Event Tracking ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งในการใช้งาน Google Analytics ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญแต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ก็ไม่เคยใช้งานกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะข้อมูล Event Tracking นั้นจะช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของยูสเซอร์ที่ใช้งานแพลตฟอร์มของเราได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น แทนที่จะรู้เพียงแค่ดู “หน้าไหน” ซึ่งถือเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราคุ้นเคยกันใน Dimension และ Metric ที่ชื่อว่า Pages และ Pageviews ตามลำดับ และถ้าว่ากันตามตรงก็เป็นข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก ยิ่งโดยเฉพาะกับการจะหา User Insight หรือ Behavior นั้น Pages และ Pageviews แทบจะไม่มีประโยชน์เลยทีเดียว
Event tracking คืออะไร
Event tracking คือ แอดวานซ์ฟีเจอร์ที่ช่วยให้เราสามารถบันทึกข้อมูลในเชิงพฤติกรรมต่างๆ ที่ยูสเซอร์ได้สร้าง Interaction เกิดขึ้นภายในเว็บไซต์หรือแอปของเรา ยกตัวอย่างเช่น การดาวน์โหลดไฟล์ การคลิ้กลิงค์ การกด Play วิดีโอ การกดปุ่ม Form Submit หรือกระทั่งการ Scroll down หน้าเว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ Gooogle Analytics จะไม่เก็บข้อมูลให้โดยดีฟอลต์จากการวาง Base Code ไว้บนหน้าเว็บไซต์
ข้อดีของการทำ Event tracking
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Event tracking จะทำให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของยูสเซอร์ได้ละเอียดมากขึ้น ที่สำคัญคือเราสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการทำ Event tracking ไปใช้งานอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น การนำไปสร้างเป็น Segment เพื่อใช้ในการทำ Ad Targeting ผ่าน Google Ads หรือสร้างเป็น Event Goal ที่ใช้วัดผล Conversion ของเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น Blog ของ Google Analytics Thailand ก็จะมีการสร้าง Event tracking ไว้ที่ปุ่ม LINE Add Friend เพื่อที่จะดูว่าบทความไหนที่ทำให้คนสนใจกดเพิ่มเพื่อนบ้าง ซึ่งผมก็เซ็ตไว้เป็น Event Goal เพื่อที่จะวัดผลไปถึง Conversion และ Conversion Rate ได้ด้วย ถ้าใครสนใจเรื่องการวัดผล Content Marketing เหมือนกับ Blog ที่ผมทำอยู่ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ วัดผล Content Marketing ให้ถูกต้อง ที่ไม่ใช่แค่ยอด View ยอด Like
ส่วนในระดับ Advance แล้วนั้น Event Tracking ก็ยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะการเข้าใจพฤติกรรม เข้าใจแพทเทิร์นของยูสเซอร์ จะช่วยในการทำ Predictive Analytics เพื่อหา Propensity และแนวโน้มทางพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นของยูสเซอร์ได้ผ่านการทำ Machine Learning เรื่องของการใช้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมในการทำ Prediction ผมเคยเขียนยกตัวอย่างเคสที่น่าสนใจไว้ในบทความนี้ ลองอ่านเพิ่มเติมกันดูครับ Event tracking ใน Google Analytics เรื่องจำเป็นที่ต้องทำ
Event Tracking ใน GA4 ต่างจากเวอร์ชั่นเดิม (Universal Analytics) อย่างไร
เชื่อว่าทุกคนที่อ่านบทความนี้น่าจะพอคุ้นเคยกับการทำ Event Tracking ใน GA เวอร์ชั่น Universal Analytics กันมาบ้างแล้ว ซึ่งสำหรับ GA4 นั้น Event Tracking จะมีรูปแบบ วิธีการ และ Data Model แตกต่างไปจาก Universal Analytics ค่อนข้างมากถึงขนาดที่ว่าควรจะต้องลืมวิธีคิด Event Tracking แบบเก่าทิ้งไปเลย ดังนั้นเรื่องนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องจริงๆ เพื่อที่จะใช้งาน Event Tracking ได้อย่างถูกต้องเต็มประสิทธิภาพที่สุด
