เรื่อง Bounce Rate เป็นค่าที่หลายคนรู้จักกันดี แต่ก็มักมีความเข้าใจที่ผิดอยู่มาก ใครที่คิดหรือมีมุมมองที่ไม่ดีกับ Bounce Rate ผมอยากให้ลองอ่านบทความนี้แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจดูนะครับ เพราะเอาจริงๆ แล้ว Bounce Rate ที่สูงก็ไม่ได้ว่าจะแย่ หรือว่า Bounce Rate ต่ำมากก็ใช่ว่าจะดีนะครับ มันมาสาเหตุและที่มา ดังนั้นก่อนที่จะแก้ไข Bounce Rate เราก็ควรที่จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันเสียก่อน
Google เองให้ความหมายของคำว่า Bounce rate ว่า “The percentage of single-page sessions” ซึ่งมีความหมายชัดเจนคือ “สัดส่วนของการเข้าชมเว็บไซต์เพียงหน้าเดียว” ทีนี้แล้วมันหมายความว่าอย่างไรล่ะ ดูเว็บไซต์หน้าเดียวก็ไม่ดีอยู่แล้วนี่นา ไม่เห็นต้องคิดอะไร สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ การที่คนเข้าเว็บไซต์เราอยู่บนเว็บไซต์เราเพียงหน้าเดียวนั้น ความเป็นจริงแล้วก็มีอยู่ส่วนหนึ่งที่อ่านเนื้อหาจนจบและเข้าใจรับรู้เนื้อหานั้นแล้ว อย่างนี้ถึงแม้ว่าจะอยู่เพียงหน้าเดียวก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่นัก อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของ Bounce Rate นั้นเว็บไซต์แต่ละประเภทก็มี Benchmark ที่ต่างกัน ถ้าเราดูโดยภาพรวม ค่าเฉลี่ยอาจจะอยู่ที่ 50% บวกลบเล็กน้อย แต่ก็มีข้อยกเว้นบางอยู่บ้างในบางกรณี เช่นเว็บไซต์ประเภท Blog และ News ที่อาจจะมี Bounce Rate สูงได้ถึง 80-90 ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เป็นต้น ดังนั้นการจะบอกว่า Bounce Rate สูงเท่านั้นเท่านี้ถือว่าไม่โอเค คงจะใช้ตัวเลขตัวเดียวตัดสินกับเว็บทุกเว็บคงไม่ได้ แต่ก็แน่นอนว่าตัวเลข Bounce Rate ที่สูงก็คงไม่เป็นที่ต้องการอยู่แล้ว การแก้ไขให้ลดลงได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่า bounce rate ที่สูงนั้นเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
8 สาเหตุที่ทำให้ Bounce rate สูง
เนื้อหาบนเว็บไซต์ไม่มีประโยชน์
ที่ต้องขึ้นเรื่องนี้เป็นหัวข้อแรก เพราะนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Bounce Rate ที่สูง เอาแบบไม่ต้องคิดเลย เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าถ้าเราอ่านลองเนื้อหาไปสักย่อหน้าหนึ่งแล้วรู้สึกไม่ได้ประโยชน์ ไม่ตรงกับความต้องการ เนื้อหาเยิ่นเย้อ เป็นใครๆ ก็ออกอยู่แล้ว จริงไหม ซึ่งเรื่องนี้คงยากที่จะบอกว่าจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง แต่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด เอาแบบง่ายที่สุดก็ลองเอาไปให้คนข้างๆ เราอ่านดูก่อนก็ได้ครับ ถ้าเขาอ่านจบแล้วส่ายหน้าก็คงพอจะเข้าใจได้
