วิธีการติดตั้ง GA4 Google Analytics เจนเนอเรชั่นที่สี่

ทำความรู้จัก และวิธีการติดตั้ง GA4 google analytics เวอร์ชั่นที่ 4

สำหรับคนที่ใช้ Google Analytics มานานกว่า 10 ปีจะทราบดีว่า Google Analytics มาการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอัพเดทเวอร์ชั่นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่าที่ผ่านมานั้น 3 เวอร์ชั่นแรกการเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่สำหรับเวอร์ชั่นที่ 4 นี้ หรือ Google เรียกเป็นทางการว่า GA4 (เปลี่ยนชื่อจาก App and Web Property ที่เปิดให้ทดลองใช้มาประมาณปีหนึ่ง) นั้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับ User Interface และรีพอร์ทต่างๆ เรียกว่าเกือบจะต้องเรียนรู้ใหม่กันเลยทีเดียว ไม่นับเรื่องรายละเอียดทางเทคนิคอลซึ่งขออนุญาติยังไม่กล่าวถึงในตอนนี้นะครับ ผมเองขอดูรายละเอียดแบบลงดีเทลอีกสักพัก

จริงๆ แล้วผมเองเคยติดตั้ง App and Web Property มาแล้วตั้งแต่หลายเดือนก่อน แต่ยอมรับตามตรงว่าก็ไม่ค่อยได้เข้าไปดูที่ Property นี้มากนัก เนื่องจากรีพอร์ทที่ยังต้องใช้งานอยู่ยังไม่พร้อมให้ใช้ใน Property นี้  รวมไปถึงอีกหลายๆ รีพอร์ทก็ยังไม่มีให้ดูถ้าเทียบกับเวอร์ชั่น Universal Analytics เซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เว็บส่วนใหญ่ตอนนี้ยังใช้งานกัน ดังนั้น GA4 ที่ Google ประกาศเป็น Default Property ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม มานั้น ว่ากันตามตรงจึงยังไม่มีอะไรแตกต่างมากนักจาก App and Web Property ที่หลายอย่างยังขาดไป และรอการพัฒนาให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องบอกว่า แม้อาจจะยังไม่มีรีพอร์ทเท่ากับหรือเหมือนของเดิม แต่จาก User Interface ที่เห็น และการทดลองใช้งานดู ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเวอร์ชั่นที่ออกแบบมาได้ดี สวยงาม น่าใช้งานมาก และจากนี้ไปทาง Google ก็น่าจะอัพเดทฟีเจอร์ต่างๆ ที่ GA4 เป็นหลัก ดังนั้นคนที่ใช้งาน Analytics กันอยู่ก็ควรจะต้องเริ่มทดลองศึกษาใช้งานกันได้แล้วนะครับ บทความจะมาแนะนำวิธีการติดตั้ง GA4 สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มใช้งาน Google Analytics

GA4 คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร

อย่างที่บอกไปแล้วว่า GA4 คือการรีแบรนด์จาก App and Web Property ซึ่งชื่อเดิมค่อนข้างชัดเจนว่า เป็น Google Analytics Property ที่ถูกออกแบบมาให้รวบรวมข้อมูลจากทั้ง เว็บไซต์ และ โมบายล์ แอป เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งแต่เดิมนั้นการเก็บข้อมูลเว็บ และแอป จะเก็บแยกกันคนละ Property ต่างคนต่างเก็บ จึงทำให้การอ่านข้อมูลนั้นยังต้องอ่านแยกกันอยู่ ภาพของ Customer และ Customer Journey จึงไม่ถูกต้องเนื่องจากยูสเซอร์ที่เข้าใช้งานทั้งเว็บและแอปจะถูกนับแยกกันทั้งๆ ที่เป็นคนๆ เดียวกัน นอกจากนั้น การที่เก็บข้อมูลแยกันคนละ Property ก็ทำให้เราไม่สามมารถเห็นภาพ Customer Journey ที่มีการ Cross Platform ได้ ซึ่งในรายละเอียดของเรื่อง GA4 หรือ App and Web Property นั้น ผมได้เคยเขียนอธิบายไว้แล้ว ในเรื่องของประโยชน์ต่างๆ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของการ Tracking แบบเดิม รวมถึงการรีวิวฟีเจอร์ และ เมทริคใหม่ๆ ที่มีเฉพาะใน App and Web Property เท่านั้น แนะนำให้อ่านเพื่อเข้าใจ GA4 มากขึ้นครับ New APPs and Web property คืออะไร ใช้งานอย่างไร

