เรื่องของ “เวลาที่เหมาะสมในการโพสต์” หรือ “การโพสต์ facebook เวลาไหนดีนั้น” เป็นหัวข้อสุดแสนอมตะที่ทุกคนให้ความสนใจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งวันนี้ ฝั่งแอดมิน Social Media ของแบรนด์เองก็อยากรู้เพื่อที่จะได้โพสต์ในเวลาที่มีคนเห็นเยอะที่สุด มี Engagement มากที่สุด ส่วนฝั่ง Publisher เองก็รู้ดีว่าหัวข้อนี้เวลาโพสต์ลงบนหน้าเพจก็จะได้ Engagement เยอะเช่นกัน ดังนั้นเราจึงเห็นหัวข้อนี้วนเวียนไปมาบน Social Media มาตลอดหลายๆ ปี จนสงสัยว่า เวลาโพสต์ที่ดีนั้นเราจะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนั้นจริงๆ ใช่ไหม
ทุกครั้งที่ผมเห็นโพสต์ลักษณะนี้ คำถามเดิมๆ ก็ผุดขึ้นเสมอว่า เราเชื่อข้อมูลที่เห็นได้มากน้อยแค่ไหน และเวลาที่ดีที่สุดในการโพสต์มีจริงๆ ใช่ไหม ถ้าให้ตอบโดยส่วนตัว ผมเองไม่ได้ยึดติดเวลาโพสต์เลย แค่มีเวลาเขียนคอนเทนต์ก็น้อยมากแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผมทำคือ เขียนเสร็จก็โพสต์เลย ฟังดูก็อาจจะย้อนแย้งกับสิ่งที่ผมทำและสอนอยู่ใช่ไหมครับ ใช่ครับ ว่ากันตามตรงบางเรื่องผมเองก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องการใช้ข้อมูลมากมายขนาดนั้น แต่ถ้าถามผมแบบจริงจังว่า เวลาโพสต์ที่ดีที่สุดคือเวลาไหน เอาแบบที่พอมีข้อมูลซัพพอร์ทหน่อย ทางเลือกอีกทางที่ผมจะใช้ก็คือ การหาจาก Google Analytics ซึ่งผมจะยกตัวอย่างวิธีการหาให้ดูในบทความนี้ แต่อย่างแรกต้องอธิบายก่อนว่าทำไม่ผมไม่ค่อยเชื่อถือเวลาที่ดีที่สุดในการโพสต์จากโพสต์ต่างๆ ที่แชร์กันใน Social Media
เหตุผลว่าทำไมเราจึงยังไม่ควรเชื่อข้อมูล “เวลาโพสต์ที่ดีที่สุด”
- ข้อมูลที่เราเห็นกันมักจะเป็นสถิติที่รวบรวมจากเพจต่างๆ ในต่างประเทศ ดังนั้นแล้วพฤติกรรมของการใช้งาน Social Media ย่อมมีความแตกต่างกัน เวลาที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ก็อาจจะไม่ดีสำหรับประเทศไทยก็ได้ ข้อมูลลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องลองทดสอบดูก่อนจึงค่อยตัดสินใจว่าเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน
- สมมุติว่าเวลาโพสต์ที่แชร์กันเป็นเวลาที่ดีที่สุดจริงๆ คำถามคือ แล้วถ้าเราทุกคนพร้อมใจกันโพสต์เวลาเดียวกันตามที่ได้ข้อมูลมา เช่นมี xx,xxx เพจโพสต์พร้อมกัน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเห็นโพสต์ทั้งหมดในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันจริงไหมครับ ที่พอเป็นไปได้ก็คือ เราก็จะเห็นโพสต์จากเพจที่เรา Engage บ่อยๆ ก่อน หรือเป็นเพจที่เราเลือก See First หรือ Get Noti ไว้ ที่เหลือก็อาจจะไม่เห็นเลย
- ธรรมชาติของ Content บนเฟซบุ๊คคือ “ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป” เมื่อโพสต์นั้นผ่านไปวันนึง เราก็แทบไม่มีโอกาสเห็นโพสต์นั้นบนหน้า Feed ของเราแล้ว ถ้ามีก็จะเป็นโพสต์ที่มีการ Engagement สูงๆ และมี Share จำนวนมาก ซึ่งก็อาจจะวนมาให้เราเห็นได้บ้าง ถ้าเปรียบเทียบกับการ Broadcast บน LINE OA แบบนี้จะต่างกัน ซึ่งผมกลับเชื่อว่า “เวลา Broadcast ที่ดีที่สุด” น่าจะมีอยู่จริงมากกว่า เพราะว่าการ Broadcast อย่างไรก็ถึงยูสเซอร์ทุกคน(ที่ไม่บล็อก)ทันที เดี๋ยวนั้น ซึ่งต่างจากการโพสต์บนเฟซบุ๊คโดยสิ้นเชิง ส่วนจะเปิดอ่านหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นเวลาที่สะดวก เหมาะสม หัวข้อเนื้อหาน่าสนใจ ก็มีโอกาสที่จะเปิดอ่านได้สูง
ถ้าอย่างนั้นดูจาก Facebook Insight แทนได้ไหม?