แนวทางการแก้ไข : ง่ายๆ สั้นๆ แบบกำปั้นทุบดินเลยครับ เขียนเนื้อหาให้เป็นประโยชน์กับคนอ่านมากขึ้น
single-page website
หรือเว็บไซต์ที่มีเพียงหน้าเดียว กรณีนี้ Bounce Rate สามารถที่จะสูงกว่า 90% ได้อยู่แล้วครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพราะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่า Bounce เกิดจากการอยู่บนเว็บไซต์เพียงหนึ่งหน้า ดังนั้นกรณีนี้ Bounce Rate จึงสูงปรี๊ดได้ขนาดนี้แหละครับ
แนวทางการแก้ไข : ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องทำการสื่อสารและทำความเข้าใจกันภายในทีมงานหรือกับลูกค้ามากกว่าว่าความหมายของ Bounce Rate คืออะไร ถ้าหากเข้าใจตรงกันแล้ว Bounce Rate สูงกรณีนี้จึงเป็นเรื่องทุกยอมรับกันได้ทุกฝ่าย
การติดตั้งโค้ด Google Analytics ที่ผิดพลาด
ถ้าหากเว็บไซต์ไม่ใช่เว็บไซต์ที่มีหน้าเดียวเหมือนกรณีก่อนหน้านี้ แต่มี bounce rate สูงเกินกว่า 90% ในกรณีเช่นนี้ควรตรวจสอบการติดตั้งโค้ด GA เป็นอันดับแรกเลยครับ สาเหตุที่มักจะพบคือ การติดตั้ง Google Analytics เพียงบางหน้าหรือติดตั้งไม่ครบทุกหน้า
แนวทางการแก้ไข : ใช้เครื่องมือในการตรวจสอบเว็บไซต์ เพื่อดูว่ามีหน้าใดบ้างที่ติดตั้ง GA และหน้าใดบ้างที่ไม่ติดตั้งและทำการแก้ไขให้เรียบร้อย
เว็บไซต์โหลดช้าจนยูสเซอร์ทนรอไม่ได้
เรื่องนี้น่าจะพอจะเข้าใจกันดีอยู่แล้วนะครับ ผมว่าทุกคนรวมทั้งผมเองถ้าเจอเว็บที่โหลดช้า หลายครั้งเราจะปิด browser หรือ tab ไปเลย ซึ่งจะทำให้เกิด Bounce Session ทันที
แนวทางการแก้ไข : คอยตรวจสอบเรื่องความเร็วในการโหลดของหน้าเว็บไซต์เราอยู่เสมอ ถ้าพบว่าหน้าไหนที่มีคนเข้าใช้งานเยอะแต่เว็บไซต์โหลดช้า หรือมี PageSpeed Score ที่ต่ำ ควรพิจารณาเรื่องการแก้ไข Google เองก็มีเครื่องมือที่เอาไว้ช่วยตรวจสอบเรื่องความเร็วอยู่ด้วย ใครที่ยังไม่รู้จักลองอ่านจากบทความนี้นะครับ มาอ่านค่าความเร็วของเว็บจาก Site Speed รีพอร์ทใน Google Analytics กัน
เว็บไซต์ที่ใส่ดีไซน์มากเกิน และไม่ใช่ดีไซน์แบบมาตรฐาน
การดีไซน์เว็บไซต์ควรทำให้ใช้งานได้ง่าย มีการ navigation ที่ตรงไปตรงมาชัดเจนไม่ซับซ้อน และดีไซต์ให้เข้าใจได้ง่าย ใช้องค์ประกอบมาตรฐานที่ยูสเซอร์เห็นและเข้าใจได้ง่าย การออกแบบโดยใช้สิ่งที่ยูสเซอร์ไม่รู้จักก็อาจจะทำให้ยูสเซอร์สับสนใช้งานไม่ถูก
แนวทางการแก้ไข : ควรใช้ดีไซน์ที่เป็นมาตรฐานที่ยูสเซอร์ทั่วไปเข้าใจและเคยใช้งานกันมาบ้างก็จะช่วยลดความสับสนและไม่ต้องให้ยูสเซอร์ต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจ ซึ่งก็จะช่วยลด Bounce Rate ลงได้
