28 คำศัพท์ Google Analytics รู้แล้วอ่านรีพอร์ทเป็นแน่นอน

google-analytics-glossary

คำศัพท์พื้นฐานหลายๆ คำที่เรามักจะต้องเจออยู่เสมอในการดูรีพอร์ทจาก Google Analytics นั้น เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกันดี แต่ก็ยังมีคำศัพท์อีกหลายคำรวมถึงศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการอัพเดทฟีเจอร์ใหม่ของ Google Analytics อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายๆ คนที่ไม่ได้ติดตามหรือใช้งานตลอดเวลาอาจจะยังไม่รู้จักกัน บทความนี้รวบรวมคำศัพท์ที่จำเป็นและเห็นว่ามีความสำคัญในการใช้งาน Google Analytics ทั้งหมดเพื่อมาทบทวนความเข้าใจกันอีก เพราะยังมีหลายคนที่เหมือนจะเข้าใจแต่เอาเข้าจริงแล้วก็ยังเข้าใจไม่ถูกต้องทั้งหมด มาดูกันครับว่าเข้าใจกันถูกต้องจริงหรือเปล่า

Dimension

คือส่วนของคอลัมน์ซ้ายสุดของทุกรีพอร์ทนั่นแหละครับ เป็นการจัดแบ่ง หมวดหมู่ ประเภท และกลุ่มข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายกันบางอย่าง ซึ่งช่วยให้เราสามารถเห็นภาพและวิเคราะห์ข้อมูลได้ในเบื้องต้นว่ากลุ่มข้อมูลใดมีค่าที่ดีหรือแย่กว่ากัน ยกตัวอย่างเช่น Age, Gender, Country, Channel, Device, Browser, Landing page เป็นต้น

Metrics

คือชุดของกลุ่มข้อมูลที่วัดผลเป็นตัวเลขได้ เช่น จำนวน Session, จำนวน new users, จำนวน Pageview, อัตรา Bounce rate เป็นต้น ซึ่งข้อมูล Metrics นี้จะเป็นข้อมูลที่แสดงคู่กับ Dimension ในทุกๆ รีพอร์ท การอ่านค่าต่างๆ ของ Dimension จึงทำได้ง่ายและสะดวก เช่น กลุ่มเพศหญิง (Dimension) เข้ามาในเว็บไซต์ในช่วง 1 เดือนเป็นจำนวนรวมกัน 1,200 ครั้ง (session) และมีการดูหน้าต่างๆ บนเว็บไซต์รวมทั้งหมด 4,500 หน้า (pageviews)

Session

Session ถือเป็น Metric ขึ้นพื้นฐานที่สุดค่าหนึ่งในระบบรีพอร์ทของ Google Analytics และเป็นค่าที่ใช้เป็นพื้นฐานในการนำไปคำนวน Metric อื่นๆ อีกหลายตัว Session โดยความหมายที่ถูกต้องคือ ช่วงเวลาช่วงหนึ่งที่ผู้ใช้ 1 คน เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ บนเว็บไซต์ หรือ mobile app ของ เช่นการเข้ามาดูหน้าต่างในเว็บไซต์ซึ่งจะทำให้เกิด pageviews ขึ้น, การเข้ามาสร้าง event บางอย่างที่ถูกกำหนดไว้ และการเข้ามาซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ทำให้เกิด Transaction ผ่านระบบ ecommerce เป็นต้น แต่ถ้าให้เข้าใจง่ายที่สุด Session ก็คือ Visit หรือการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ 1 ครั้งนั่นเอง

Pages/Session

ความหมายตรงตัวเลยคือเป็นค่าเฉลี่ยของจำนวนหน้าที่เข้าชมต่อหนึ่งเซสชั่น ซึ่งใช้วิธีการคำนวนโดยนำจำนวน Pageviews ทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน Session ทั้งหมด สำหรับเว็บไซต์ในกลุ่ม Content แล้ว ค่า Page/Session ถือว่ามีความสำคัญมากและบ่งบอกถึงคุณภาพของเนื้อหาบนเว็บไซต์และคุณภาพของ Session ที่เข้ามา

Average Session Duration

คือระยะเวลาที่อยู่บนเว็บไซต์เฉลี่ยของหนึ่งเซสชั่น วิธีคำนวนค่านี้ระบบจะนำเวลาที่อยู่บนเว็บไซต์ทั้งหมดของทุก Session (Session Duration) มารวมกันแล้วนำมาหารด้วยจำนวน Session ทั้งหมด ค่านี้เป็นอีกค่าที่ค่อนข้างจะมีความสำคัญกับกลุ่มเว็บไซต์ประเภท Content เหมือนกับ Page/Session เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีคือ หาก Sessionใดเป็น Bounce Session หมายความว่า Google Analytics จะไม่สามารถบันทึกเวลาของ Session นั้นได้ แต่ session นั้นจะต้องถูกนำไปคำนวนเพื่อหาค่า Avg. Session Duration ด้วย ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วค่านี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่พอสมควร

Bounce  Rate

อัตราการตีกลับ คือเปอร์เซ็นต์ของ Session ที่มีการเข้าชมหน้าเดียว เทียบกับจำนวน Session ทั้งหมด ค่านี้โดยพื้นฐานตามความเข้าใจแล้วเป็นค่าที่ยิ่งสูงยิ่งไม่ดี และเป็นค่าที่ทุกเว็บไซต์พยายามจะแก้ไขให้ลดลงให้ได้มากที่สุด แต่เรื่องหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับค่านี้คือ Bounce Rate เกิดจากการเข้าเว็บไซต์แล้วออก “ทันที” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามความหมายที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Session ที่เกิด Bounce นั้นคือ Session ที่เข้าชมเพียงหน้าเดียว ดังนั้นการนั่งอ่านหน้าใดหน้าหนึ่งบนเว็บไซต์สัก 20 นาทีแล้วออก ก็ถือว่า Session นั้นเป็น Bounce Session เช่นกัน

%New Session

ร้อยละของการเข้าชมครั้งแรกเทียบกับการเข้าชมทั้งหมด ตัวเลขนี้สัมพันธ์โดยตรงกับ New user หมายความว่า หากช่วงเวลาหนึ่งมี Session ทั้งหมดเกิดขึ้น 100 Session ถ้ามี % New Session เท่ากับ 30% หมายความว่าในช่วงเวลานั้นจะมีคนที่เคยเข้าเว็บไซต์เป็นครั้งแรกจำนวน 30 Users

Goals

คือเป้าหมายที่ใช้เป็นตัววัดว่าผู้เข้าชมได้ทำกิจกรรมบางอย่างที่เรากำหนดขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็น การซื้อสินค้า การสมัครสมาชิก การลงทะเบียน การดาวน์โหลดเอกสาร หรือแม้แต่การดูวิดีโอ ก็ได้เช่นกัน การตั้ง Goals นั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของการทำ Analytics เพราะหากไม่มี Goals แล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าสิ่งที่ธุรกิจต้องการให้เกิดขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นจริงและบรรลุตามเป้าหมายที่ธุรกิจได้ตั้งไว้หรือไม่

Conversion

คือจำนวนครั้งที่เป้าหมาย (Goals) ได้ถูกกระทำสำเร็จในเว็บไซต์ เช่นได้เกิดการซื้อสินค้าแล้วกี่ครั้ง (Conversion) ได้เกิดการลงทะเบียนแล้วกี่ครั้ง ได้เกิดการดาวน์โหลดเอกสารไปแล้วกี่ครั้ง เป็นต้น

Conversion Rate

อัตราการแปลงจากกลุ่มที่เข้าเยี่ยมชมมาเป็นลูกค้า ซึ่งวิธีการคำนวนคือการนำจำนวน Conversion ทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน Session ทั้งหมดแล้วคูณด้วย 100 เพื่อให้ค่าออกมาเป็น % ตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาหนึ่งมีคนเข้าเว็บไซต์เป็นจำนวน 10,000 Session และสร้าง Conversion รวมกันทั้งหมด 150 Conversion ดังนั้น Conversion Rate จะเท่ากับ 150/10,000 x 100 ซึ่งเท่ากับ 1.5% ค่าๆ นี้ถือเป็นค่าสำคัญมากค่าหนึ่งในการวัดผลความสำเร็จของเว็บไซต์ในแง่ของการเปลี่ยนจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ให้เป็นลูกค้า

Source

เป็นข้อมูลชนิด Dimension ตัวหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เป็นค่าที่ใช้สำหรับวิเคราะห์แหล่งที่มาของ Session ว่าคนที่เข้าเว็บไซต์นั้น เห็น รู้จักและเข้ามาผ่านช่องทางใดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนค้าหาสินค้าผ่าน Google Search แล้วพบ URL ของเราไปแสดงอยู่และคล้ิกลิงค์นั้นเข้ามา Session ที่เข้ามานั้นจะถูกระบุแหล่งที่มา (Source) เป็น Google

Medium

เป็นข้อมูลชนิด Dimension ตัวหนึ่งที่มักจะแสดงและถูกใช้งานร่วมกับ Source เพื่อใช้ระบุและวิเคราะห์แหล่งที่มาของ Session ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้ว Medium มักจะใช้บอกรูปแบบวิธีการสื่อสารผ่าน Source อีกทีหนึ่ง เช่น Google/CPC จะหมายถึงแหล่งที่มาที่เป็นโฆษณาบน Google Search  หรือ Google/Organic จะหมายถึงแหล่งที่มาเกิดจากการค้นหาและคลิ้กลิงค์ที่ไม่ใช่โฆษณาเข้ามานั่นเอง