ก็ได้ครับ แต่… หลายคนยังเข้าใจรีพอร์ทของ Facebook ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกับรีพอร์ทที่เรามักจะใช้กำหนดเวลาในการโพสต์คือ รีพอร์ทที่บอกว่าแฟนที่ติดตามเราออนไลน์ใช้งาน Facebook ช่วงเวลาใดมากที่สุด นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับพฤติกรรมของแฟนเพจที่ติดตามแล้ว ยังนำไปสู่การกำหนดเวลาการโพสต์ที่ผิดพลาดอีกด้วย
หลายคนคงคุ้นเคยกับรีพอร์ท Facebook Insight ด้านล่างนี้กันใช่ไหมครับ เส้นกราฟจะแสดงให้เราเห็นว่าเวลาที่เหมาะสมในการโพสต์คือเวลาที่แฟนเพจที่ติดตามเพจเราออนไลน์กันมากที่สุด พอเห็นภาพนี้เราก็จะคิดว่า เวลาที่ดีที่เหมาะกับการโพสต์คือช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป (6:00 PM) ส่วนเวลา 9:00 AM-6:00 PM คือตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นเป็นเวลาที่ไม่เหมาะกับการโพสต์เลย เพราะแฟนที่ติดตามไม่ค่อยจะออนไลน์ใช้เฟซบุ๊คกัน นี่แหละครับความเข้าใจที่ผิดพลาดมากๆ เพราะหลายคนยังไม่ทราบว่า เวลาที่แสดงใน Facebook Insight นี้เป็นเวลา Pacific Time Zone หมายความว่าเป็นเวลาที่ช้ากว่าประเทศไทย 14 ชั่วโมง ดังนั้นหมายความว่าเวลา 6:oo PM หรือ 6 โมงเย็นที่เราตั้งใจจะใช้เป็นเวลาโพสต์ Facebook นั้นเป็นเวลา Pacific Time Zone ซึ่งไม่ถูกต้อง ส่วนเวลาที่ถูกต้องตามเวลาในประเทศไทยจริงๆ แล้วคือ 8 โมงเช้านั่นเอง ใครที่อาจจะยังเข้าใจผิดเรื่องนี้กันอยู่มาปรับความเข้าใจให้ถูกต้องกันนะครับ
พอเข้าใจเรื่อง Pacific Time Zone แล้ว มาลองดูเส้นกราฟกันต่อ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วแฟนเพจที่ติดตามก็ออนไลน์ใช้งานเฟซบุ๊คกันเกือบทั้งวันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม อาจจะมีบางชั่วโมงที่เยอะขึ้นมาหน่อย แต่ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างชัดเจน ดังนั้นถามว่าเวลาโพสต์ที่ดีที่สุดคือตอนไหน ถ้าเส้นกราฟเป็นแบบนี้คำตอบก็คือ ได้ทั้งวันนั่นแหละครับ ถ้างั้นเราลองมาหาเวลาที่ดีที่สุดด้วย Google Analytics กันดีกว่าครับ
วิธีหาเวลาโพสต์เฟซบุ๊คที่ดีที่สุดด้วย Google Analytics
ต้องเกริ่นนำแต่แรกก่อนว่า วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหาเวลาโพสต์เท่านั้น ซึ่งวิธีการจะเป็นการดึงข้อมูลจากยูสเซอร์ของเราเองจริงๆ ใน Google Analytics ไม่ใช่สถิติจากรีพอร์ทต่างประเทศ ซึ่งทุกคนก็ไม่ควรเชื่อจนกว่าจะได้ทดลองเองหลังจากอ่านบทความนี้จบ โดยคอนเซ็ปท์การหาเวลาที่เหมาะสมในการโพสต์ด้วย Google Analytics นั้น เป็นการดึงเอาจากเวลาที่ GA จับได้ว่า ชั่วโมงไหนที่มียูสเซอร์คลิ้กลิงค์จากเฟซบุ๊คเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรามากที่สุด ดังนั้นวิธีการนี้จึงเหมาะสำหรับการโพสต์ในรูปแบบของ Link Post เป็นหลัก แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการโพสต์แบบอื่นๆ ได้เช่นกัน เพราะว่าเป็นเวลาเวลาที่มีการ Engage ด้วยการคลิ้กลิงค์เข้ามาที่เว็บไซต์จริง