เว็บไซต์ไม่เป็น mobile-friendly
เคสนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนเวลาที่ดูรีพอร์ท ซึ่ง Mobile Device จะมี Bounce Rate ที่สูงมากโดยเฉพาะกรณีที่เว็บไซต์เรายังไม่เป็น Mobile Responsive ลองคิดดูเอาง่ายๆ ว่าถ้าใครเข้าเว็บไซต์เราแล้วเจอตัวอักษรเล็กๆ เหมือนเอาหน้าจอ Desktop มายัดไว้ในมือถือเขาจะอยากอ่านต่อไปหรือไม่
แนวทางการแก้ไข : คุยกับทีม Developer ในการช่วยทำเว็บไซต์ให้ Support การแสดงผลในมือถือให้ดีที่สุด เรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับอยู่พอสมควร แต่เป็นเรื่องที่ซีเรียสมากนะครับ ยังไงก็ต้องทำเพราะเรื่องนี้ยังส่งผลต่อไปถึงการจัดอันดับผลลัพธ์การค้นหาของ Google บนอุปกรณ์มือถืออีกด้วย
เว็บไซต์ที่มี pop-up
เว็บไซต์ที่มี pop-up แบนเนอร์นั้นมีโอกาสที่จะทำให้เกิด bounce rate สูง โดยเฉพาะ pop-up ที่เกิดขึ้นเวลามีการ landing ที่เว็บไซต์ ซึ่งถ้าหากเป็นยูสเซอร์ที่รำคาญพวก pop-up (ซึ่งมีเยอะนะ) ก็มักจะปิดเว็บนั้นไปเลย ผมว่าเราก็เคยทำกันอยู่แล้วทุกคนใช่ไหมครับ เอาจริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่ออันดับบน Google Search เช่นกัน เพราะ Google มองว่าการมี Pop-Up ทำให้ยูสเซอร์ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ได้
แนวทางการแก้ไข : เอาแบนเนอร์ Pop-up ออก จบ! แล้วลองวัดผลดูอีกทีนะครับว่าหลังจากเอาออกแล้ว Bounce ลดลงบ้างหรือไม่ 🙂
โฆษณาแบนเนอร์เยอะมากจนเว็บไซต์ดูเลอะเทอะ
แบบนี้ใครเห็นก็คงไม่ชอบเท่าไร แน่นอนอยู่แล้วว่าคนเข้ามาเว็บไซต์ไม่มีใครตั้งใจจะมาดูโฆษณาหรอก จริงไหมครับ ถ้าจะให้ดีพื้นที่สำหรับโฆษณาไม่ควรจะเกิน 20-25% ของพื้นที่บนหน้าเว็บ (จริงๆ ก็ยังเยอะไปนะครับ) เพราะถ้าโฆษณาเยอะโอกาสที่ยูสเซอร์จะคลิ้กออกจากเว็บไซต์เราผ่านแบนเนอร์ก็มีเยอะขึ้น แต่เอาจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ก็รำคาญโฆษณาจนไม่อยากอ่านต่อมากกว่า
แนวทางการแก้ไข : ลดปริมาณพื้นที่โฆษณาลงเท่านั้นแหละครับ ไม่มีใครชอบคนตามตื้อขายของอยู่แล้ว
สำหรับคนที่เว็บไซต์มี Bounce Rate ที่ต่ำอยู่แล้วก็อย่าเพิ่งดีใจไปนะครับ ยิ่งต่ำมากเท่าไรอาจจะมีปัญหาทางเทคนิคอลมากขึ้นเท่านั้น ลองอ่านบทความนี้ดูจะเข้าใจมากขึ้น bounce rate ต่ำมาก เว็บไซต์ดีจริงหรือผิดปกติ? ถึงตรงนี้เมื่อเข้าใจที่มา ความหมายของ Bounce Rate ที่ถูกต้อง รวมไปถึงสาเหตุต่างๆ และแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็น่าจะพอมีไอเดียที่จะช่วยลด Bounce Rate กันได้แล้วนะครับ 🙂