเตอร์ข้อมูล Mobile เพราะการฟิลเตอร์โดยใช้ Include ที่อยู่ใน View Filter ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Mobile จะถูกฟิลเตอร์ทิ้งออกไปอย่างถาวร (นับตั้งแต่วันที่สร้าง Filter) ซึ่งเรื่องนี้เป็นความแตกต่างที่ชัดเจน และสำคัญมากที่จะต้องเข้าใจโดยเฉพาะกับคนที่จะสร้าง Filter เพราะถ้าหากสร้างผิดพลาดอะไรไปแล้ว ข้อมูลสำคัญอาจจะหายไปได้ และที่สำคัญคือ หายไปแล้ว หายไปถาวร เอากลับมาไม่ได้เลยนะครับ

google-analytics-exam-55-70
2. Filter มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร

คำตอบของข้อนี้คือ Sequential order ซึ่งหมายถึงการทำงานแบบเรียงตามลำดับ อธิบายแบบที่ง่ายๆ ที่สุด ให้นึกภาพแบบเครื่องกรองน้ำนะครับ น้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ จะผ่านชั้นกรองทีละชั้น แต่ละชั้นก็ทำเพื่อกรองสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะให้กรองอะไร Google Analytics ก็เช่นเดียวกัน ตอนที่เราสร้าง Filter เราสามารถสร้าง Filter ได้หลายๆ Filter เพื่อให้สามารถกรองข้อมูลต่างๆ ออกมาในแบบที่เราต้องการได้ เช่น
ฟิลเตอร์ที่ 1 : Include ข้อมูลทราฟฟิคที่ใช้ iPhone
ฟิลเตอร์ที่ 2 : Include ข้อมูลที่มาจาก Google Organic Search
ฟิลเตอร์ที่ 3 : Include ข้อมูลที่มาจากช่วงอายุ 25-34
ถ้าเราสร้างฟิลเตอร์ 3 แบบนี้ ในช่วงที่ Google Analytics ทำการประมวลผลข้อมูล ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งเข้าผ่าน Filter เหล่านี้ เหมือนน้ำผ่านเครื่องกรองน้ำนั่นแหละครับ ข้อมูลสุดท้ายที่ได้ออกมาก็จะเป็นข้อมูลทราฟฟิคที่มาจากกลุ่มคนที่มีอายุช่วง 25-34 และใช้มือถือ iPhone ค้นหาผ่าน Google Search เข้ามาที่เว็บไซต์ของเรา แล้วเราก็สามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายที่เราสนใจได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

ปล. อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านะครับ Filter และ Segment สามารถทำอะไรบางอย่างได้เหมือนๆ กัน ซึ่งข้อมูลที่ผมยกอย่างด้วย Filter แบบนี้เราก็สามารถสร้างเป็น Segment ได้เช่นกัน จะเลือกอย่างใดก็ขึ้นอยู่ที่ความต้องการและความเหมาะสมในการใช้ของเรา ตรงนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วทำไมต้องสร้าง Filter ในเมื่อ Segment ก็ทำได้เหมือนกัน ก็จริงเนอะ แต่… อย่างที่บอกครับ ทั้ง Segment และ Filter ทำ ‘บางอย่าง ‘ ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะ Segment จะทำแค่เรื่องการแบ่งกลุ่มข้อมูลเป็นหลัก แต่ Filter ทำได้เยอะกว่านั้นมาก ซึ่งบทความนี้คงยังลงรายละเอียดไม่ไหว ไว้มีโอกาสจะอธิบายอีกทีครับ

google-analytics-exam-37-70
3. สร้าง View Filter แล้ว สามารถนำ Filter ไปใช้กับข้อมูลที่มีการเก็บและประมวลผลมาก่อนได้หรือไม่

คำตอบคือ False นะครับ การสร้าง Filter ในแบบข้อที่ 2 หรือจะแบบใดๆ ก็ตาม Filter นั้นจะมีผลเฉพาะกับข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากการสร้าง Filter แล้วเท่านั้น ดังนั้นในบางกรณี Segment จึงเป็นฟีเจอร์ที่เหมาะสมกว่าในการวิเคราะห์กลุ่มข้อมูลเป้าหมาย เพราะ Segment เป็นฟีเจอร์ที่สามารถ Apply ใช้ย้อนหลังกับ Data ที่เกิดขึ้นมาแล้วได้อย่างง่ายดาย

google-analytics-exam-68-70
4. เมื่อข้อมูลผ่านการฟิลเตอร์แล้ว มีวิธีไหนที่สามารถนำข้อมูลที่ยังไม่ได้ถูกฟิลเตอร์กลับมาได้บ้าง

คำตอบคือ ไม่มีทางเอากลับมาได้อีกแล้ว ตรงนี้ขอย้ำให้เข้าใจอย่างชัดเจนอีกทีว่า โดยวิธิการทำงานของ Google Analytics ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว คือ ข้อแรก Filter จะไม่มีผลกับข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อนหน้า และสอง ข้อมูลที่ถูก Filtered แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกเช่นกันตามที่กล่าวไว้แล้วตามข้อที่ 1 ดังนั้นการใช้ Filter จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และต้องเข้าใจเรื่องนี้อยู่พอสมควร User ที่สามารถสร้าง Filter ได้จึงจะต้องมี Permission ในระดับสูง คือต้องได้รับ Permission ในระดับ Edit ที่ Account Level

google-analytics-exam-70-70

5. อะไรที่ไม่ใช่ประโยชน์ของการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Segment

คำตอบข้อนี้คือ Segment จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอะไรที่เกิดขึ้นจากการทำ Segment ซึ่งผมได้กล่าวไปแล้วในข้อแรก ส่วนประโยชน์ของการสร้าง Segment ก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก คนที่ใช้งาน Segment คงทราบกันดีว่า Segment ช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ทำได้ละเอียด และมีความเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนที่เป็น New Visitor คนที่เป็นลูกค้าใหม่ คนที่เป็น High Value Customer คนที่ใช้ iPhone คนที่มาจากช่องทาง Facebook และอื่นๆ อีกมากมายแล้วแต่เงื่อนไขที่เรากำหนด ที่ดีไปกว่านั้นคือ Segment ที่เราสร้าง เราสามารถเปลี่ยนเป็น Audience เพื่อนำไปใช้โฆษณา Remarkeing ใน Google Ads ได้อีกด้วย คนที่เคยเรียนในคลาสที่ผมสอนจะทราบดีว่า ผมย้ำเรื่อง Segment ในคลาสเสมอ เพราะ Segment ถือเป็นหนึ่งใน Core Technique Analysis ทีเดียวแหละครับ

ถึงตรงนี้คิดว่านอกจากได้ 5 คำตอบสำหรับทำข้อสอบ Google Analytics แล้ว เชื่อว่าทุกคนคงน่าจะเข้าใจความเหมือน และความแตกต่างของ Segment และ Filter มากขึ้นกว่าเดิม สองฟีเจอร์นี้มีความสำคัญทั้งคู่สำหรับการใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น ส่วนจะเลือกใช้อย่างไรก็ดูที่เงื่อนไขความต้องการเพื่อที่จะเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมนะครับ ส่วนใครที่สนใจเรื่องการสอบเซอร์ Google Analytics แนะนำให้อ่านทำความเข้าใจเรื่อง การสอบเซอร์ Google Analytics กันดูก่อนนะครับ

Happy Analytics 🙂
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE OA : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics  อ่านรายละเอียด

Leave a Reply