สิ่งที่สำคัญมากและถูกมองข้ามสำหรับคนที่ซื้อโฆษณา Google Adwords ทั้งมือใหม่และมือเก่าเลยก็คือการติด Conversion Tracking Code บนหน้าเว็บของเรา ซึ่งต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องซีเรียสเอามากๆ และเป็นส่ิงที่ควรต้องทำลำดับแรกก่อนการเริ่มรันแคมเปญด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่พบเจอบ่อยๆ เลยสำหรับมือใหม่และมือเก่าหลายท่านคือ ยังไม่รู้จักว่า Conversion Tracking คืออะไร คือประมาณว่าสร้างแอคเคาท์เสร็จซื้อโฆษณากันไปเลย ถามว่าทำอย่างนั้นได้ไหม เอาจริงๆ ก็ได้อยู่แล้วละครับ แต่ปัญหาอย่างแรกเลยก็คือ เราก็จะซื้อโฆษณากันแบบหูหนวกตาบอดกันไป อะไรดีอะไรไม่ดีเราก็ไม่รู้ Keywords คำไหนสร้างยอดขาย แคมเปญไหน adgroup ไหน หรือกระทั่งคำโฆษณาแบบไหนเวิร์คไม่เวิร์คเราก็ไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น หลายคนอาจจะบอกว่าไม่ติด Conversion Tracking ก็มียอดขายดีนี่นา ไม่ซีเรียส ขายได้ก็โอเคแล้ว ตรงนี้ผมอยากให้ลองคิดดูอีกทีว่า แล้วที่เราจ่ายเงินไปกับสิ่งที่ไม่เกิดรายได้ ไม่เกิดประโยชน์เราไม่อยากตัดมันออกไป ไม่อยากลดค่าโฆษณาที่ไม่จำเป็นจริงหรือเปล่า เชื่อว่าทุกคนก็คงอยาก แต่การจะทำเช่นนั้นได้ สิ่งแรกที่เราต้องรู้จักเลยก็คือ Conversion Tracking นี่แหละครับ ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าเรื่องนี้สำคัญมากจริงๆ ที่สำคัญและหลายคนไม่รู้เลยก็คือ ระบบโฆษณา Google Adwords จะออฟติไมซ์แคมเปญให้เราจาก Conversion ที่เราสร้างขึ้นนี้ด้วย ดังนั้นระบบโฆษณาจะฉลาดหรือไม่ฉลาดก็อยู่ที่ตรงนี้ด้วยแหละครับ
Conversion Tracking คืออะไร
Conversion Tracking เป็นวิธีการตรวจสอบวัดผลการทำการตลาดช่องทางออนไลน์ต่างๆ (บทความนี้ขอกล่าวถึง Google Adwords เป็นหลักนะครับ) เพื่อให้เรารู้ว่าการทำโฆษณา ทำการตลาดของเราประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย (Goal) ที่ตั้งเอาไว้หรือเปล่า ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หลังจากที่มีคนคลิ้กโฆษณา Adwords ที่เราซื้อไว้แล้ว เกิดการสั่งซื้อของจำนวนกี่ออเดอร์ เกิดการลงทะเบียนสมัครสมาชิกจำนวนเท่าไร แล้วเมื่อเทียบกับค่าโฆษณาที่เราจ่ายไปมันคุ้มค่าไหมกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราสามารถเห็นข้อมูลเหล่านี้ได้ หรือหลายคนอาจจะรู้แต่ก็ไม่เคยทำ นั่นแหละครับสำหรับมือใหม่เรื่องนี้ก็อาจจะไม่ได้ง่ายเสียทีเดียวนัก แต่เดี๋ยวบทความนี้จะพาทุกคนไปสร้าง Conversion Tracking กันแบบ Step by step กันเลย
Conversion Tracking มีวิธีการทำงานอย่างไร
เอาอย่างย่อๆ เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ เมื่อเราสร้าง Conversion Tracking ใน Google Adwords ระบบจะให้โค้ดพิเศษเรามาชุดหนึ่งที่ผูกอยู่กับ Account Adwords ของเรา (จริงๆ มีโค้ด 2 ชุดแต่ขอพูดโค้ดที่เอาไว้เก็บค่า Conversion ก่อนนะครับ) ให้เรานำโค้ดที่ได้มาไปติดไว้บนหน้าเว็บที่เราจะทำการวัดผล ยกตัวอย่างเช่น หน้า Thankyou ที่เป็นหน้าที่บอกชัดเจนว่าออเดอร์หรือการลงทะเบียนได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ เท่านั้น ทีนี้เวลาที่มีคนคลิ้กโฆษณาจากแคมเปญที่เราสร้างเข้ามาที่เว็บไซต์เรา แล้วทำการสั่งซื้อสินค้าหรือลงทะเบียนเสร็จสิ้น โค้ดที่เราติดไว้ที่หน้า Thankyou ก็จะทำงานและส่งข้อมูลกลับมาที่ Account Adwords ของเราเพื่อบันทึกข้อมูลว่า รายการซื้อหรือการลงทะเบียนครั้งนั้นเกิดขึ้นจาก campaign, adgroup, keywords และ ads ตัวไหน ทีนี้เราก็จะสามารถรู้จาก Adwords Report ได้แล้วว่า อะไรที่เวิร์คและอะไรที่ไม่เวิร์ค ง่ายๆ แค่นี้เอง
วิธีสร้างและติดตั้ง Conversion Tracking Code แบบ Step by Step
- ให้ login เข้าไปที่ Adwords แอคเคาท์ แล้วคลิ้กที่รูปประแจด้านบนซ้ายมือ แล้วเลือกที่เมนู Conversion ตามภาพ
- หลังจากคลิ้กแล้ว จะเข้าสู่หน้าแรกของการสร้าง Conversion ตามภาพให้คลิ้กที่ +Conversions ปุ่มสีน้ำเงิน
- เมื่อเข้ามาที่หน้าถัดไปตามภาพด้านล่างให้เลือก Website Tracking ในภาพแรก (บทความนี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะการแทร็คเว็บไซต์ก่อนนะครับ) ก็จะเข้าไปสู่ส่วนที่ยากที่สุดที่มือใหม่หลายคนอาจจะไปต่อไม่ถูก
- ในส่วนของการตั้งค่าต่างๆ ในหน้าต่างนี้ขออธิบายเฉพาะส่วนที่สำคัญและจำเป็น 4 ส่วนแรกนะครับ (ค่าอื่นๆ ที่เหลือสามารถไปตามค่าตั้งต้นไปก่อนได้ เอาไว้จะพูดถึงบางส่วนที่แอดวานซ์มากๆ อีกที)
Conversion name
ตรงนี้ให้ตั้งให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเรากำลังจะวัดผลอะไรอยู่ เช่น วัดการเกิดออเดอร์ ก็ตั้งว่า Completed Order ตามตัวอย่างก็ได้ครับ
Category
ให้เลือกที่เหมาะสมและตรงกับ Conversion ที่เราสร้าง ตามตัวอย่างเรากำลังจะวัดเรื่องการเกิดออเดอร์ เราก็เลือกที่ Purchase/Sale
Value
ตรงนี้ถ้าเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นอาจจะเลือก “Don’t use a value” ไปก่อนก็ได้ครับ หมายความว่าไม่ให้มูลค่ากับ Conversion ที่เกิดขึ้น ระบบเวลาบันทึกก็จะบันทึกแค่ว่าได้เกิดการสั่งซื้อขึ้นแล้วแต่ไม่ใส่มูลค่าการซื้อให้ อ้าววว แล้วถ้าเราอยากรู้ยอดซื้อของแต่ละ Conversion ทำอย่างไรล่ะ ง่ายๆ ก็แค่ให้เลือกที่ “Use different values for each conversion” เท่านั้นเอง แต่…. มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นไงครับ ผมก็เลยบอกว่าผู้เริ่มต้นเลือกควรเลือกแบบ Don’t use a value ไปก่อน เพราะถ้าเราเลือก Use different values เราต้องมั่นใจว่ามีทีม Programmer ช่วยเขียนโค้ดในการส่งยอดขายให้เราด้วย (ขออนุญาติไม่พูดถึงขั้นตอนนี้นะครับ)
Count
การเซ็ตตรงนี้เป็นอีกจุดที่สำคัญมาก แต่หลายคนไม่เข้าใจว่าควรจะเลือก Every หรือ One ดี ความแตกต่างระหว่างสองค่านี้คือ ถ้าเราเลือก Every หมายความว่าถ้ามีการคลิ้กโฆษณามาหนึ่งครั้งแล้วหลังจากนั้นเกิด Conversion 3 ครั้ง ระบบจะบันทึกทุกครั้ง ดังนั้นระบบจะบันทีกค่า 3 Conversion แต่ถ้าเราเลือก One ในกรณีเดียวกันนี้ระบบจะบันทึกเพียง 1 เท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะมีวิธีการเลือกอย่างไร เอาง่ายๆ คือ ถ้าการเกิด Conversion หลายๆ ครั้งภายใน 1 คล้ิกมีความหมายต่อธุรกิจของเราทุกครั้ง เช่น 1 คลิ้กซื้อสินค้า 3 ออเดอร์แบบนี้เราก็ควรจะนับ 3 conversions ดังนั้นเราก็ควรเลือก “Every” แต่ถ้าการคลิ้กเข้ามา 1 ครั้ง แล้วทำการลงทะเบียนสามรอบ (ซึ่งเราคิดว่าเป็นการลงทะเบียนซ้ำๆ) อย่างนี้เราก็ควรจะนับเพียง 1 Conversion ก็ให้เราเลือก “One” พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ 🙂 หลังจากตั้งค่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้วให้คลิ้กที่ “Create and Continue” ปุ่มสีฟ้าด้านล่างสุดได้เลย
- ถึงตรงนี้เราก็กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายตามภาพด้านล่างนี้กันแล้ว คนที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์หรือไม่สามารถทำเองได้แนะนำว่าถึงตรงนี้ให้เลือก “Email the Tag” ซึ่งหลังจากคลิ้กแล้วสิ่งที่ต้องทำมีเพียงระบุอีเมล์ของโปรแกรมเมอร์ที่จะช่วยเราในการนำ Conversion Tracking Code นี้ไปทำการติดตั้งบนหน้าเว็บตามคำแนะนำซึ่งจะส่งไปพร้อมกับอีเมล์นั้นด้วย ง่ายสุดๆ แต่ถ้าเราพอจะเข้าใจเรื่องการติดตั้งโค้ดบนหน้าเว็บหรือสามารถทำเองได้ ก็เลือกที่ “Install the Tag yourself” ได้เช่นกันครับ หลังจากนั้นก็ให้ทำตามคำแนะนำที่ Google อธิบายก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ แต่ถึงจะยากผมก็ยังแนะนำว่าต้องเรียนรู้และทำอยู่ดีนะครับ การซื้อโฆษณาแบบหูหนวกตาบอดเป็นการซื้อแบบไร้ประสิทธิภาพมากๆ ถ้าไม่ล้มคลุกคลานตกท่อไปเสียก่อน ต่อให้ไปถึงเป้าหมายปลายทางได้จริงก็จะช้าไปแล้วเมื่อเทียบคนคู่แข่งที่เข้าใจเรื่องนี้
Happy Advertising 🙂
สนใจเรียน Google Ads อ่านรายละเอียด
One thought on “Conversion Tracking สิ่งที่คนซื้อโฆษณา Adwords จำเป็นต้องทำ Step by Step”