ใช้ GA เวอร์ชั่นเดิมอยู่ ควรเปลี่ยนเป็น GA4 เลยหรือไม่

คำตอบคือยังไม่ควรครับ ย้ำนะครับ “ยังไม่ควร” เพราะ GA4 ยังขาดอะไรอีกหลายๆ อย่างที่สำคัญไป ถ้าอยากจะทดลองใช้งานก็ควรเป็นการสร้าง Property ใหม่เพิ่มขี้นมา โดยที่ยังเก็บ Universal Analytics ไว้ใช้งาน ซึ่งส่วนตัวผมแล้วคิดว่าคงต้องใช้ Universal Analytics ไปอีกนานพอสมควรครับ และแบรนด์ใหญ่ๆ ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ยังใช้ GA เวอร์ชั่นเดิมอยู่ การเปลี่ยนไปใช้เวอร์ชั่นใหม่มีงานที่ต้องทำเพิ่มทำใหม่อีกหลายอย่างเนื่องจาก GA มีวิธีเก็บข้อมูลที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร สำหรับสิ่งที่ GA4 ยังขาดหายไปและสำหรับผมแล้วค่อนข้างจำเป็นมากสำหรับคนใช้งาน Analytics ตอนนี้ ขอสรุปเป็นข้อๆ เอาเฉพาะที่สำคัญก็มี 3 ข้อดังนี้

  1. Ecommerce Report ใน GA4 ยังถือว่าใช้งานได้น้อยมาก แตกต่างจาก Universal Analytics ซี่งมีรีพอร์ทให้ใช้งานหลากหลายรีพอร์ท เรียกว่าครบถ้วนสมบูรณ์กว่ามาก
  2. รีพอร์ท Multi-Channel Funnel ยังไม่มีใน GA4 ซึ่งถือว่าเป็นรีพอร์ทสำคัญที่ทำให้เห็น Purchase Journey ได้ชัดเจน
  3. Model Comparison Report รีพอร์ทที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการ Attribution และการให้เครดิตกับ Conversion ที่เกิดขึ้นกับ Marketing Channel ต่างๆ ยังไม่มีใน GA4 ซึ่งรีพอร์ทนี้ก็เป็นอีก 1 รีพอร์ทที่สำคัญมาก

ดังนั้นก็แนะนำให้ใช้ Universal Analytics เป็นหลักไปก่อนครับ ส่วน GA4 ก็เอาไว้ศึกษาควบคู่ไปก่อน

วิธีติดตั้ง Google Analytics เวอร์ชั่น 4

ก่อนจะพูดถึงการติดตั้งอยากย้ำตรงนี้ก่อนว่า เนื่องจากใน GA4 นั้น รีพอร์ทบางอย่างไม่เหมือนเดิม บางอย่างยังไม่มี และบางฟีเจอร์หายไป ดังนั้นคนที่ยังคุ้นเคย หรือยังต้องใช้งาน Google Analytics เวอร์ชั่นเดิม ก็ควรจะติดตั้ง GA property ทั้ง 2 แบบ คือ ทั้ง Universal Analytics และ GA4 ซึ่งเป็นวิธีที่ Recommended

