Event tracking ใน Google Analytics เรื่องจำเป็นที่ต้องทำ

event-tracking-คืออะไร

ผู้เริ่มต้นใช้งาน Google Analytics ส่วนใหญ่นั้น มักจะเริ่มต้นกันด้วยการเปิดแอคเคาท์ Google Analytics แล้วก็เอาสคริปต์ที่ได้มาไปติดตั้งบนเว็บไซต์ เสร็จแล้วก็เร่ิมต้นอ่านรีพอร์ทกันเลย จะว่าไปสมัยนานมาแล้วผมก็ทำแบบนี้แหละครับ คือติดสคริปต์เสร็จเป็นอันจบกันดูรีพอร์ทกันไปยาวๆ ซึ่งนี่คือข้อดีข้อหนึ่งของ Google Analytics เพราะแค่วางโค้ดเสร็จข้อมูลก็เริ่มบันทึกทันที ไม่ต้องตั้งค่าอะไรให้ซับซ้อนก็มีข้อมูลและรีพอร์ทมากมายให้ดูกันไม่หมด จนหลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าแค่รีพอร์ทที่ได้มาจากการวางโค้ดไว้เฉยๆ ก็มากมายเพียงพอแล้ว คงไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรเพิ่มเติมอีก ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการใช้ความสามารถของ Google Analytics ได้อย่างไม่เต็มความสามารถ

สิ่งหนึ่งที่ผมย้ำเสมอในการสอนคลาส Google Analytics นั่นก็คือการเซ็ต Goal Conversion ใน Google Analytics เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดการอ่านรีพอร์ทจะได้มีเป้าหมายในการวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ดูจำนวน Session หรือ Bounce Rate แต่สามารถรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี มีตัววัดผลแบบ Macro Conversion ที่สามารถใช้ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตขึ้นได้ ซึ่งการเซ็ต Goal Conversion นั้นถือเป็นเรื่องพื้นฐานจำเป็นที่ควรจะทำเป็นลำดับแรกๆ หลังจากการสร้างแอคเคาท์ Google Analytics แต่เรื่องการสร้าง Goal ผมจะไม่ได้เอามาอธิบายในบทความนี้ เพราะเคยเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว ใครสนใจเรื่องการเซ็ต Goal สามารถอ่าน วิธีการสร้าง Goal ใน Google Analytics ทีละขั้นตอนสำหรับผู้เริ่มต้น

Event Tracking คืออะไร

Event Tracking คือวิธีการบันทึกข้อมูลในเชิงพฤติกรรมที่ยูสเซอร์มีการ Interact กับอีลีเม้นท์ต่างๆ บนหน้าเว็บ (ในบางกรณีอาจจะเป็นเรื่องของการใช้เวลาอยู่บนหน้าเว็บตามที่กำหนดก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้อง Interact กับ element)

อย่างที่กล่าวไปแล้วการใช้งาน Google Analytics โดยการวางโค้ดไว้เฉยๆ นั้น ถือว่ายังใช้งาน Google Analytics ได้น้อยมากๆ และข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน เพราะ Google Analytics จะเก็บข้อมูลได้เฉพาะ Interaction พื้นฐานที่เรียกว่า “Pageview” เท่านั้น ซึ่งพอพูดถึงเรื่อง Interaction ก็ต้องอธิบายต่อไปว่า จริงๆ แล้ว Google Analytics มี Interaction พื้นฐาน หรือเราอาจจะเรียกกันว่า Common hit types อยู่ 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. Pageview
  2. Event
  3. Social Interaction
  4. Ecommerce

Pageview จัดเป็น Interaction พื้นฐานมากที่สุด เกิดขึ้นจากการที่ยูสเซอร์เปิดเข้าดูหน้าต่างๆ บนเว็บไซต์ การเปิดดูหน้าใดก็ตามหนึ่งหน้า Tracking Code ของ GA ก็จะทำงานและส่งค่าที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ดูอยู่ไปที่เซิฟเวอร์ Google เช่น Page Title และ Page (uri) เป็นต้น ซึ่งข้อมูลประเภทนี้แค่เราวางโค้ด Google Analytics เราก็ได้ข้อมูลมาใช้งานได้แล้ว เอาจริงๆ ก็ถือว่าได้ประโยชน์อยู่พอสมควร คำถามคือ แล้วทำไมเรายังจำเป็นต้องใช้ Event tracking ด้วยล่ะ?