1. เปิดเข้าบัญชี Google Analytics และเข้าไปที่เมนู Acquisition>Social Network>Network Referrals จะรีพอร์ทแบบภาพด้านล่างนี้ ซึ่ง Google Analytics จะจำแนกทราฟฟิคที่มาจาก Social Media ที่รู้จักทั้งหมดออกมา เช่น Facebook Twitter Pinterest ตามภาพ ซึ่งสิ่งที่เราสนใจกันในโพสต์นี้คือ หาช่วงเวลาที่คนคลิ้กจากโพสต์ที่เราโพสต์ออกไปว่าชั่วโมงไหนที่มี Traffic เข้ามาจาก Facebook มากที่สุด
2. เพื่อที่จะแสดงตัวเลขชั่วโมงที่เราสนใจ ส่ิงที่เราต้องทำต่อไปคือการเลือกใช้งาน Secondary Dimension โดยเลือก Dimension “Hour” ออกมาใช้งาน วิธีทำก็ให้คลิ้กที่ Drop-down menu ด้านบนชื่อ Dimension หลักของเราตามภาพด้านล่างนี้
3. หลังจากที่เลือก Hour แล้วจะสังเกตเห็นว่าตารางรีพอร์ทจะเพิ่มคอลัมน์ใหม่ที่ชื่อ “Hour” เข้ามา ซึ่งเป็นการ Breakdown ข้อมูลของแต่ละ Network Referrals ออกมาเป็นระดับชั่วโมงแทน ตามภาพก็จะเห็นว่า ชั่วโมงที่มี Traffic เข้ามาจาก Facebook มากที่สุดคือ บ่าย 3 โมง ซึ่งถ้าดูโดยภาพรวมก็จะเห็นว่า 3 ชั่วโมงที่พีคที่สุดคือ บ่าย 2-4 ดังนั้นเวลาโพสต์ที่เหมาะก็ควรประมาณสักบ่าย 2 และถ้าเราไล่ลงไปดูก็จะพบว่าช่วงเวลาที่ดีอีกช่วงหนึ่งจะเป็นช่วงเช้า ประมาณ 8-9 นาฬิกา ดังนั้นเราก็อาจจะเลือกโพสต์ช่วงเช้าประมาณ 8 โมงได้อีกช่วงหนึ่ง
และนี่เป็นข้อมูลจากจากคนที่เป็นผู้ติดตามจริงของเรา เป็นช่วงเวลาที่มีการ Engage จากการคล้ิกลิงค์เข้ามา ซึ่งก็น่าจะดีกว่าจริงไหมครับ อย่างไรก็ตามอย่างที่กล่าวไปแล้ว หลังจากเห็นข้อมูลนี้ก็ควรจะต้องทดลองและวัดผลกันต่อไปอีก อย่าเพิ่งเชื่อ 100% ที่สำคัญอีกเรื่องคือ ข้อจำกัดของวิธีการนี้คือ ถ้าเรากำหนดเวลาโพสต์ซ้ำๆ กันทุกวัน เช่น 9 โมงเช้าทุกวัน วันละโพสต์เดียว แน่นอนว่าตัวของทราฟฟิคช่วง 9-10 ก็น่าจะเยอะที่สุดเป็นธรรมดา ดังนั้นการทดสอบโดยการกำหนดเวลาไว้ให้กระจายครบทุกช่วง และทดสอบโดยใช้ระยะเวลาสักช่วงหนึ่ง ก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่ดีกว่า ส่วนเพจไหนที่โพสต์วันละหลายโพสต์ กระจายเวลาทั้งวันอยู่แล้ว การดึงรีพอร์ทออกมาแบบนี้ก็ถือว่าพอจะใช้งานได้เลย
พอเราเข้าใจวิธีการหาชั่วโมงที่ดีที่สุดสำหรับการโพสต์แล้ว เราก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้หา “วัน” ที่ดีที่สุดสำหรับการโพสต์ได้เช่นกัน วิธีการก็ง่ายๆ แค่เปลี่ยน Secondary Dimension ที่ตอนแรกเราเลือก “Hour” เป็น “Day of Week Name” แทน เท่านั้นเอง จากภาพจะเห็นว่า วันที่มี Traffic มาจากการคลิ้กลิงค์ Facebook มากที่สุดคือ วันศุกร์ ถ้าเป็นวันหยุดก็จะเป็นวันเสาร์ ง่ายและดีใชไหมครับ:) และเช่นเดียวกันการอ่านรีพอร์ทนี้ ถ้าเป็นเพจที่โพสต์ทุกวันอยู่แล้วก็จะได้ข้อมูลที่ดีกว่าเพจที่ไม่ได้โพสต์ทุกวันหรือนานๆ โพสต์ที ซึ่งจะไม่เหมาะเท่าไร เพราะจำนวนทราฟฟิคก็มักจะเยอะที่สุดตามวันที่โพสต์
สุดท้าย อยากจะย้ำว่า เวลาโพสต์ที่ดี ไม่สำคัญเท่ากับ Content ที่ดีกว่า ต่อให้เรามีเวลาที่ดีทึ่สุดจริง แต่ถ้า Content ไม่ดี ผู้คนก็ไถผ่านไปโดยไม่สนใจแน่นอน และนี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกว่าการทำ Social Media Marketing นั้นจะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามเป้าหมายหรือไม่ ไม่ใช่หรือครับ
Happy Analytics:)
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด