not provided, not set และ none คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

หนึ่งในคำถามที่ถูกถามบ่อยมากที่สุดในคลาสสอน Google Analytics และเชื่อว่ายังเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัยกันอยู่คือ ‘not provided‘ ‘not set‘ และ ‘none‘ คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร? สามารถแก้ไขได้หรือไม่?  บทความนี้จะมาคลายข้อสงสัยและอธิบายความหมายกันทีละคำให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปและสาเหตุที่ทำให้เกิดการแสดงค่าเหล่านี้ในรีพอร์ทของ Google Analytics ซึ่งจะว่าไปแล้วนั้น ทั้งสามคำนี้มีความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และก็มักจะสร้างความสับสนสงสัยให้กับคนที่เริ่มต้นใช้งาน Google Analytics รวมไปถึงผู้ที่ใช้งานมาแล้วระดับหนึ่งในการทำจะหาคำตอบเหล่านี้

Not Provided คืออะไร

not-provide-keywords

รีพอร์ทที่พบ : Acquisition>Campaigns>Organic Keywords
ความหมายโดยย่อ : Not Provided เป็นคำที่ใช้แสดงเพื่อบอกว่าจะไม่มีการเปิดเผย ‘keyword’ ที่ใช้ค้นหาใน Google Search ก่อนที่จะคลิ้กเข้ามาที่เว็บไซต์
สาเหตุ : การที่ Google ใช้ Not Provided นั้นเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในการที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวตามนโยบายเรื่อง Privacy Policy ซึ่งเคสที่จะเข้าข่ายที่จะปกปิดคีย์เวิร์ดนี้ได้แก่ในกรณีที่ User ล็อกอิน Google Account อยู่ และกรณีที่เป็นการใช้งานผ่าน Secure Connection เช่น https://www.google.com เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้ Browser ส่วนใหญ่ก็จะเป็น https โดยค่าพื้นฐานอยู่แล้ว
เรื่องควรรู้ : คำว่า Not Provided นั้นจะถูกพบเพียงแค่ใน Organic Keywords รีพอร์ทเพียงที่เดียวเท่านั้น และสัดส่วนในปัจจุบันมักจะพบว่า Not Provided จะมีค่าไม่ต่ำกว่า 90% แล้ว นั่นหมายความว่า มากกว่า 90% ของ keywords ที่ถูกค้นหาผ่าน Google Search และคลิ้กเข้ามา(จากผลลัพธ์ที่ไม่ใช่การโฆษณา) จะไม่แสดงให้เห็นในรีพอร์ทนี้อีกแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าน่าเสียดายมากสำหรับ Digital Marketer และคนที่ทำ SEO สำหรับในส่วน Paid Keywords นั้น Keywords ยังคงมีแสดงใน Paid Keywords รีพอร์ทตามปกติ แน่ล่ะ เสียตังค์นี่ครับ:)

Not Set คืออะไร

not-set-not-provided

รีพอร์ทที่พบ : สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ รีพอร์ทแตกต่างกันตามสาเหตุที่เกิด
ความหมายโดยย่อ : Not Set เป็นคำที่ Analytics ใช้ระบุในรีพอร์ทในกรณีที่ Analytics ไม่สามารถเก็บจากข้อมูลแหล่งที่มาได้ ซึ่งโดยมากแล้วมักจะเกิดจากปัญหาทางเทคนิคอล
สาเหตุ : Not Set สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และพบในหลายรีพอร์ท ในกรณีที่พบได้บ่อยมากกรณีหนึ่งคือ การซื้อโฆษณา Adwords แต่ไม่ได้มีการเชื่อมโยง account ระหว่าง Adwords และ Google Analytics (การทำ Auto-tagging) ซึ่งจะทำให้เกิด not set ในกลุ่ม Adwords Report ในหลายครั้งจะพบว่าแม้มีการเชื่อมโยง Account แล้วก็ยังสามารถพบปัญหานี้ได้บ้างเช่นกัน ในบางกรณีก็เป็นไปได้ที่จะพบ Not Set ใน Organic Keywords แสดงอยู่พร้อมกับ Not Provided ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่มักจะเป็นส่วนที่น้อยมากๆ ตามภาพด้านบน

not-set-in-landing-page

ยังมีอีกหลายกรณีซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องทางเทคนิคอลที่เกิดขึ้นได้ เช่น การเกิด Not Set ใน Landing Page รีพอร์ท กรณีนี้ถ้าอธิบายแล้วอาจจะฟังดูยากสำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาที่จะเข้าใจว่าทำไมการเข้าเว็บถึงไม่มีหน้า Landing แต่ถ้าให้อธิบายอย่างคร่าวๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Interaction แรก (Hit) ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์อาจจะเป็น event ก็ได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็น pageview (งงมากขึ้นไปอีก- -‘) ดังนั้นหลายๆ ครั้งที่มีคนถามเรื่อง Not Set นี้ ผมจึงมักจะให้มองข้ามเรื่องนี้ไปถ้าตัวเลขมันไม่ได้มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางเทคนิคอลที่ Analytics ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ตามที่กล่าวมาแล้ว

None คืออะไร

none-in-google-analytics

รีพอร์ทที่พบ : Acquisition>All traffic>Source/Medium หรืออาจจะพบในกรณีที่เปลี่ยน Dimension ใน Channels รีพอร์ทเป็น Source/Medium
ความหมายโดยย่อ : None เป็นค่าๆ หนึ่งใน dimension ที่ชื่อ Medium ซึ่งเป็นค่าที่ Google Analytics ใช้กำหนดให้กับ Direct Traffic ที่เข้ามาจากการเปิด Browser พิมพ์ URL เข้ามาตรงๆ เท่านั้น จากภาพตัวอย่าง Direct Traffic จะถูกกำหนดค่า Source/Medium ให้เป็น (direct) / (none) ซึ่งแปลความหมายว่าเป็น Traffic ที่ไม่ผ่านสื่อมาร์เก็ตติ้งอื่นๆ คือเป็นการ Direct เข้ามาตรงๆ ดังนั้น Medium หรือชนิด/ช่องทางของสื่อจีงไม่มีค่าเหมือนกับ Traffic ที่มาจาก Google Search หรือ Youtube.com ซึ่งจะมี medium เป็น Organic และ referral ตามลำดับ ดังนั้น Analytics จึงใช้คำว่า None แทนเท่านั้นเอง

ทั้งสามคำนี้ not provided, not set และ none นั้น สิ่งที่จะดูสร้างปัญหาให้กับคนทำงานส่วนใหญ่มักจะเป็น Not provided มากกว่า not set และ none ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ทำให้นักการตลาดไม่สามารถทราบถึง Keywords ที่บ่งบอกถึง Needs ของยูสเซอร์ได้เลย ทางออกที่ง่ายและไม่ต้องเสียเงินสำหรับคนที่อยากรู้ว่ายูสเซอร์ที่เข้าใช้งานเว็บไซต์ของเราผ่านการ Search นั้นค้นหาด้วยคำว่าอะไร แนะนำให้เซ็ตอัพและติดตั้ง Google Search Console ครับ อาจจะไม่ได้ Keywords ครบทั้งหมดด้วยข้อจำกัดบางอย่าง แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเลย จริงไหมครับ
Happy Analytics 🙂

Leave a Reply