Event Tracking มีประโยชน์อย่างไร

Event Tracking จะช่วยให้เราเข้าใจยูสเซอร์ในระดับพฤติกรรม ที่ไม่ใช่แค่ว่า “ดูหน้าไหน” แต่เป็นการกระทำย่อยๆ เช่น การกด download PDF, การกดแอดเฟรนด์ LINE, การกด Play Video หรือการคลิ้ก Link ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเว็บไซต์ขนาดใหญ่ และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซมักจะมีการทำ Event Tracking บนหน้าเว็บเป็นจำนวนมาก เพราะจะทำให้ได้ข้อมูลจำนวนมากมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ในเชิงพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับ Goal และเป้าหมาย และสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้สำหรับทำพวกงาน Prediction ต่างๆ ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเคยทำให้กับเว็บอสังหาฯ รายหนึ่งเกี่ยวกับ Event Tracking และอยากจะนำมาเอาบางส่วนมาเล่าให้ฟังก็คือ เว็บอสังหาฯ นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำ Event Tracking เพราะส่วนใหญ่การออกแบบเว็บอสังหาฯ โดยเฉพาะกับเว็บที่รวมรวมโครงการต่างๆ ในลักษณะของ Classified มักจะออกแบบเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลโครงการ 1 หน้าต่อ 1 โครงการ คือทุกอย่างรวมหมดอยู่ในหน้าเดียว คือมีทั้งรูปภาพที่เป็น Gallery, รายละเอียดโครงการ, ลิงค์เว็บไซต์โครงการ, เบอร์โทรติดต่อโครงการ, ปุ่ม Add Friend LINE, ปุ่ม download PDF, ปุ่ม Download Map, VDO 360, ปุ่มคำนวณสินเชื่อ, ปุ่ม Submit Form เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเว็บไซต์อสังหาฯ ไม่ทำ Event Tracking สิ่งที่ได้ก็จะมีแต่ข้อมูลจำนวน Pageviews, Time on page ว่าแต่ละโครงการมีการดูกี่ครั้ง ใช้เวลาเฉลี่ยในหน้านั้นเท่าไร ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก็ได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อยมาก เพราะคนดูโครงการแต่ละคนจะมีความสนใจโครงการนั้นๆ มากน้อยต่างกัน และไม่ได้หมายความทุกคนจะมีความต้องการ หรือสนใจอยากซื้อ ยิ่งไปกว่านั้นบางครั้งโครงการเองก็ซื้อโฆษณาด้วย ก็ทำให้จำนวน Pageview มากขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่านั้น

ลองคิดแบบง่ายๆ ว่า ถ้าคนๆ หนึ่งเข้าหน้าโครงการบ้านแล้วไม่มี Action อะไรเลยกับส่วนต่างๆ บนหน้าเว็บที่กล่าวมาแล้ว ระบบก็จะเก็บได้เพียง 1 Pageviews แต่ถ้ามีอีกคนหนึ่งที่เข้ามาหน้าโครงการเดียวกัน แล้วมีการ กดดูเบอร์โทร, กดดูหรือดาวน์โหลดแผนที่โครงการ และกดคำนวนสินเชื่อ คนหลังก็มีแนวโน้มและโอกาสในการซื้อมากกว่าคนแรกถูกไหมครับ ซี่งอย่างที่บอกเราก็ต้องมีการทำ Event Tracking เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้ พอนึกภาพออกแล้วใช่ไหมครับว่า Event Tracking มีความสำคัญอย่างไร

วิธีการสร้าง Event Tracking

การทำ Event Tracking นั้นเริ่มต้นจากว่าเราต้องเลือกว่าเราต้องการ Track Event ที่จุดไหนบนหน้าเว็บบ้าง ซึ่งก็แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องไปแทรคอะไรที่ไม่จำเป็นให้มากมายจนเกินไป เลือกเอาเฉพาะที่มีประโยชน์และนำไปใช้งานได้จริงๆ ก็พอ พอเลือกได้แล้ววิธีการ Implement ก็จะขึ้นอยู่กับ เราติด Google Analytics ไว้ที่หน้าเว็บแบบไหน เช่น ผ่าน GTM (Google Tag Manager) หรือเป็นการวางสคริปต์ GA ที่หน้าเว็บตรงๆ เลย รวมไปถึงถ้าวางไว้หน้าเว็บตรงๆ ก็ต้องดูอีกว่าเป็น Google Analytics เวอร์ชั่นไหน บทความนี้ก็เลยขออนุญาติไม่พูดถึงรายละเอียดการเซ็ตอัพเพราะมันมีเยอะจริงๆ ใครที่จะเริ่ม Implement ลองหาอ่านจากเว็บของ Google ครับ เพราะทาง Google อธิบายไว้ได้ละเอียดแล้ว แต่สิ่งที่อยากเอามาอธิบายให้ฟังคือพวกค่าต่างๆ ของพารามิเตอร์ในการส่ง Event เพราะทุกวิธีมี Concept ไม่แตกต่างกัน

ส่วนประกอบของ Event Tracking

Event Tracking จะมีพารามิเตอร์อยู่ 4 ตัวด้วยกันดังนี้

  1. Category
  2. Action
  3. Label (optional, but recommended)
  4. Value (optional)

ในส่วนของ Category นั้น เรามักจะใส่ค่าในพารามิเตอร์นี้ในลักษณะชื่อของกลุ่มข้อมูลหลัก ยกตัวอย่างเดิมก็คือถ้าเป็นเว็บอสังหาฯ Category ก็อาจจะใช้เป็นคำว่า “home” หรือ “condo” เพื่อแบ่งกลุ่ม Event ให้ชัดว่าเป็น Event ที่เกิดขึ้นที่หน้าโครงการประเภทอะไร

ส่วนพารามิเตอร์ Action  โดยทั่วไปเรามักจะใส่ลักษณะของ Action ที่กระทำ เช่น “download pdf” หรือ “calculate loan” เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นกฏตายตัวนะครับว่าต้องเป็นลักษณะของ Action จริงๆ แล้วทั้ง Category, Action และ Label เราสามารถใส่อะไรก็ได้แล้วแต่เราต้องการเลย

Label เป็นพารามิเตอร์ที่เป็น Optional คือจะใส่ค่านี้หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่จากประสบการณ์ที่ทำมา แนะนำว่าควรใส่ครับเพราะเราจะมีข้อมูลที่มากขึ้น ในกรณีของตัวอย่างที่กล่าวมา ส่วนของ Label ผมก็จะใส่เป็นชื่อโครงการอสังหาฯ เช่น “centric ratchayothin” เป็นต้น พอเราใส่ข้อมูลครบทั้ง Category, Action และ Label ส่ิงที่เราจะได้จากการดูรีพอร์ทตามตัวอย่างก็คือ

  • จำนวน Event การกดคำนวนสินเชื่อ เกิดขึ้นทั้งหมดกี่ครั้ง
  • จำนวน Event ที่เกิดขึ้น เกิดกับโครงการประเภท “home” กี่ครั้ง และ “condo” กี่ครั้ง
  • จำนวน Event ที่เกิดขึ้น เกิดกับโครงการไหนบ้าง แต่ละโครงการมีจำนวนการกดคำนวนสินเชื่อกี่ครั้ง

ส่วนพารามิเตอร์ Label ตัวสุดท้ายนั้น เป็น Optional เช่นกัน ส่วนมากผมเองก็มีโอกาสได้ใช้น้อยครับ จะใช้แค่ในบางกรณี เมื่อ Event นั้นมีมูลค่าบางอย่างที่เราต้องการใส่เข้าไปจริงๆ สำหรับการแทรคทั่วไปแล้วนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ใส่ค่าในพารามิเตอร์สามตัวแรกให้ครบก็ถือว่าโอเคแล้วครับ

พอเห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ ว่า Event Tracking ทำให้เราได้ข้อมูลในเชิงพฤติกรรมที่เราสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์และทำ Predict ต่อได้ ซึ่งอย่างที่บอกครับว่า การวางโค้ดไว้เฉยไม่สามารถให้ข้อมูลแบบนี้ได้ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Event ก็คือ เมื่อเราสร้าง Event แล้ว เราก็สามารถที่จะสร้าง Goal ประเภท Event Goal ต่อได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะกำหนด Event ของการกด LINE add friend เป็น Event Goal เพื่อให้ Google Analytics แทรคเป็นจำนวน Conversion รวมถึงคำนวณค่า Conversion Rate ได้อีกด้วย

ดีขนาดนี้ใครที่ยังไม่เคยใช้ลองเริ่มต้นกันดูนะครับ ไม่มีอะไรยากไปกว่าการตัดสินใจเริ่มต้น ถ้าเริ่มแล้วก็ไม่มีอะไรยากครับ

Happy Analytics 🙂
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics  อ่านรายละเอียด

Leave a Reply