Universal Analytics Event ที่เราเคยทำกันมานั้น จะมีพารามิเตอร์ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ 4 ชนิดคือ Category, Action, Label และ Value แต่ในสำหรับ GA4 แล้ว จะไม่มีพารามิเตอร์เหล่านี้อีกต่อไป!!! และเราก็จะไม่สามารถเห็น Category Action Label และ Value ในรีพอร์ทของ GA4 อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่สำหรับการทำ Event Tracking ใน GA4 ซึ่งการนำเอารูปแบบการ Tracking เดิมที่ใช้งานใน Universal Analytics มาใส่แทนแบบยกมาวางนั้นเป็นวิธีที่ไม่แนะนำ
Event Tracking ใน GA4 มีรูปแบบอย่างไร
โครงสร้างของ Event ใน GA4 จะแบ่งเป็นส่วนของ Event Name, Event Parameters และ User Properties แต่ที่ Required จริงก็คือ Event Name เพียงตัวเดียว ซึ่งต่างจาก Event Tracking แบบเดิมที่อย่างน้อยต้องส่ง 2 fields คือ Event Category และ Action อย่างไรก็ตาม คำแนะนำก็คือ เราควรต้องใส่ Event Parameters เพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยเฉพาะกับ Custom Events ยกตัวอย่างเช่น สมมุติเราต้องการ Track event การเข้าชมรายละเอียดรถยนต์ในเว็บไซต์ เราก็สามารถจะใส่ Event Parameters เพื่อเก็บข้อมูลแบบละเอียดขึ้นได้ เช่น Page_views Event เราก็จะเพิ่ม Parameter ดังนี้
- brand: honda
- model: crv
- type: suv
- color: white
ซึ่งในแต่ละ Event เราสามารถใส่ Parameter ได้มากที่สุดถึง 25 Parameters ไม่ถูกจำกัดเพียงแค่ 4 Parameters เหมือนที่เราเคยทำกันใน Universal Analytics และยิ่งเราสร้าง Parameters ไว้มากเท่าไร เราก็ยิ่งมี data เอาไว้ใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเอาไว้ทำ Segment เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรม หรือกระทั่งนำไปสร้างเป็น Audience สำหรับทำ Remarketing Ads ได้ ในกรณีของรถยนต์ตามตัวอย่างที่กล่าวมา ถ้าใครที่เคยได้ร้บการบันทึกข้อมูลตาม Parameters ด้านบน เราก็สามารถส่งโฆษณาที่เป็น Personalized แบบเจาะจงรุ่น และสี ได้ด้วย ดีใช่ไหมครับ:)
Events ใน GA4 แบ่งออกเป็น 4 Category
- Automatically collected events
- Enhanced measurement events
- Recommended events
- Custom events
ในส่วนของ Automatically collected events และ Enhanced measurement events นั้นจะเป็นกลุ่ม Events ที่มีการเก็บบันทึกโดยอัติโนมัติ เพียงแค่ติดตั้ง Base Code ของ GA4 ซึ่งไม่ต้องมีการเขียนโค้ดหรือใส่แท็กอะไรเพิ่มใน GTM เลย ตรงนี้ถือเป็นข้อดีของ GA4 เลยล่ะครับ
Automatically collected events
Events กลุ่มนี้ผมขออนุญาติยกตัวอย่างเฉพาะ Web Events เป็นหลักนะครับ เพราะ App Events จะมีค่อนข้างมาก Events ที่มีการเก็บแบบ Automatic นั้นได้แก่ Event ที่เรียกว่า Session_start ที่จะทำการบันทึกเมื่อมีการเริ่มต้น Engage กับหน้าเว็บไซต์ พูดแบบง่ายๆ การคือเริ่มต้นเข้าใช้งานเว็บไซต์ และจำนวน Sessions ที่แสดงอยู่ในรีพอร์ทก็จะมาจากจำนวน Session_start event ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้แหละครับ ส่วน Event ที่มีการเก็บแบบ Automatic อีกชนิดหนึ่งคือ User_engagement ซึ่ง Event นี้จะมีการบันทึกอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ยังเปิดหน้าเว็บค้างไว้แบบ Foreground หมายความว่า User_engagement events มีการส่งหลายๆ ครั้งใน 1 Session ซึ่งต่างจาก Session_start event ที่จะมีการส่งเพียงครั้งเดียวใน 1 Session สำหรับ Automatically colloected events อื่นๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Automatically-collected events
