Bounce Rate ใน GA4 แตกต่างจากใน GA3 อย่างไร

GA4 bounce rate คืออะไร แตกต่างจาก Bounce Rate ใน GA3 อย่างไร

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Google ประกาศเรื่องการอัพเดท GA4 อีกครั้ง นำมาซึ่งความตื่นเต้นเล็กน้อยสำหรับคนที่ใช้งาน GA ก็คือเรื่องการนำ Bounce Rate กลับมาใน GA4 หลังจากที่มีการตัดออกไปก่อนหน้า จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ สำหรับคนที่ยังต้องรีพอร์ทตัวเลข Bounce Rate ก็คงดีใจกันไม่มากก็น้อย

ส่วนตัวผมแล้ว ไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษกับ Bounce Rate ใน GA4 แต่เป็นเพราะอะไรเดี๋ยวจะค่อยๆ อธิบายในบทความนี้ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในประกาศครั้งนี้ซึ่งหลายคนไม่ได้พูดถึงก็การกลับมาของ Conversion Rate ที่ผมรอมาอย่างยาวนานว่าเมื่อไรจะมีใน GA4 เสียที ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเพิ่งจะปล่อยออกมาทั้งที่เป็นตัวเลขสำคัญที่ไม่ได้มีการคำนวนซับซ้อน และว่ากันตามตรง Conversion Rate เป็นตัวเลขที่เรามักจะนำมาใช้ Action ในการตัดสินใจได้ดีกว่า Bounce Rate

Bounce Rate ใน GA4 ต่างจาก GA3 อย่างไร

ในรายละเอียดปลีกย่อยนั้น Bounce Rate ทั้ง 2 เวอร์ชั่นนั้นมีวิธีนับที่แตกต่างกัน ดังนั้นอย่างแรกที่เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนก็คือ เราไม่สามารถเอาตัวเลข Bounce Rate ใน GA4 มาเทียบกับ GA3 ได้ตรงๆ เพราะแน่นอนว่าตัวเลขไม่มีทางเท่ากัน

ใน GA3 นั้น Bounce Rate คือตัวสัดส่วนของ Bounced Sessions / Total Sessions ซึ่ง Session ที่นับเป็น Bounced Session นั้นคือ Session ที่มีการเข้าชมเว็บไซต์เพียงหนึ่งหน้า แล้วไม่ได้คล้ิกลิงค์ไปหน้าไหนต่อ หรือไม่ได้มี Action อะไรที่ทำให้มีการส่งค่า Event ออกไป ซึ่งไม่มีเกี่ยวข้องใดๆ กับเวลาที่ใช้อยู่ในหน้านั้นเหมือนที่มีหลายคนเข้าใจผิดว่า Bounce Session คือ Session ที่เข้ามาอยู่เพียง x วินาที

ดังนั้นใน GA3 ค่า Bounce Rate จึงเป็นค่าที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่า Sessions ที่ Bounce เป็น Session ที่ไม่ดี ทั้งที่ในความเป็นจริงคือ จะมี Sessions จำนวนหนึ่งที่อ่านเนื้อหาในหน้านั้นจนจบ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 10 นาที เพียงแต่การเข้าชมครั้งนั้นไม่ได้ไปอ่านหน้าอื่นๆ ต่อจึงทำ Session นั้นถูกประเมินเป็น Bounced Sessions ซึ่งดูจะไม่เหมาะสมเท่าไรนัก ถูกต้องไหมครับ นั่นเป็นเหตุผลที่ในช่วงแรก Bounce Rate จึงหายไปจาก GA4

อย่างไรก็ตามการกลับมาของ Bounce Rate ใน GA4 นั้น แม้จะใช้ชื่อเดิมแต่วิธีการคำนวนมีความแตกต่างจากใน GA3 กล่าวคือ ใน GA4 จะคำนวน Bounce Rate จากสัดส่วนของ

Sessions ที่ไม่นับเป็น Engaged Sessions / Total Sessions

ซึ่งค่า Bounce Rate ใน GA4 ตามสูตรคำนวนนี้ ก็จะเป็นจะเป็นค่าตรงกันข้ามกับ Engagement Rate หมายความว่าถ้าเว็บไซต์มีค่า Engagement Rate ที่ 70% ก็จะมีค่า Bounce Rate ที่ 30%

ทีนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจต่อว่า Engaged Session มีวิธีการนับอย่างไรอีก ซึ่ง Session ที่มีการ Engage และนับเป็น Engaged Sessions นั้นจะมีเงื่อนไขพื้นฐาน 3 ประการ ถ้าหากเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไชหนึ่งก็ถือว่าเป็น Engaged Session ทันที ซึ่งได้แก่

  • Session นั้นใช้เวลาอยู่บนหน้าเว็บไซต์นานเกิน 10 วินาที (ค่าดีฟอลต์)
  • Session นั้นมีการเข้าเชมเว็บไซต์มากกว่า 1 หน้า
  • Session นั้นมีกาาสร้างให้เกิด Conversion Event  แม้จะอยู่เพียงหน้าเดียวก็ตาม

ดังนั้นแล้ว Session ไหนที่เข้ามา Landing แล้วอยู่ไม่เกิน 10 วินาที (และไม่ได้ทำให้เกิด Conversion) ถือว่าเป็น Session ที่ไม่ Engage ซึ่งว่าไปแล้วก็ฟังดู Make Sense พอสมควรเพราะเป็น Session ที่เข้ามาแล้วอยู่เพียงแป๊บเดียวจริงๆ

แต่พอมองกลับด้านไปที่ Engaged Sessions คำถามที่ชวนคิดก็คือ ถ้าอยู่ในหน้าเว็บ 15 วินาทีแล้วก็ออกไป (เกิน 10 วินาทีตามเงื่อนไขแรก) จะนับเป็น Engaged Session จริงๆ หรือ? นั่นยังอ่านเนื้อหาไม่จบเลยนะ!!!

กลับกลายเป็นว่า Engaged Session ดูจะเป็นวิธีการนับที่ไม่เหมาะเท่าไรถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามค่าดีฟอลต์ ซึ่งตรงนี้ Google เพิ่งแอบปล่อยฟีเจอร์ให้เราไปเปลี่ยนค่า ตัวเลข 10 วินาที เป็นตัวเลขอื่นที่เราต้องการได้แล้วในส่วนของฟีเจอร์ Adjust timer for Engaged Sessions ในหน้า Admin ตามภาพด้านล่างนี้

วิธีตั้งค่า timer for engaged sessions

แล้วตัวเลขเท่าไรถึงจะดี ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความยาวเนื้อหา และค่าเฉลี่ยในการอ่านเนื้อหาแต่ละหน้าของเรา ซึ่งแต่ละเว็บคงต้องหาตัวเลขที่เหมาะสมที่สุดมาใช้งาน ถ้าคำตอบคือ 2 นาที และเรานำตัวเลขนี้ไปเซ็ตไว้ในระบบ พอมองกับมาที่ Bounce Rate แล้ว Session ที่ใช้เวลาบนเว็บไซต์ 1 นาที 50 วินาที ก็จะนับเป็น Bounced Sessions ซึ่งต้องยอมรับกันว่าเป็นตัวเลขที่อาจจะคาบเกี่ยวระหว่างความ “มีคุณภาพ” และ “ไม่มีคุณภาพ” ดังนั้นตัวเลข Bounce Rate ใน GA4 ก็อาจจะไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง 100%

ดังนั้นส่วนตัวแล้ว ผมจะยอมเลือกที่จะไม่มอง Bounce Rate ใน GA4 แต่มอง Engagement Rate แทน โดยกำหนดค่า Adjust timer for Engaged Sessions ให้เหมาะสมแทน ส่วนใครจะยังใช้ หรือจำเป็นต้องใช้ Bounce Rate ก็ขอให้ทำความเข้าใจสิ่งที่อธิบายไว้ในบทความนี้นะครับ จะได้สามารถสื่อสารและอธิบายคนอื่นได้ และสามารถใช้ตัวเลขในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องจริงๆ

Happy Analytics:)
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด

Leave a Reply