  1. สร้างบัญชี Google Analytics ด้วย Gmail Account โดยให้เข้าไปที่ analytics.google.com จะเห็นตามภาพด้านล่าง ให้กดที่ Set up for free
    สร้างบัญชี ติดตั้ง Google Analytics
  2. เมื่อกด Set up for Free แล้ว จะเข้าสูขั้นตอนการสร้างบัญชี ซึ่งมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ในขั้นตอนแรก ให้ใส่ชื่อบัญชีตรงช่อง Account Name ตรงนี้แนะนำให้ใส่ชื่อบริษัท แต่ถ้าจะใส่ชื่อเว็บก็ได้เหมือนกัน  ส่วน Account Data Sharing Setting ก็แนะนำว่าปล่อยไว้ตามนั้นครับ แล้วให้กด Next ไปที่ Step ที่ 2Google-analytics-setup-step1
  3. ในขั้นตอนที่ 2 ของการติดตั้ง เป็นส่วน Property Setup ซึ่ง 1 Property ก็เปรียบเสมือน 1 เว็บไซต์หรือ 1 แอปพลิเคชั่น ดังนั้นในส่วน Property Name ก็ให้ใส่เป็นชื่อเว็บไซต์  (ไม่จำเป็นต้องใส่เป็น URL ของเว็บไซต์ก็ได้นะครับ ไม่ได้มีผลอะไร) ส่วน Time Zone และ Currency ก็ให้เลือก Thailand และ Thai Baht ถึงตรงนี้อย่าเพิ่งรีบกด Next นะครับ ถ้าสังเกตให้ดี ในส่วน Property Setup จะเขียนไว้ว่า Create Google Analytics 4 Property ซึ่งเป็นค่า Default ถ้าเรา Next ไปจากตรงนี้ เราจะได้แต่ GA4 Property เท่านั้น ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เราควรสร้าง GA เวอร์ชั่นเดิม คือ Universal Analytics ด้วย

    คนที่เข้าอบรม Intensive Google Analytics และ Advance Google Analytics จำเป็นต้องสร้าง Universal Analytics เนื่องจากการ Workshop จะต้องใช้ GA เวอร์ชั่นนี้เท่านั้น

    ดังนั้น ให้เรากดที่ลิงค์สีฟ้าที่เขียนว่า. Show Advance Optionsขั้นตอนที่ 2 ของการสร้างบัญชี Google Analytics

     

  4. เมื่อกดที่ Show Advance Options แล้ว จะเห็นส่วนที่ให้เราสามารถสร้าง Universal Analytics Property ให้เปิดใช้งานโดยการเลื่อนปุ่ม Toggle Button ด้านขวามือ ก็จะเห็นตามภาพด้านล่าง ให้เราใส่ URL ของเว็บไซต์เรา และเลือกออปชั่นแรกที่เขียนว่า Create Both Google Analytics 4 and Universal Analytics Property การเลือกออปชั่นนี้จะทำให้เราสามารถ Property ได้พร้อมกันทั้ง GA4 และ Universal เสร็จแล้วให้กด Nextการติดตั้ง GA4 google analytics
  5. ในส่วนสุดท้าย ขั้นตอนที่ 3 เป็นส่วนที่ให้เราเลือกตอบข้อมูลที่เกี่ยวกับธุรกิจของเรา และวัตถุประสงค์ที่เราจะใช้งาน Google Analytics ตรงนี้ให้ตอบตามเหมาะสมกับธุรกิจของแต่ละเว็บไซต์Google-analytics-setup-step3
  6. เมื่อกรอกข้อมูลครบทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว สามารถกดปุ่ม Create สีน้ำเงินได้เลย เมื่อกดแล้วจะเข้าสู่บัญชี Google Analytics ตามภาพ ซึ่งจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการทำ Tracking ทั้งหมด หลายคนที่เพิ่งสร้าง GA4 ครั้งแรก อาจจะสับสนกับข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย สาระสำคัญในส่วนนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Measurement ID ซึ่งจริงๆ แล้วก็คล้ายกับ Tracking ID ที่เราคุ้นเคยกันในเวอร์ชั่นก่อนนั่นแหละครับ คือเป็นหมายเลขอ้างอิงที่ใช้ส่งข้อมูลไปที่ Property นี้ที่เราสร้างขึ้นการติดตั้ง Tracking Code GA4 google analytics

