หลายคนคงได้ข่าวเรื่อง AMP หรือ Accelerated Mobile Pages ของ Google กันมาบ้างแล้ว เป็นอีกครั้งที่ผมว่า Google ค่อนข้างขยับตัวช้าเมื่อเทียบกับ Facebook ที่ปล่อยตัว Instant Article มาก่อนหน้านี้พักใหญ่แล้ว
AMP เป็นโปรเจคท์ open source ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานใหม่สำหรับ website publisher และเว็บไซต์ที่เน้นบทความเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้การโหลดเอกสารหน้านั้นทำได้อย่างรวดเร็วแบบทันทีทันใด แน่นอนว่ามีจุดประสงค์หลักที่จะสร้าง user experience ให้ดีที่สุดสำหรับการใช้งานผ่านมือถือ ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์เดียวกันกับ Facebook ที่ทำ Instant article ออกมา
นอกจากวัตถุประสงค์ที่เน้นให้โหลดได้เร็วและอ่านได้ง่ายผ่านอุปกรณ์มือถือแล้ว สิ่งที่คล้ายกันอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือสัญลักษณ์ “สายฟ้า” ที่ Google เองก็เอามาสื่อสารเพื่อบอกให้ยูสเซอร์รู้ว่าบทความที่เห็นนี้เป็น AMP เพจ สามารถคลิ้กอ่านได้อย่างรวดเร็วทันใจนั่นเอง
อย่างที่กล่าวไว้ว่า AMP จะเหมาะสำหรับ web publisher โดยตรง ซึ่งเป็นลักษณะของ static content เป็นหลัก จึงอาจจะไม่เหมาะกับเว็บไซต์ทุกเว็บ แต่หากใครสนใจวิธีการเขียนเว็บ AMP แนะนำให้อ่านที่ลิงค์นี้ https://www.ampproject.org/
โดยหลักการพื้นฐานแล้วการเขียนเว็บแบบ AMP นั้นจะเขียนโดยใช้ code ที่เรียกว่า AMP html ซึ่งเท่าที่ดูแล้วแทบไม่ต่างจาก HTML แบบที่เราคุ้นเคยกัน เพียงแต่มีกฎและข้อจำกัดบางประการที่จะต้องทำตามซึ่งก็เพื่อที่จะทำให้การโหลดเพจ AMP ทำได้เร็วที่สุด ข้อจำกัดที่สำคัญอีกอย่างคือ AMP จะไม่อนุญาติให้เขียน custom javascript แต่จะมี AMP javascript libraly ให้ใช้แทนซึ่งก็ถูกสร้างมาเพื่อให้หน้าเว็บโหลดและเรนเดอร์ได้เร็วเช่นกัน
Google Analytics สามารถใช้งานกับ AMP เพจได้หรือไม่?
ในด้านของการทำ Analytics นั้น โค้ด javascript แบบเดิมที่เคยใช้กับเว็บไซต์ปกติจะไม่สามารถใช้งานกับ AMP เพจได้ ทาง Google จึงได้ออกแบบโค้ดออกมาใหม่เรียกว่า <amp-analytics> ซึ่งเป็นชุดของ script ชุดเดียวที่ช่วยในการเก็บข้อมูล pageview, event และ custom dimension ได้ง่ายยิ่งขึ้น ข้อดีของโค้ด <amp-analytics> คือจะทำให้เราไม่จำเป็นต้องมี Javascript กระจัดกระจายมากมายอยู่ทั่วทั้งเพจอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการเก็บ event จำนวนมาก ทุกอย่างจะถูกจัดการที่โค้ดชุดเดียวกันทั้งหมด ตัวอย่างของโค้ดสามารถดูได้จากลิงค์นี้ https://amphtml.wordpress.com
คำแนะนำสำหรับการใช้ Google Analytics กับ AMP
ทาง Google แนะนำว่า “ควรจะ” ต้องสร้าง Property ขึ้นใหม่ใน Google Analytics สำหรับ AMP เพจ โดยเฉพาะ เนื่องจากว่า AMP นั้นยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่อยู่ ดังนั้นหลายๆ ฟีเจอร์ใน Google Analytics เองยังไม่สามารถซับพอร์ทได้ นอกจากนั้นแล้วถ้าหากใช้ property ร่วมกับเว็บไซต์เวอร์ชั่นปกติ user คนเดียวกันที่ browse ทั้งหน้าแบบปกติและแบบ AMP จะถูกมองเป็นสอง users ซึ่งจะทำให้การอ่านรีพอร์ทนั้นเกิดความผิดพลาดได้
ข้อจำกัดของ AMP analytics ในการเก็บข้อมูล
ณ ขณะนี้การเก็บข้อมูลจะทำได้บางส่วนดังนี้
- Page data: Domain, path, page title
- User data: client ID, timezone
- Browsing data: referrer, unique page view ID
- Browser data: screen height, screen width, user agent
- Interaction data: page height and page width
- Event data
สุดท้ายแล้ว AMP จะได้รับการยอมรับและใช้งานมากน้อยแค่ไหนยังตอบได้ยาก แต่สำหรับเรื่องการวัดผลเว็บไซต์แล้ว นี่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจและต้องเริ่มต้นศึกษากันอีกครั้งสำหรับคนที่สนใจจะใช้ Analytics ในการวัดผล AMP เว็บไซต์
Happy Analytics !