Enhanced measurement events
Events กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเก็บบันทึกให้โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องมีการเขียนโค้ดเพิ่มเติม เพียงแต่ว่าจะต้องมีการเปิดใช้งานโดยการเข้าเป็น Enable ฟีเจอร์นี้ผ่าน Google Analytics User Interface ในส่วน Admin ก่อนจึงจะใช้งานได้ โดยที่ Events ในกลุ่มนี้จะมีทั้งหมดอยู่ 6 ประเภท ได้แก่
- Pageviews
- Scrolls
- Outbound clicks
- Site Search
- Youtube video engagement
- File downloads
ซึ่ง Event ที่กล่าวมานี้ ถ้าเราใช้ Universal Analytics เราจะต้องเขียน Event Tracking นี้ขึ้นมาเองเกือบทั้งหมด ถือว่า GA4 ช่วยทำให้เรื่องการ Track Event พื้นฐานเหล่านี้กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นอย่างมาก ภาพด้านล่างจะเป็นส่วนของหน้าจอการเปิดใช้งาน Enhanced Measurement ในหน้า Admin ซึ่งแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ก็ควรเปิดใช้งานตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างบัญชี GA4 เลย แต่ถ้าใครยังไม่ได้เปิดใช้งานสามารถเข้าไป enable ได้ที่เมนู Admin>Data Stream แล้วก็เลือก Data Stream ที่เราจะเปิดใช้งาน Enhanced Measurement
Recommended Events
เป็นกลุ่ม Events ที่ถูกออกแบบมาเพื่อธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ และมีการกำหนดรูปแบบ Event Name และ Event Parameter เพื่อใช้งานเอาไว้แล้ว ซึ่งถ้าธุรกิจของเราสามารถจัดกลุ่มอยู่ในลิสต์ที่ทาง Google กำหนดไว้ ก็แนะนำอย่างยิ่งว่าควรจะต้องฟอลโลว Guideline ที่ Google ให้มาจะดีที่สุด เพราะจะทำให้ได้รีพอร์ทที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่ง Events กลุ่มนี้จะไม่มีการบันทึกโดยอัตโนมัติเหมือนกับ Events สองกลุ่มแรกที่กล่าวมาก่อนหน้า ดังนั้นจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยทีม Dev ในการช่วยทำ Event Tracking กลุ่มนี้ ส่วนประเภทธุรกิจที่ Google Analytics ได้เตรียม Recommended Events ไว้ให้มีดังนี้
- All properties
- Retail/Ecommerce properties
- Jobs, Education, Local Deals, Real Estate properties
- Travel (Hotel/Air) properties
- Games properties
ถ้าเราลองเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในลิงค์ด้านบน ก็จะพบว่า Google ได้กำหนด Event Name ของแต่ละธุรกิจไว้ครบถ้วนตามธุรกิจแต่ละประเภทอยู่แล้ว เช่น Retail/Ecommerce ก็จะมีอีเว้นท์ add_to_cart, add_to_wishlist, purchase หรือ refund เป็นต้น แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญและอยากจะย้ำตรงนี้ไว้ก่อนคือ Recommended Events กลุ่มที่ชื่อว่า All properties กลุ่มนี้จะเป็น Events ที่ไม่ได้เจาะจงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่เหมาะสำหรับใช้งานกับทุกธุรกิจเช่น login event, sign_up หรือ share เป็นต้น ซึ่งถ้าเราต้องการสร้าง event เพื่อแทรคข้อมูลเหล่านี้ เราไม่ควรที่จะไปสร้าง Event Name ใหม่ขึ้นมาเอง แนะนำว่าให้ใช้สิ่งที่ Google Analytics เตรียมไว้ให้ก่อน ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Google มีอีเว้นท์ชื่อ sign_up อยู่แล้ว เราก็ไม่ควรไปสร้าง custom event ชื่อ sign_up_complete ขึ้นมาใหม่อีก เพราะจะให้ดาต้าที่เก็บไม่อยู่ในโครงสร้างที่จะทำให้เราได้รีพอร์ทที่ Google เตรียมไว้ให้ ที่สำคัญคือ ข้อจำกัดของจำนวน Event สำหรับแต่ละ Property จะมีจำนวนลิมิตที่ 500 unique events เท่านั้น!
