การใช้ GA4 Path Exploration วิเคราะห์ Website Journey ง่าย ดี มีประโยชน์

แนวทางการใข้งาน GA4 path exploration เพื่อวิเคราะห์ User Journey ภายในเว็บไซต์

ย้อนกลับไปใน GA3 กลุ่มรีพอร์ทกลุ่มหนึ่งที่ผมแทบจะไม่ได้เช้าไปดูเลย คือกลุ่มรีพอร์ทเกี่ยวกลับ Flow ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Users flow, Behavior flow และ Events flow ใครที่เคยเรียนคลาส GA3 มาแล้ว จะทราบว่าในสไลด์ที่ใช้สอนนั้น ผมไม่ได้พูดถึงรีพอร์ทกลุ่มนี้เลยแม้แต่สไลด์เดียว เพราะให้พูดตามตรงแล้ว ผมไม่อยากจะเสียเวลาไปกับการสอนรีพอร์ทที่เรียนไปแล้วใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก นอกจากนั้นการใช้งานก็ไม่ค่อยจะสะดวกอีกด้วย ใครที่เคยใช้งานมาก่อนน่าจะพอทราบดีว่าทำไมผมถึงรู้สึกเช่นนั้น

ใน GA4 รีพอร์ทเกี่ยวกับ Flow ทั้งหลายที่กล่าวมานั้นก็ไม่ได้มีเป็น Pre-build Report หรือเตรียมเอาไว้แบบสำเร็จรูปให้ใช้งานเหมือนใน GA3 อีกแล้ว ถ้าใครต้องการที่จะดูรีพอร์ทแบบ Flow ใน GA4 ก็จะต้องเข้าไปสร้างเองด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Path Exploration ซึ่งหน้าตาที่ได้ก็จะมีความคล้ายคลึงกับ Flow reports ทั้งหลายใน GA3

Path Exploration คืออะไร

Path Exploration คือหนึ่งในเทคนิคที่นักการตลาดใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ User Journey ภายในเว็บไซต์ ซึ่งทุกคนสามารถใช้งานกันได้ฟรีภายใต้เมนู GA4 Exploration เหมือนกับ Segment Overlap ที่ผมเคยเขียนไว้ในโพสต์ก่อนหน้านี้ ใครสนใจลองสามารถอ่านได้ที่ https://bit.ly/3wLEyok

อย่างที่กล่าวได้ไปแล้วว่า ผมเองไม่ใช่แฟนตัวยงของรีพอร์ทกลุ่มนี้ในตอนที่ใช้ GA3 แต่ต้องยอมรับตามตรงว่า Path Exploration ใน GA4 ได้ถูกอัพเกรดในจุดสำคัญที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างน่าสนใจ จนทำให้ผมต้องกลับมาดูพวก Users Flow มากขึ้นจริงๆ

ปัญหาของ Flow reports ใน GA3 ก็คือ เมื่อใช้งาน มันจะเป็นไปในลักษณะ Browse ไล่ดู Flow ไปเรื่อยโดย ‘ไม่มีจุดหมายที่ชัดเจน’ พูดง่ายๆ ก็คือไม่รู้ว่า Flow จะไปจบที่ตรงไหน และเป็นจุดที่จะมีประโยชน์ที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลและ Insight ไปทำงานต่อได้หรือไม่ บ่อยครั้งเราจึงมักจะเสียเวลา Browse แต่ไม่ได้ Insight อะไรที่น่าสนใจกลับมา

ส่วนใน GA4 ที่ผมบอกว่าดี มีประโยชน์ ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่าใน GA3 นั้น ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นจากเคสในภาพนี้ ตัวอย่างนี้จะเห็นว่า Path (หรือ Flow) ที่เราสร้างขึ้นนั้น เราสามารถที่จะกำหนด Ending Point ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของ Path ได้ พอกำหนดเป้าหมายปลายทางของ Flow ได้ การดู Flow จึงเป็นการดูที่มี Objective จริงๆ ว่า User มีพฤติกรรมอย่างไร มีเส้นทางอย่างไร กว่าที่จะไปถึงจุดหมายที่เรากำหนด ไม่ใช่เป็นการ Browse ไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จะไปจบตรงไหน ซึ่งตรงนี้ Flow reports ต่างๆ ใน GA3 ไม่สามารถทำได้

ตัวอย่างการนำ Path Exploration ไปใช้งาน

Use Case ในการใช้ Path Exploration ตามตัวอย่างนี้ มีจุดประสงค์เพื่อตอบคำถามที่ว่า

มีอะไรบ้างที่นำยูสเซอร์ไปสู่การลบแอปทิ้ง

ซี่งจากคำถามนี้จะเห็นว่ามีความชัดเจนในเรื่องของเป้าหมายปลายทาง (Ending Point) ในการวิเคราะห์อยู่แล้ว ตรงนี้ทำให้เราสามารถนำการลบแอปไปใช้กำหนดเป็น Ending point ได้เลย

ตามภาพตัวอย่าง เป็นการเลือก Event ที่ชื่อ app_remove เป็น Ending point เพื่อที่จะหาว่ามีอะไรบ้างที่นำไปสู่การตัดสินใจลบแอปทิ้งตามที่ได้กล่าวไปแล้ว พอดู Flow ย้อนหลังจาก Ending point ทั้งการย้อน 1 และ 2 step ก็จะเห็นจุดที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันในทั้ง 2 step ซึ่งก็คือ การแสดงโฆษณาในแอป (ad_impression ที่ขีดเส้นใต้สีแดงเอาไว้) ที่แม้ว่าจะไม่มากนัก แต่จาก Path ที่แสดงให้เห็น โฆษณาก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่อาจจะสร้างความรำคาญจนทำให้ผู้ใช้บางส่วนตัดสินใจลบแอปทิ้ง

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ด้วย Path Exploration นี้ทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า อะไรบ้างที่นำไปสู่การลบแอปออกของยูสเซอร์ ซึ่งจะไม่ใช่การคาดเดาหรือคิดไปเอง (แม้ว่าจะเดาถูกก็ตาม🙂 และพอรู้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง เราก็จะสามารถหาแนวทางการแก้ปัญหา และแอคชันต่อไปได้อย่างถูกต้องและง่ายขึ้น เช่น อาจจะทดสอบง่ายๆ โดยการเอาโฆษณาออกก่อน แล้วดูว่าอัตราการลบแอปออกลดลงหรือไม่ เป็นต้น ทำแบบนี้จึงพูดได้เต็มปากว่าเป็นการใช้ Data to Insight to Action จริงๆ

ใครสนใจคลาสเรียน GA4 แบบ Public สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ไลน์ @pornthep ไว้ก่อนนะครับ เนื่องตอนนี้ยังติดคิวสอน in-house อยุ๋ ถ้าเปิดแล้วจะแจ้งให้ทราบแบบ one to one ส่วนบริษัทที่สนใจ In-house Training ก็สามารถติดต่อได้ช่องทางเดียวกันครับ

เพิ่มเพื่อน
ไม่พลาดทุกบทความ แอดเฟรนด์ LINE : @pornthep
สนใจคอร์สเรียน Google Analytics 4 อ่านรายละเอียด

Leave a Reply