Users

คือผู้ใช้ที่มีอย่างน้อยหนึ่งเซสชั่น (หนึ่งการเข้าชม)ในช่วงวันเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นได้ทั้ง new user และ returning user ดังนั้นหมายความว่า ในช่วงเวลาหนึ่ง user 1 คนสามารถมี sesseion ได้มากกว่าหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่หลายคนเข้าใจผิดพลาดคือการเข้าใจว่า 1 Users คือ คนหนึ่งคน แต่ในความเป็นจริงแล้วที่ถูกต้องคือ 1 User คือ 1 device หรือ 1 อุปกรณ์ (โดยค่า default)

Channels

เป็น Dimension ที่ใช้ Grouping ชุดข้อมูลที่มาจากแหล่งที่มาเดียวกัน (source/medium) ไว้เพื่อให้การวิเคราะห์ช่องทางการทำ Marketing ทำได้ง่ายและเห็นภาพชัดมากขึ้น ตัวอย่างที่ Channels ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วก็คือ Direct, Organic, Referral เป็นต้น

Direct

Direct Traffic เป็นกลุ่มของ Session ที่เกิดจากการเข้าเว็บไซต์ผ่านการพิมพ์ URL จาก Browser เข้ามาตรงๆ หรือคลิ้กจาก Bookmark ที่สร้างไว้ รวมไปถึงกรณีที่เกิดจากการคลิ้กลิงค์ที่ไม่ได้ทำ UTM tagging ในอีเมล์ Application เข้ามา เรื่อง Direct Traffic นี้ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย ไม่มีอะไร แต่ลึกๆ แล้วยังมีรายละเอียดที่มีความซับซ้อนในการจัด Grouping อยู่พอสมควร แต่เบื้องต้นสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้ตามความหมายนี้ได้

Organic

Organic Traffic เป็นกลุ่มของ Session ที่เกิดจากการเข้าเว็บไซต์ผ่านการค้นหาบน Google Search และคลิ้กลิงค์ที่ไม่ใช่โฆษณาเข้ามา จำนวน Session ของแชนแนลนี้ถือเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญและเป็น KPI ที่ใช้สำหรับวัดผลการทำ SEO

Referral

Referral Traffic เป็นกลุ่มของ Session ที่เข้าเว็บไซต์ผ่านมาจากเว็บไซต์อื่นๆ (Third Party Website) ใน Referrals Report จะแสดงให้เห็นว่าแต่ละเว็บไซต์ที่พาคนเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรานั้น มีเว็บไซต์อะไรบ้าง แต่ละเว็บส่ง Traffic มาในปริมาณเท่าไร

Landing Page

Landing Page เป็น Dimension ที่หมายความถึงหน้าแรกที่ถูกแสดงในแต่ Session ที่เกิดขึ้น ซึ่ง Landing Page ที่มีการเข้าชมมากๆ นั้น แสดงให้เห็นถึงความสนใจของผู้เข้ามาในเว็บ และสามารถที่จะนำไปใช้เนื้อหาหน้านั้นผ่านทางช่องทางอื่นๆ ได้

Entrance

มีความหมายเหมือนกัน Landing Page แต่ความแตกต่างคือ Landing Page เป็น Dimension ดังนั้นค่าต่างๆ ของ Landing Page จะแสดงเป็นชื่อ URI ของหน้าต่างๆ บนเว็บไซต์ ส่วน Entrance นั้นจะเป็น Metric ที่แสดงจำนวนครั้งที่หน้าแต่ละหน้านั้นถูกแสดงเป็นหน้าแรก Metric นี้สามารถดูได้ใน All pages รีพอร์ท

Pageviews

หมายถึงจำนวนหน้าเว็บไซต์ที่มีการถูกเรียกดูทั้งหมด ซึ่งหน้าที่ดูซ้ำจะถูกนับเพิ่มใน pageviews ด้วย ตัวอย่างเช่น หากเราอยู่ที่หน้า Home แล้วทำการ Refresh หน้านั้น 3 ครั้ง ในรีพอร์ท Google Analytics จะบันทึกค่า Pageviews เป็น 3 หน้า

Event

เป็น Custom Interaction ที่เราใช้ Track เหตุการณ์หรือพฤติกรรมต่างๆ ของ User ที่ใช้งานหน้าเว็บไซต์เพื่อที่จะศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ เช่น การคล้ิกปุ่ม add to cart การกด Play วิดีโอ การดาวน์โหลดเอกสาร หรือการคล้ิก Outbound Link ออกไปยังเว็บไซต์อื่นๆ การเก็บค่า Event นี้จะเป็นต้องมีการ Implementation พิเศษเพิ่มเติมบนเว็บไซต์