    สำหรับคนที่เข้าอบรม Intensive Google Analytics และ Advance Google Analytics สามารถที่จะคัดลอก Measurement ID ที่อยู่ในกรอบสีส้มตามภาพไปใส่ในส่วน Setting ของ Google Site ได้เลย

    ส่วนในของการนำ Tag ไปวางบนเว็บไซต์ ซึ่งในบทความนี้จะยกตัวอย่างเฉพาะกรณีสร้างบัญชีสำหรับเว็บไซต์ใหม่ ดังนั้นในส่วนของ Tagging Instruction ให้เลือกที่แท็ป Add new on-page tag โดยเลือกที่ Global Site Tag เพื่อที่จะเข้าไปเอา Tracking Code สำหรับนำมาวางบนเว็บไซต์  ตัวอย่างภาพด้านล่างนี้เป็น Global Site Tag ซึ่งจะเป็น Tag ที่เราจะต้องนำโค้ดไปวางบนเว็บไซต์อีกทีเพื่อให้ Google Analytics สามารถเริ่มต้นเก็บข้อมูลได้ แนะนำให้ติดภายในส่วน Header ของเว็บไซต์ หรือภาพในแท็ก <head> ส่วนใครที่ต้องการติดตั้งผ่าน GTM (Google Tag Manager) ก็สามารถทำได้โดยการเข้าไปสร้าง Tag ใหม่โดยเลือก Tag GA4 จากนั้นก็กรอก Measurement ID ได้เลยโค้ดติดตั้ง Google Analytics 4 lobal site tag

  7. ถึงตรงนี้ให้ลองปิดหน้าต่างนี้ แล้วเข้าไปที่ส่วน Admin ของ Google Analytics แล้วลองคลิ้กที่ Property ดู จะเห็นเหมือนกับภาพด้านล่างนี้ คือระบบจะสร้าง Property มาพร้อมกัน 2 Property คือ Property แบบ Universal Analytics ซึ่งจะวงเล็บด้วยรหัส UA-xxxxxx ซึ่งเป็น Tracking ID ของ Universal Analytics และอีก Property ซึ่งจะเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า GA4 ซึ่งเมื่อเราติดตั้ง Tracking Code จากข้อ 6 บนหน้าเว็บไซต์แล้ว ข้อมูลก็จะถูกส่งเข้ามาทั้ง 2 Property นี้ ซึ่งเราก็สามารถเลือกดูรีพอร์ทได้ทั้งแบบ Universal และแบบ GA4 การเลือกดู Google Analytics Property

ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ แม้ว่าอาจจะดูสับสนบ้างสำหรับการเซ็ตอัพครั้งแรก แต่จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานก็ไม่ต่างกันกับการติดตั้ง Google Analytics เวอร์ชั่นก่อนๆ เพราะเป็นการนำ Tracking Code ไปวางบนหน้าเว็บไซต์เหมือนกัน หรือจะทำผ่าน Google Tag Manager ก็ได้ ซึ่งเป็นถ้าเป็นไปได้สำหรับการเซ็ตอัพให้กับเว็บไซต์ใหม่ก็แนะนำให้เริ่มต้นที่ Tag Manager เลยก็จะดีกว่า ใครยังไม่รู้จัก GTM แนะนำให้อ่าน วิธีการติดตั้ง Google Tag Manager อย่างถูกต้อง เข้าใจง่าย ทำได้เอง ขั้นตอนการเปิดบัญชีและติดตั้งใช้งานไม่ได้ยากอะไร แต่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นอีกมากเลยละครับ

Happy Analytics
เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics อ่านรายละเอียด

Leave a Reply