Transmedia storytelling เรื่องเล่าจากผู้กำกับ “พี่มากพระโขนง”

จริงๆ ตั้งใจจะเขียนบทความนี้ตั้งแต่วันที่ได้ฟังคุณบรรจง ปิสัญธนะกูล หรือคุณโต้ง GDH (ชื่อเดิม GTH) เล่าเรื่องแชร์มุมมองในงาน CEO Forum ของ Central Group ในหัวข้อ Transmedia เมื่อเดือนก่อน เพราะรู้สึกว่าน่าเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจเรื่องนี้ ซึ่งกว่าจะได้เขียนก็ล่วงเลยไปเกือบเดือน 🙁

เอาจริงๆ ผมเองก็ไม่ได้คุ้นเคยกับคำว่า Transmedia เลยจนกระทั่งในงานวันนั้น หลังจากงานก็พยายามไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมีอยู่เว็บหนึ่งที่อธิบายเรื่องนี้ได้ค่อนข้างสั้นกระชับเข้าใจได้ดี ถ้าหากสนใจสามารถตามไปอ่านได้ที่ url นี้ครับ – http://athinklab.com/transmedia-storytelling/what-is-transmedia-storytelling/

Transmedia มักถูกเรียกย่อมาจากคำว่า Transmedia Storytelling ซึ่งแปลตรงตัวว่า “การเล่าเรื่องข้ามสื่อ” ไปยังสื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สื่อหลักหรือสื่อเริ่มต้นที่ใช้ทำการสื่อสาร และ Transmedia ที่ดีควรเกิดจาก “กลุ่มที่รับสื่อ” ไปทำการสื่อสารต่อผ่านสื่อที่ตนเองมีและถนัด เช่น ทำเป็นวีดีโอคลิป , การ์ตูน, บทความ, รูปภาพ, เพลง และแชร์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึง Social media ของตนเอง โดยมีแกนหลักของเนื้อหาเป็นเรื่องเดียวกับสื่อต้นแบบ แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนต้นฉบับ สามารถนำมาล้อเลียน หรือนำเรื่องมาบิดให้เป็นเรื่องตลกไปเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นความน่าสนใจและความมีเสน่ห์ของ Transmedia ที่จะใช้ในการสร้าง Awareness ได้อย่างมีพลัง

ประโยคเด็ดที่คุณโต้งได้พูดถึง Storytelling ไว้ก็คือ “เรื่องๆ เดียว มีวิธีเล่าเรื่องเป็นล้าน” ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการเล่าพล็อตหนัง พี่มาก ว่า พล็อตเรื่องเริ่มจากคุณเต๋อเสนอว่าเอาตำนานมาทำเป็นสมัยใหม่ แบบเอาเรื่องแม่นาคมาทำให้เป็นปัจจุบัน เพราะว่าเรื่องแม่นาคพระโขนงนั้น ไม่ว่าจะรีเมคกี่ครั้งก็ไม่แตกต่างกันคือ ในส่วนของพล็อต เมื่อพี่มากรู้ว่านาคเป็นผีก็หมดรัก ถอยห่างและไม่อยากใช้ชีวิตร่วมอยู่ด้วย ซึ่งการจะนำเรื่องเก่ามาเล่าให้น่าสนใจนั้นจะต้องเปลี่ยนวิธีการเล่าแบบเดิมๆ ตรงนี้เองคุณโต้งเลยคิดว่าน่าจะเล่าเรื่อง “ผ่านใจของพี่มาร์ค” (พี่มากถูกเรียกใหม่เป็นพี่มาร์คเพื่อให้หนังมีความร่วมสมัย)ในอีกมุมมองหนึ่ง คือ ถึงจะรู้ว่าเป็นผีแต่ก็จะรักและต้องการใช้ชีวิตร่วมกันต่อไป และนั่นก็เลยเป็นที่มาของชื่อหนัง “พี่มากพระโขนง”

คุณโต้งเล่าต่อว่าหลังจากได้พล็อดแล้ว มุขตลกต่างๆ ก็พร่างพรูออกมาจากการประชุมกันครั้งแรกนั่นเลย ไม่ว่าจะเป็นมุข “นาคเป็นฝี” หรือ “มองลอดหว่างขา” รวมถึงการเพิ่มสีสันให้กับหนังด้วยการดึงเพื่อนพระเอกมาอีกสี่คน คือ เต๋อ เผือก ชิน และ เอ ซึ่งเป็นกลุ่มนักแสดงที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่หนัง 4แพร่ง 5 แพร่ง และอยากเอากลุ่มนักแสดงกลุ่มนี้มาทำหนังใหญ่ สุดท้ายกลายเป็นว่าสี่เพื่อนพระเอกนี้ได้สร้างให้เกิด Transmedia Storytelling ให้กับหนังเรื่องนี้ สร้างกระแสการแชร์ “ท่าเต้นกองพัน” ผ่าน Youtube และสื่ออื่นๆ จากทั้งดาราและคนทั่วไปอีกมากมาย ลองดูบางตัวอย่างด้านล่าง

คุณโต้งได้สรุปทิ้งท้ายเป็นคำแนะนำในการทำวิดีโอคลิปสำหรับงาน commercial ไว้ว่า clip vdo ไม่ควรมีความยาวเกิน 3 นาที (ถ้าทำได้ เพราะ Attention span ของคนจะไม่สูงมากพอ) ที่สำคัญคือ 5 วินาทีแรก คือเปิดมาต้อง “ต่อย” เลย และต้องต่อยให้ “โดน” และทำให้อยากดูต่อจนจบ เพราะโฆษณาใน Youtube เราจะมีเวลาบังคับให้ดูเพียง 5 วินาทีเท่านั้น ถ้าคนที่ดูแล้วไม่ชอบจะกด skip ทันที ซึ่งจะบอกว่าต้องทำอย่างไรให้คนอยากดูต่อคงจะบอกได้ยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องพึ่ง creative ที่มีประสบการณ์จริงๆ ไม่ใช่เปิดมาขายของโปรโมทแบรนด์ทันที เป็นเราเองก็คงรอกดปุ่ม skip กันแทบไม่ทันทีเดียว

Happy storytelling 🙂



Leave a Reply