Hit

เป็นคำที่หมายความถึงการส่งข้อมูลจากเว็บไซต์ออกไปที่ Google Server ก่อนที่จะนำไปทำการประมวลผลออกรีพอร์ท ชนิดของ Hit ที่ทุกคนคุ้นเคยกันคือ Pageview ซึ่งทุกครั้งที่เกิด Pageview ใหม่ขึ้นก็จะมีการส่งข้อมูลไปที่ Google อย่างน้อยครั้งหนึ่ง

Not Provided

Not Provided เป็นคำที่ใช้แสดงเพื่อบอกว่าจะไม่มีการเปิดเผย ‘keyword’ ที่ใช้ค้นหาผ่าน Google Search ก่อนที่จะคลิ้กเข้ามาที่เว็บไซต์ Google ใช้ Not Provided เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในการที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตามนโยบายเรื่อง Privacy Policy ซึ่งเคสที่จะเข้าข่ายที่จะปกปิดคีย์เวิร์ดนี้ได้แก่ในกรณีที่ User ล็อกอิน Google Account อยู่ และกรณีที่เป็นการใช้งานผ่าน Secure Connection เช่น https://www.google.com เป็นต้น อ่านเพิ่มเติม not provided, not set และ none คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

Calculated Metrics

เป็นฟีเจอร์หนึ่งใน Google Analtics ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถสร้าง Metric ใหม่ขึ้นมาเองได้จากการเลือก Metrics เดิมที่มีอยู่มาใส่สูตรคำนวนใหม่ ยกตัวอย่างเช่นการนำจำนวน Goal Completions มาหารด้วยจำนวน Users ทำให้ได้ Metric ใหม่เป็น Avg. Goal Completion by Users การใช้งาน Calculated Metrics นั้น ผู้ที่จะใช้งานควรมีความเข้าใจ Metrics พื้นฐานต่างๆ มาดีในระดับหนึ่งก่อน

Not Set

Not Set เป็นคำที่ Analytics ใช้ระบุในรีพอร์ทในกรณีที่ Analytics ไม่สามารถเก็บจากข้อมูลแหล่งที่มาได้ โดยมากแล้วมักจะเกิดจากปัญหาทางเทคนิคอล ยกตัวอย่างเช่น การทำ UTM tagging ที่ไม่สมบูรณ์ หรือการไม่ได้ลิงค์ Account ระหว่าง Adwords และ Analytics ซึ่งจะทำไม่สามารถเก็บข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดได้ Google Analytics จึงแสดงค่า Not Set แทน

Account

เป็นโครงสร้างระดับบนสุดของ Google Analytics ภายใต้ Account จะประกอบได้ Property (เว็บไซต์หรือโมบายล์แอปพลิเคชั่น)  โดยปกติทั่วไปผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะมี Account เดียว แต่หากต้องดูแลเว็บไซต์หลายๆ เว็บที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือไม่ใช่เจ้าของเดียวกันก็ควรจะต้องสร้างเลือกวิธีการสร้าง Account ใหม่ขึ้นมา อ่านเพิ่มเติม โครงสร้างของ google analytics account

Property

เป็นโครงสร้างระดับรองลงมาจาก Account ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้ Account อีกที Property นั้นเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างเพราะเป็นส่วนที่จะระบุรหัสเฉพาะ (Tracking ID) ของแต่ละเว็บไซต์หรือโมบายล์แอปพลิเคชั่นเพื่อที่จะนำไปใช้เก็บข้อมูลเพื่อนำมาออกรีพอร์ทผ่าน View

View

เป็นโครงสร้างระดับสุดท้ายของ Google Analytics ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้แสดงข้อมูลและรีพอร์ทสำหรับผู้ใช้งาน สิ่งหนึ่งที่ควรเข้าใจคือ View แต่ละ View จะมี Goals เป็นของตัวเอง ดังนั้นหากต้องการให้ Goal ที่สร้างขึ้นแสดงในทุก View จะต้องทำการสร้าง Goal นั้นให้กับทุก View ที่ต้องการด้วย

ใครที่อ่านบทความนี้แล้วยังไม่เคยใช้งาน Google Analytics สามารถอ่านวิธีการสมัครและติดตั้ง Google Analytics ได้ที่ blog นี้ครับ

ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ Line@ : @pornthep
เพิ่มเพื่อน
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics  อ่านรายละเอียด

One thought on “28 คำศัพท์ Google Analytics รู้แล้วอ่านรีพอร์ทเป็นแน่นอน

Leave a Reply