3 คำถามที่ต้องตอบให้ได้ ก่อนจะบอกว่าเข้าใจ Google Analytics

google-analytics-experts

หลายๆ ครั้งที่ผมลองถามคำถามกับคนที่ใช้งาน Google Analytics มาแล้วระยะหนึ่ง พบว่าเกือบทั้งหมดตอบคำถามพื้นฐานที่จำเป็นต้องรู้ไม่ได้ ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่าการอ่านรีพอร์ทนั้นเพียงเป็นการอ่านรีพอร์ทระดับเบื้องต้น ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์หาคำตอบที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานได้ ซึ่งปัญหานี้จะกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาต่อไปในอีกขั้นหนึ่ง ที่สำคัญคือถ้าคิดว่าเข้าใจดีแล้วอาจจะทำให้ความกระหายในการศึกษาต่อลดลงไปอย่างมาก สิ่งที่ผมพบอีกอย่างคือ มีบางท่านที่สอบถามเข้ามาเรื่องคอร์สการสอน Google Analytics ระดับ Advance โดยบอกว่าเข้าใจระดับพื้นฐานแล้ว เคยใช้งานมาปีกว่า อยากจะเรียนระดับ Advance เลย ซึ่งเมื่อผมพบเหตุการณ์ลักษณะนี้ ผมมักจะถามคำถามเบสิค 3 ข้อเพื่อวัดระดับความเข้าใจก่อน ว่าเข้าใจจริงหรือไม่ ปรากฏว่าที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถตอบคำถามแบบถูกต้องชัดเจนได้เลย ผมก็เลยมักจะแนะนำให้เรียนระดับพื้นฐานก่อน ดังนั้นหากใครที่คิดว่าเข้าใจพื้นฐาน Google Analytics ดีแล้วในระดับหนึ่งแล้ว ลองมาตอบคำถามพื้นฐาน  3 คำถามนี้กันก่อน ถ้าตอบได้หมดแสดงว่าเข้าใจพื้นฐานดีพอสมควร แต่หากตอบไม่ถูกเลยแสดงว่าคุณยังต้องศึกษาพื้นฐานเพิ่มเติมให้มากขึ้นหากต้องการศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง

คำถามที่ 1 : หนึ่ง Session มีเวลา (duration) เท่าไร?
คำถามที่ 2 : ในหนึ่ง Property ควรมี view อย่างน้อยที่สุดกี่ view?
คำถามที่ 3 : Real-time report มีประโยชน์อย่างไร นอกจากข้อมูลเรียลไทม์ที่อัพเดททุกวินาที?

อ่านแล้วพอจะตอบกันได้ไหมครับ สำหรับคนที่ยังตอบไม่ได้ มาดูคำตอบด้านล่างกัน

หนึ่ง Session มีเวลา (Duration) เท่าไร?

มีเวลาเท่าไรก็ได้ครับ แต่จะ Session จะหมดอายุเมื่อไม่มีการกระทำใดๆ บนหน้าเว็บเป็นเวลา 30 นาที (การ scroll เมาส์ไม่นับนะครับ) เมื่อ Session หมดอายุลง เวลาของ session ก็จะหมดลงเช่นกัน ตามทฤษฎีแล้ว เวลาสูงสุดจะไม่เกิน 24 ชม อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ UIP, Session (Visit), User (Visitor) แตกต่างกันอย่างไร

ในหนึ่ง Property ควรมี View อย่างน้อยที่สุดกี่ vVew?

หนึ่ง Property ควรจะต้องมี View อย่างน้อย 3 Views ครับ อ่านรายละเอียดที่ลิงค์นี้ครับ โครงสร้างของ Google Analytics Account

Real-time report มีประโยชน์อย่างไร นอกจากข้อมูลเรียลไทม์ที่อัพเดททุกวินาที?

Real-time report นอกจากใช้ดูข้อมูลเรียลไทม์แล้ว ประโยชน์ที่ดีมากแต่ไม่ค่อยมีคนใช้งานเลยคือใช้ตรวจสอบดูว่า Code Javascript ของ Google Analytics ที่เพิ่งจะติดตั้งไปนั้นทำงานได้ปกติหรือไม่ ซึ่งยังสามารถนำไป apply ใช้กับการตรวจสอบการทำงานของ UTM tagging หรือ Event tracking ได้ด้วย

การจะเอาจริงเอาจังในเล่นดนตรี แค่ร้องเล่นได้ดีนั้นยังไม่เพียงพอ การเรียนรู้เรื่องตัวโน้ตและทฤษฎีทางดนตรีถือเป็นส่ิงที่จำเป็นมาก เช่นเดียวกัน การศึกษาเรื่อง Google Analytics ควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจพื้นฐานอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่เพียงเปิดดูเป็น อ่านค่าจากรีพอร์ทได้เบื้องต้น เพราะถ้ามีพื้นฐานที่ดีแล้ว จะทำให้การอ่านรีพอร์ทและศึกษาต่อในระดับแอดวานซ์ทำได้ง่ายขึ้น รู้จักที่มาที่ไปของข้อมูล วิเคราะห์หาเหตุผลของตัวเลขที่อาจจะคลาดเคลื่อนกันในแต่ละรีพอร์ทได้ และที่สำคัญคือ ตอบคำถามได้ชัดเจน ไม่อึกอัก เมื่อถูกลูกค้าหรือหัวหน้างานตรวจสอบตั้งคำถามกับตัวเลขในรีพอร์ท เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คุณจะดูหมดความน่าเชื่อถือไปในทันที

Happy Analytics !

Leave a Reply