Custom Events
Custom Events เป็นอีเวนท์ที่เราสามารถกำหนดชื่อได้เองอย่างอิสระ (คล้ายกับ Event Tracking ที่เราทำกันอยู่กับเวอร์ชั่น Universal Analytics) อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่า ก่อนที่เราจะสร้าง Custom Events ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนว่า Events ที่เราจะสร้างไม่ซ้ำซ้อนกับ Automatically collected events, Enhanced measurement events และ Recommended events ถ้าซ้ำให้เราเลือกใช้ Events ที่ Google เตรียมไว้ให้ก่อน แต่ถ้าไม่มีก็สามารถสร้าง Custom Event ได้ ยกตัวอย่างที่ Google Analytics Thailand ทำก็อย่างเช่น อีเว้นท์การคลิ้กปุ่ม LINE add friend เป็นต้น ตัวอย่างตามภาพด้านล่างเป็น Event Report จากเว็บ GAT นี่เองจะเห็นว่ามีการทำ Custom Events ไว้ 3 ตัวด้วยกันคือ การคลิ้กปุ่ม LINE add friend การคล้ิกลิงค์เพื่ออ่านรายละเอียดคอร์สเรียน Google Analytics และการ Scroll down 90% ร่วมกับการใช้เวลาบนหน้าเว็บ 6o วินาที ที่ดีคือ Custom Events ทั้งหมดนี้ สามารถนำเป็นกำหนดเป็น Conversion เพื่อวัดผลต่อไปถึง Conversion และ Conversion Rate ได้ด้วย ซี่งก็จะคล้ายกับ Event Goal ใน Universal Analytics นั่นเอง
ข้อจำกัดของ GA4 Event Tracking มีอะไรบ้าง
- จำนวน Event Name มีได้มากที่สุด 500 Unique Event Name ต่อ 1 property (ไม่นับรวม Automatically collected events และ Enhanced Measurement events) ดังนั้นควรจะต้องใช้ Event ที่ Google เตรียมไว้ให้ทั้งหมดก่อนจะดีที่สุด และไม่ควรสร้าง Event Name ที่มีชื่อซ้ำกัน
- Custom parameters มีได้มากที่สุด 25 Parameters ต่อ 1 Events ซึ่งสามารถส่ง Custom Parameters เพิ่มเติมไปกับ Automatically collected events และ Enhanced Measurement events ได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้กับ Custom events เท่านั้น
- ค่าของ Parameters มีความยาวได้ไม่เกิน 100 ตัวอักษร ไม่ควรใส่เกินนี้
วิธีการสร้าง Events Tracking
- Google Tag Manager วิธีการนี้ถือว่าทำได้ง่ายมาก และเป็นวิธีที่แนะนำ สำหรับคนที่คุ้นเคยกับการใช้ Tag Manager อยู่แล้ว หลักการสร้าง Event Tags และ Triggers ก็เหมือนเดิมไม่ต่างจากตอนที่เราสร้างแบบ Universal ข้อดีคือ ถ้าเรามี Event Tracking ที่สร้างใน Tag Manager อยู่แล้ว เราก็เพียงแต่สร้าง Event Tags ของ GA4 เพิ่มขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังสามารถใช้ Trigger ตัวเดิมที่เคยสร้างไว้หรับ Universal Event Tracking ได้ด้วย ภาพด้านล่างจะเป็นหน้าจอให้เราเลือกสร้าง Event ของ GA4 เวลาที่เรากดสร้าง Tags
- gtag.js กรณีที่เรา Tracking โดยการวางสคริปต์ gtag.js ไว้ที่หน้าเว็บ การสร้าง Events ก็จะต้องเขียนโค้ดไว้ที่หน้าเว็บเช่นเดียวกัน ซึ่ง Event code ของ GA4 ก็แทบจะมีฟอร์แมทการเขียนไม่ต่างจาก Universal เลย จะแตกต่างกันก็เพียงแค่ชื่อ Parameters จากเดิมที่ใช้เป็น Category, Action, Label และ Value ก็ไม่ต้องใช้แล้ว แต่เปลี่ยนเป็น Custom Parameters ที่ผมอธิบายไปแล้วในช่วงต้น โดยที่รูปแบบ Tags จะเป็นดังนี้
gtag(‘event’, <event_name>, {
<parameter_1>: <parameter_1_value>,
<parameter_2>: <parameter_2_value>,
<parameter_3>: <parameter_3_value>,
…
});
น่าจะพอเห็นภาพการใช้งาน Event Tracking ใน GA4 กันชัดเจนมากขึ้นแล้วนะครับ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากสำหรับการ Tracking ด้วย GA4 และเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เอาไว้บทความหน้าผมจะเขียนเรื่อง Event เพิ่มเติมแบบลงรายละเอียด เพราะยังมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Event อยู่อีกหลายเรื่อง รวมไปถึงฟีเจอร์อื่นๆ ของ GA4 ที่ยังคงต้องเรียนรู้กันต่อไป ใครสนใจติดตาม และไม่อยากพลาดบทความ GA4 ที่กำลังทยอยเขียนออกมา สามารถกด Add Friend ด้านล่างนี้ได้เลยนะครับ บทความใหม่จะบรอดแคสท์ไปถึงมือถือทุกบทความเลยครับ
Happy Analytics:)
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด